LOADING

Type to search

อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลง กับ 4 Megatrends ให้คุณลงทุนได้ทันเทรนด์ และก้าวทันโลก : สรุปเทรนด์โลกจากงาน KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead

อนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลง กับ 4 Megatrends ให้คุณลงทุนได้ทันเทรนด์ และก้าวทันโลก : สรุปเทรนด์โลกจากงาน KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead
Share

อนาคตข้างหน้าทั้งของโลกและของประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นมาแล้วก็ตาม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ธุรกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น และเราเรียกการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ว่า “Megatrends”

คุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย (กลาง) พร้อมด้วยกูรูด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมด้วยพันธมิตรบลจ.ระดับโลก

ภายในงานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead ได้เผยเทรนด์อนาคตดังกล่าว พร้อมสรุปประเด็นสำคัญที่เราควรรู้เพื่อเตรียมรับมือสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

3 สงครามอนาคตแห่งการเปลี่ยนแปลง ใครคือผู้ชนะ?

    หนึ่งในเนื้อหาสำคัญจากดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

1. เศรษฐกิจดั้งเดิม vs. เศรษฐกิจใหม่

    ยุคสมัยได้เปลี่ยนผ่านตามกาลเวลาเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ชะลอกาภิวัฒน์” การค้าโลกไม่ได้เติบโตเร็วเท่าแต่ก่อน เริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการค้าแบบ Trade เป็นการค้าแบบ Tech ในบางภาคส่วนของธุรกิจ ก่อเกิดเป็นธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจใหม่ในวงจรเดียวกัน แล้วอะไรคือความแตกต่างของ 2 ธุรกิจนี้?

    ธุรกิจเดิมต้องการเครื่องจักรจำนวนมาก เมื่อของพังก็ต้องลงทุนใหม่เป็นวัฐจักร แต่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มต่างออกไป สินทรัพย์จับต้องไม่ได้ คนใช้ยิ่งเยอะมูลค่ายิ่งมาก ยกตัวอย่างเช่น E-Commerce, Amazon, Airbnb, facebook  ยิ่งคนขายเยอะ ของขายก็มาก คนซื้อก็มหาศาล วนเป็นวงจรแบบนี้ เกิดเป็นข้อมูลหรือ Data จำนวนมากที่นำไปต่อยอดบริการได้อีกมากมาย

    ปัจจุบัน Data หรือข้อมูลโตเร็วแบบก้าวกระโดดถึง 90% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปรียบได้กับน้ำมันดิบ ข้อมูลในตัวมันมีมากมายขึ้นอยู่กับว่าเรามีเครื่องมือในการแปลงข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ได้มากแค่ไหน  ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราก้าวข้ามการใช้ Data ก่อเกิดเป็นการทำ Credit Score ในประเทศจีนจากการซื้อขายต่าง ๆ ที่ทุกคนจะมีคะแนนของตัวเอง ว่ามีความน่าเชื่อถือขนาดไหน ซึ่งบริการต่าง ๆ สามารถตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้นของแต่ละคนได้ อาทิ จะให้กู้เงินเท่าไหร่ สินเชื่ออย่างไร เป็นต้น

สรุปใครชนะ? : ใครก็ตามที่สามารถจับมือรวบเศรษฐกิจทั้ง 2 แบบเข้าด้วยกันได้

ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ภาคเทคโนโลยีแห่งเอเชีย

2. จีน vs. อเมริกา

    นี่ไม่ใช่สงครามแย่งชิงความเป็นที่ 1 ด้านเทคโนโลยีหรือด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นสงครามแย่งชิงมหาอำนาจ…อเมริกาผู้เป็นยักษ์ใหญ่ กำลังค่อย ๆ ถดถอยลงมา ในขณะที่จีนกำลังจะกลายเป็นมังกรที่ผงาด แย่งชิงอำนาจกันในสามคลื่นโลกาภิวัตน์ คือ การค้า, การเงิน และเทคโนโลยี

