LOADING

Type to search

อยากเปลี่ยนงาน แต่กลัวโปรไฟล์ไม่เตะตา ลองใช้ ‘LinkedIn’ สร้างโปรไฟล์ปังๆ ให้พร้อมเปลี่ยนงานทันที

อยากเปลี่ยนงาน แต่กลัวโปรไฟล์ไม่เตะตา ลองใช้ ‘LinkedIn’ สร้างโปรไฟล์ปังๆ ให้พร้อมเปลี่ยนงานทันที
Share

การเปลี่ยนงาน’ ถือเป็นหนึ่งในวัฏจักรการทำงานของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องการความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงในชีวิต จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใครสักคนจะตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งเดิม เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ที่ดีกว่า

แต่บางครั้งการตัดสินใจเปลี่ยนงานกลับมีประเด็น 1 2 3 4 ให้คิดวนไปวนมาเต็มไปหมด โดยเฉพาะการสร้างโปรไฟล์ให้น่าสนใจ และเตะตา HR ของบริษัทใหม่ เพราะเป็นด่านสำคัญที่ชี้ชะตาว่า เราจะได้ร่วมงานกับบริษัทใหม่อย่างที่ตั้งใจหรือไม่?

แล้วการสร้างโปรไฟล์ให้โดดเด่นและสะดุดตา HR สามารถทำอย่างไรได้บ้าง?

Future Trends จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับเครื่องมือที่ช่วยสร้างโปรไฟล์ปังๆ จนทำให้คุณกลายเป็นพนักงานเนื้อหอมที่ใครๆ ก็ต้องการอย่าง ‘LinkedIn’ ให้มากขึ้นกัน

หลายคนน่าจะรู้จัก LinkedIn ในฐานะโซเชียลมีเดียด้านธุรกิจที่เต็มไปด้วยเรื่องราวความสำเร็จของผู้บริหารและองค์กรอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยลองใช้งาน เพราะรู้สึกว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ยาก และมีความทางการสูง ทำให้การสร้างคอนเนกชันกับคนในวงการกลายเป็น ‘ขุมทรัพย์’ ของ LinkedIn ที่น้อยคนจะเข้าถึง

เจน ไฮเฟตซ์ (Jane Heifetz) คอลัมนิสต์ของ Harvard Business Review บอกว่า พลังของ LinkedIn จะช่วยให้คุณพบงานที่ใช่ และสร้างเครือข่ายที่น่าสนใจได้ หากโปรไฟล์ของคุณมีความชัดเจนมากพอ โดยเจนแนะนำวิธีการสร้างโปรไฟล์บน LinkedIn ให้โดดเด่นผ่าน 4 องค์ประกอบ ดังนี้

1. พาดหัว (Headline)

พาดหัวเป็นส่วนสำคัญของหน้าโปรไฟล์บน LinkedIn เพราะนอกจากจะเป็นข้อความที่ทำให้ชื่อของคุณสะดุดตาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ HR ทราบว่า คุณคือใครและกำลังทำงานตำแหน่งอะไร ได้จากการสแกนหน้าโปรไฟล์อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น อย่าลืมที่จะตั้งพาดหัวให้สะดุดตา และเพิ่มกิมมิกที่แตกต่างจากคนอื่น เพื่อดึงความสนใจของ HR ให้คลิกเข้ามาชมหน้าโปรไฟล์ของคุณ

2. สรุป (Summary)

สรุปหรือข้อความที่ปรากฏในช่อง About เป็นส่วนที่ HR จะเริ่มสานสัมพันธ์กับคุณผ่านตัวอักษร และรู้จักคุณมากขึ้นจากประสบการณ์การทำงานฉบับย่อ ทำให้คุณต้องให้ความสำคัญกับการลำดับเนื้อหาที่ต้องการจะเล่าในรูปแบบความเรียงสั้นๆ โดยย่อหน้าแรกเป็นการพูดถึงภาพรวมว่า เคยทำงานด้านใดมาบ้าง และย่อหน้าถัดไปค่อยพูดถึงรายละเอียดแบบสรุป

3. ประสบการณ์ (Experience)

LinkedIn มีฟีเจอร์ Experience ที่ให้ผู้ใช้งานระบุประสบการณ์การทำงานของตัวเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังสามารถแนบรูปภาพและตัวอย่างผลงานให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมโปรไฟล์สามารถคลิกเข้าไปดูเพิ่มได้ ถือเป็นฟีเจอร์ที่ช่วยรวม Resume และ Portfolio ไว้ในที่เดียว

4. การใช้รูปภาพและสื่อประกอบ

นอกจากผู้ใช้งานจะต้องให้ความสำคัญกับรูปโปรไฟล์ที่เป็นหน้าเป็นตาของตัวเองแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับรูปและสื่อที่จะโพสต์ลงหน้าโปรไฟล์ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์และตัวตนที่มีผลต่อการคัดสรรบุคลากรของ HR

ถึงแม้การใช้งาน LinkedIn จะเป็นสิ่งที่หลายคนยังไม่คุ้นเคย แต่ถ้าได้ลองเปิดใจใช้แล้ว อาจจะพบกับโอกาสในการเปลี่ยนงานอย่างที่ไม่คาดฝันมาก่อนก็เป็นได้

Sources: http://bit.ly/3Wp4obU

http://bit.ly/3XowR2Z

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like