LOADING

Type to search

“บริษัทเราทำอะไรมาบ้าง ลองเล่าให้ฟังหน่อย” ‘ประวัติองค์กร’ ยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งานหรือไม่?

“บริษัทเราทำอะไรมาบ้าง ลองเล่าให้ฟังหน่อย” ‘ประวัติองค์กร’ ยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งานหรือไม่?
Share

“รู้จักบริษัทเรามาก่อนหรือเปล่า?”

“ในความคิดของคุณ บริษัทเราเป็นอย่างไร?”

“สิ่งที่คุณประทับใจเกี่ยวกับบริษัทเรามีอะไรบ้าง?”

สารพันคำถามเกี่ยวกับ ‘ประวัติองค์กร’ ที่หลายคนต้องเคยเจอตอน ‘สัมภาษณ์งาน’ ก่อนเข้าสู่โลกการทำงานจริง ถือเป็นคำถามตามธรรมเนียมที่ HR หรือผู้สัมภาษณ์ต้องถามผู้สมัคร เพื่อวัดความใส่ใจและทัศนคติที่มีต่อองค์กร

แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กร กลายเป็นประเด็นถกเถียงในวงการ HR และคนทำงาน จนเกิดการแบ่งขั้วความเห็นบนโลกออนไลน์ที่ต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ คนที่มองว่าประวัติองค์กรยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน และคนที่ให้ความสำคัญกับความสามารถมากกว่าการรับรู้เรื่องราวในองค์กร

ความเห็นจากฝั่งที่มองว่า ‘ประวัติองค์กร’ ยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน

สิ่งที่องค์กรมองหาจากผู้สมัคร ไม่ได้มีเพียงโปรไฟล์เลิศหรู หรือความสามารถจากการฝึกวิทยายุทธ์จนเชี่ยวชาญ แต่ยังมีทัศนคติการทำงานและความเข้ากันได้กับองค์กร ทำให้คำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรถูกนำมาใช้ในการสัมภาษณ์งาน เพื่อตัดสินคุณสมบัติของผู้สมัครนอกจากโปรไฟล์บนเรซูเม่ (Resume) หรือผลงานในพอร์ตโฟลิโอ (Portfolio)

ดังนั้น หลายคนจึงมองว่า การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรยังจำเป็นกับการสัมภาษณ์งาน เพราะเป็นกุญแจดอกแรกที่ช่วยไขตัวตนของผู้สมัคร และ ‘วัดกึ๋น’ ผ่านความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญในการทำงาน ก่อนทำความรู้จักผู้สมัครด้วยคำถามอื่นๆ ที่เจาะลึกมากขึ้น

ความเห็นจากฝั่งที่ให้ความสำคัญกับความสามารถมากกว่า ‘ประวัติองค์กร’

หลายคนมองว่า ประวัติองค์กรเป็นสิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ต้องบอกให้ผู้สมัครรับรู้ในเบื้องต้นอยู่แล้ว ดังนั้น การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป อีกทั้งเวลาในการสัมภาษณ์งานแต่ละครั้งช่างแสนสั้น สู้เอาเวลาไปทำความรู้จักผู้สมัครในประเด็นอื่นๆ ดีกว่า โดยเฉพาะความสามารถในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

การที่คนทำงานตัดสินใจลาออกหลังจากเข้าทำงานได้ไม่นาน ส่งผลกระทบหลายอย่างต่อองค์กร ไม่ว่าจะสิ้นเปลืองเวลาในการสอนงาน โฟลว์การทำงานสะดุด เพราะเกิดการเปลี่ยนผ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือทำให้อัตราการลาออก (Turnover Rate) พุ่งสูง จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ขององค์กรและการเฟ้นหาทาเลนต์ในอนาคต

ถึงแม้การลาออกจะมีที่มาจากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นคือการที่คนทำงานรู้สึกว่า เนื้องานไม่เป็นอย่างที่คิด หรือวิธีการทำงานไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ อาจเกิดจากการสื่อสารผิดพลาดตั้งแต่แรก หรือการสัมภาษณ์งานไม่สามารถคัดคนที่เหมาะสมได้จริงๆ เพราะมัวแต่ถามคำถามที่ไม่จำเป็น จนไม่ได้คุยรายละเอียดของเนื้องานให้ผู้สมัครเห็นภาพมากขึ้น

ดังนั้น หลายบริษัทจึงออกแบบขั้นตอนการสัมภาษณ์งานแบบ ‘เน้นเนื้อ ไม่เอาน้ำ’ ถามแต่คำถามเกี่ยวกับการทำงาน เช่น เจอเหตุการณ์ในลักษณะนี้จะรับมืออย่างไร หรือถ้ายอดไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จะแก้ไขสถานการณ์อย่างไร รวมถึงให้ความสำคัญกับ ‘การทดสอบ’ ทางจิตวิทยาและวิชาชีพ เพื่อเฟ้นหาคนที่มีความสามารถและพร้อมทำงานเข้าสู่องค์กรจริงๆ