    ข่าวร้ายคือสถานการณ์นี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกนาน แต่ข่าวดีคือในระยะยาวอาจไม่ได้มีแค่ผู้เข้าแข่งขันเพียง 2 ประเทศนี้ เพราะ ‘อาเซียน’ จะกลายเป็นคนที่ได้รับอานิสงส์อย่างคาดไม่ถึง จากสถิติพบว่าโรงงานทั้งหลายอยากย้ายมาเปิดในอาเซียนมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนบางอย่างก็เช่นกัน โดยเวียดนามจะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้มากที่สุด

    ด้านเทคโนโลยีอเมริกายังคงวิ่งนำจีนอยู่ เพราะยังมี Google และบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ครองพื้นที่อยู่ทั่วโลก แต่จีนก็ได้เปรียบอยู่ 2 เรื่อง คือ 5G ที่จีนได้ 15% ของสิทธิบัตรซึ่งอยู่ในมือหัวเว่ย และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในเศรษฐกิจของจีน Digital Economy ไปไกลมาก อย่างอีคอมเมิร์ซในจีนโตกว่าในอเมริกาอีก

สรุปใครชนะ? : คนที่สามารถมองเห็นโอกาสท่ามกลางความตึงเครียดนี้ได้

3. คน vs. หุ่นยนต์/เครื่องจักร

    Kai-Fu Lee ผู้เชี่ยวชาญชาวจีนด้าน AI บอกว่า “AI ไม่ได้มาเพื่อแทนที่มนุษย์ แต่มันมาเตือนเราว่าอะไรที่ทำให้คนแตกต่างจากเครื่องจักร” 

    เป็นอีกหนึ่งข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมาหลายปี และยังคงไม่มีข้อสรุปว่าในอนาคตระหว่างคนกับเครื่องจักร ใครจะรอด สุดท้ายกลับมาเป็นประเด็นที่ต้องขบคิดว่าอย่างนั้นยังมีทักษะอะไรไหมที่คนยังทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร?

ภาพประกอบงานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead

เมื่อแบ่งเป็นหมวดใหญ่ ๆ 2 ทักษะที่คนทำได้ดีกว่าหุ่นยนต์ คือ ความคิดสร้างสรรค์ ความเมตตา และ Service mind ถ้าเอาสองส่วนนี้มารวมกัน หุ่นยนต์ยังมาแทนที่อาชีพต่างๆ ของคนได้ยากมาก (ดูภาพจากกราฟ)

    ต่อจากนี้คือการใช้ชีวิตแบบที่มหาตมา คานธี กล่าวไว้ว่า “เราต้องใช้ชีวิตให้เหมือนพรุ่งนี้เป็นวันสุดท้าย แต่จงเรียนรู้ให้เหมือนกับเราจะมีชีวิตอยู่ตลอดไป” คือ ชีวิตเรายืนยาว แต่ความรู้สั้นลง อย่างในประเทศสิงคโปร์ที่ว่าการศึกษาดีติดอันดับโลก ยังต้องรื้อระบบการศึกษาใหม่ ยกเลิกระบบแบ่งห้องแบบหัวกะทิ หางกะทิ มันคือการเลิก ‘จับปลาปีนต้นไม้’ ความสามารถเด็กแต่ละคนต่างกัน หากเอาปลาไปปีนต้นไม้ก็จะรู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ไม่ฉลาด ไม่เกิดการพัฒนา 

    การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของระบบการศึกษา แต่ต้องเป็นทุกภาคส่วน รวมถึงตัวเราเองที่ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ อย่างที่ CEO Microsoft ที่สามารถพลิกบริษัทให้ยิ่งใหญ่อีกครั้งได้ โดยเล่าว่าเขาได้เปลี่ยนวิธีการเรียนรู้ในองค์กรจากวัฒนธรรมที่รู้ทุกอย่าง เป็นเรียนรู้จากทุกอย่าง

สรุปใครชนะ? : คนที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต

คุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด

4 Megatrends แห่งอนาคต

1. การขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization)

    จะไม่มีคำว่า ‘ประเทศ’ อีกต่อไป แต่จะกลายเป็นการเรียกเมืองต่าง ๆ ขึ้นมาแทน เช่น กรุงเทพ นิวยอร์ก แทนที่จะเรียกว่าประเทศไทย หรืออเมริกา เพราะการกระจุกตัวของความเจริญและกลุ่มคน รวมทั้งประเทศไทยเองที่กำลังเข้าสู่ ‘สังคมเมือง’ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้าเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน (Mega Cities) จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจากตอนนี้ ซึ่งการเพิ่มขึ้นตรงนี้จะก่อให้เกิดนวัตกรรม และ Infrastructor ใหม่ ๆ มากมาย

    อนาคตประชากรไทยกว่าร้อยละ 73 จะกลายเป็นคนเมือง และคาดว่าในปี 2025 ความเป็น ‘เมือง’ จากทั่วโลกจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

2. นวัตกรรมและเทคโนโลยี (Technological Innovation)

    มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จักรกลจะแทนที่แรงงานมนุษย์ 2 พันล้านตำแหน่งงานทั่วโลก และในทุก ๆ 10 นาทีหลังปี 2003 มีข้อมูลใหม่เกิดขึ้นในโลก 5 EB (1 EB = 1 พันล้าน GB) สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมไปเร็วมาก ชนิดที่ว่าพลาดไปเพียงนิดเดียวก็อาจจะตามคนอื่นเขาไม่ทัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่พึ่งเกิด แต่มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ ตั้งแต่อดีต

    ปัจจุบันมี AI ที่สามารถวินิจฉัยโรคบางอย่างได้แม่นยำ และรวดเร็วกว่ามนุษย์ มี Robo Advisor ในการแนะนำการลงทุน ดังนั้น ถ้าไม่มีการเตรียมทรัพยากรมนุษย์ให้พร้อมไว้แต่เนิ่น ๆ ก็อาจจะส่งผลกระทบกับทั้งภาคธุรกิจ และภาคสังคมได้

3. ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด (Resource Scarcity)

    จากความเชื่อที่ว่าทรัพยากรมีให้ใช้อยู่อย่างไม่จำกัดมันไม่จริงอีกต่อไปแล้ว องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่าปี 2030 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 8,500 ล้านคน และในปี 2050 อาจแตะ 9 พันล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งคนทั่วโลกที่ว่าจะมีความต้องการอาหารมากกว่าปัจจุบันนี้ถึง 70% จากข้อมูลของ national intelligence council บอกว่าในปี 2030 จะมีความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้น 50% , น้ำ 40% และอาหารอีก 40% ซึ่งหมายความว่าในอนาคตเมื่อความต้องการเพิ่มขึ้น ทรัพยากรกลับไม่ได้เพิ่มตามอีกต่อไป และสักวันแม้แต่อาหาร ก็ยังมีการคาดการณ์ว่าจะหมดไปจากโลกเลยด้วยซ้ำ

    คำถามและคำตอบต่อจากนี้คือการดำเนินการเพื่อเตรียมทรัพยากรเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรโลก และวิธีการที่จะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด

4. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและสังคม (Demographic & Social Change)

    จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง แต่จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่าในปี 2050 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น 2 เท่า หรือกว่า 3,400 ล้านคน ด้านประเทศไทยเองก็จะเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2031

    แน่นอนว่าถ้าประชากรวัยทำงานมีไม่เพียงพอในอนาคต ย่อมส่งผลกระทบกับ GDP ของประเทศโดยรวมด้วย ในหลาย ๆ ประเทศรวมถึงประเทศไทยเอง ปัจจุบันก็มีการแก้ไขปัญหาอย่างการเริ่มจ้างผู้สูงอายุวัยเกษียณเข้าทำงานเพื่อสร้างรายได้ให้กับพวกเขา

คุณธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย
คุณธิดาศิริ ศรีสมิต Chief Investment Officer บลจ.กสิกรไทย