Job Interview
Image by yanalya on Freepik

ไม่มีผิดหรือถูก แต่ทั้งสองฝ่ายต้องหา ‘สมดุล’ ให้เจอ

การที่ทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างกันไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะแต่ละฝ่ายมีมุมมองเกี่ยวกับการสัมภาษณ์งานที่น่าสนใจทั้งคู่ ซึ่งการหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรที่จะสมัครงานล่วงหน้าก็เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้สมัครเอง เพราะช่วยในการตัดช้อยส์บริษัทที่ไม่ใช่ และเพิ่มโอกาสในการค้นพบบริษัทที่ตรงกับสไตล์ของตัวเอง

และในฐานะขององค์กร อาจจะให้คำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรเป็นเพียงคำถาม ‘ละลายพฤติกรรม’ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเกณฑ์การตัดสิน และถ้าผู้สมัครตอบไม่ตรงกับที่ผู้สัมภาษณ์คาดหวังไว้ อย่าเพิ่งตัดสินตัวตนหรือความสามารถของผู้สมัครด้วยคำถามเพียงคำถามเดียว แต่ควรตัดสินความเหมาะสมจากคุณสมบัติโดยรวม

3 เทคนิคตอบคำถาม ‘ประวัติองค์กร’ ให้มัดใจผู้สัมภาษณ์

หากพูดกันตามความเป็นจริง การถามคำถามเกี่ยวกับประวัติองค์กรคงเป็นสิ่งที่หายไปจากสังคมการทำงานและการสัมภาษณ์งานในไทยได้ยาก และเมื่อเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็พลิกเป็นโอกาสในการสร้างความประทับใจแทน

Future Trends จึงนำ 3 เทคนิคจากโจเอล ชวาร์สเบิร์ก (Joel Schwartzberg) ผู้คร่ำหวอดในวงการ HR มากว่า 16 ปี มาฝากทุกคนให้ลองนำไปปรับใช้ตามสไตล์ของตัวเอง

1. แสดงแพชชัน (passion) ต่อองค์กร

การแสดงแพชชันในการสัมภาษณ์งาน เป็นเหมือนการส่งสัญญาณให้ผู้สัมภาษณ์รับรู้ว่า ต้องการทำงานร่วมกับองค์กรจริงๆ ถือเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่ผู้สัมภาษณ์มองหาจากผู้สมัครทุกคน การตอบคำถามเกี่ยวกับองค์กรจึงเป็นโอกาสที่ดีในการแสดงแพชชัน เช่น “จากการหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท รู้สึกว่า วัฒนธรรมองค์กรเข้ากับลักษณะการทำงานของตัวเองมาก

2. เป็นโอกาสในการอธิบายประสบการณ์ของตัวเอง

การหาข้อมูลเกี่ยวกับองค์กร จะทำให้ผู้สมัครทราบว่า องค์กรมีธุรกิจหรือเคยทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง และสามารถใช้ประสบการณ์ของตัวเองเชื่อมโยงกับสิ่งเหล่านั้น เพื่อสร้างความประทับใจในการสัมภาษณ์ได้ เช่น “ใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทแล้วชอบมาก จนอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความนิยมมากขึ้น”

3. เป็นโอกาสในการชูจุดเด่นที่มีประโยชน์ต่อบริษัท

ความต้องการในการขยายธุรกิจ เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้บริษัทเปิดรับสมัครคนเพิ่ม เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งให้องค์กร และเติมเต็มทักษะที่ขาดหาย ซึ่งการหาข้อมูลล่วงหน้า จะช่วยให้ผู้สมัครพบทิศทางการบริหารงานขององค์กรในอนาคต และใช้เป็นข้อมูลในการชูจุดแข็งที่บริษัทต้องการ เพื่อสร้างการจดจำที่พิเศษกว่าผู้สมัครคนอื่น

การถกเถียงเกี่ยวกับคำถามประวัติองค์กรเป็นสิ่งที่ทำให้หลายฝ่ายต้องฉุกคิดว่า ขั้นตอนการสัมภาษณ์งานในยุคนี้ควรเป็นอย่างไร และต้องปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้สมัครหรือไม่ เพราะในปัจจุบัน ผู้สมัครก็มีสิทธิ์เลือกงาน ไม่แพ้กับที่องค์กรมีสิทธิ์เลือกผู้สมัครเช่นกัน

Sources: https://bit.ly/3EdywRv 

http://bit.ly/3I9s0fA

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like