8 เทรนด์การลงทุนในไทยผ่านมุมมอง Megatrends

    ในบรรดา 8 เทรนด์นี้มี 2 เรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบใหญ่ในประเทศไทยคือเรื่องของ Infrastructure Spending และ Digitalisation

1. Infrastructure Spending

    เชื่อว่าการลงทุนในช่วง 5-7 ปีต่อจากนี้จะช่วยในแง่สนับสนุนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เม็ดเงินที่จะลงทุนในด้าน Infrastructure จะไปโฟกัสที่โลจิสติกส์ และการคมนาคมเป็นส่วนใหญ่

2. Digitalisation

    ในแง่อีคอมเมิร์ซของไทยเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็นสามล้านล้านในปี 2561 ซึ่งเติบโต 18% ต่อปี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของไทย รวมไปถึง E-payment ด้วย โดยกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่งเป็นกลุ่มที่มีอัตราการเติบโตมากสุด รองลงมาเป็นที่พัก และการผลิตตามลำดับ

3. Urbanisation

    เมืองจะก้าวเข้าสู่ความเป็น Smart City ที่จะเกิดเป็นการลงทุนในด้านต่าง ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมืองให้ตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนที่อยู่ในเมือง การสร้างระบบขนส่งที่เอื้ออำนวย เป็นต้น

4. Sustainable Investment

    แนวคิดของการลงทุนที่ยั่งยืนได้รับความสนใจจากหน่วยงานกำกับดูแลและนักลงทุนในปีที่ผ่านมา โดยตลาดหลักทรัพย์แนะนำรายชื่อการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทยในปี 2558 และมี บริษัทจดทะเบียน 73 แห่งในปี 2561 มีสัดส่วนการลงทุน 59.8% ของมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และมีบริษัทจดทะเบียนในไทย 20 แห่งอยู่ในDJSI ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices)

5. Supply Chain Relocation

    เนื่องจากค่าแรงงานในประเทศจีนสูงขึ้น และการเกิด Trade War ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิต ซึ่งประเทศที่จะได้รับผลประโยชน์สูงในอาเซียนก็คือเวียดนาม รองลงมาคือประเทศไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์

6. Aging Society

    ภายในอาเซียน ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุมากที่สุด โดยคิดเป็น 17% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ลงทุนที่จะก้าวมาลงทุนในธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์ตรงนี้ โดยในปีนี้ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์มากสุดคือด้าน Healthcare

7. Innovation

    รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเป็น 1.5% ของ GDP ภายในปี 2021 เพราะตอนนี้ในไทยไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น มันจึงมีความจำเป็นที่ไทยจะต้องลงทุนด้านนี้เพิ่ม โดยด้านที่ลงทุนมากสุดได้แก่ motor vehicle, food & beverage, refined petroleum เป็นต้น

8. Green Energy

    บริษัทไทยมีการลงทุนด้านพลังงานสะอาดค่อนข้างเยอะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ถ้าพูดถึง EV Car แม้จะเริ่มมีหลายบริษัทลงทุนในด้านนี้ แต่ก็ยังเป็นเพียงการเริ่มต้น คาดว่าจะมียอดขายแค่ 1% เท่านั้นในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ยังต้องรอการพัฒนาอีกมาก

ภาพประกอบงานสัมมนา KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead

    และนี่คือสรุปบางส่วนของเนื้อหาที่สำคัญจากงาน KAsset Investment Forum : 2040 Get Ready for the World Ahead ที่อยากให้ทุกคนได้รู้เพื่อเตรียมตัว เตรียมใจก้าวสู่โลกอนาคตที่อยู่ใกล้มากกว่าที่เราคิด

    ดังที่บลจ.กสิกรไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของโลก นำไปสู่การจัดการ พัฒนากลยุทธ์เพื่อการลงทุนที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในโลกอนาคต

ถ้าเราสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาจับเป็นกลุ่มเทรนด์ เราก็จะเห็นโลกการลงทุนในอนาคตที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น – คุณวศิน วณิชย์วรนันต์ ประธานกรรมการบริหาร บลจ.กสิกรไทย –

Tags::