LOADING

Type to search

‘Clubhouse’ หายไปไหน?
Share

เมื่อช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา มีโซเชียลมีเดียอยู่แพลตฟอร์มหนึ่งที่เฉิดฉายและเติบโตท่ามกลางกระแสการใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์อย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า มาแรงแซงทางโค้งทุกแพลตฟอร์มที่เคยมีมา และแพลตฟอร์มที่เรากำลังพูดถึงอยู่ก็คือ ‘คลับเฮาส์’ (Clubhouse) นั่นเอง

ความร้อนแรงของคลับเฮาส์พิสูจน์ได้จากจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจาก 6 แสนคน เป็น 6 ล้านคน ในเวลาเพียง 3 เดือน ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอย่างรวดเร็ว จนหลายๆ คนคาดการณ์ว่า คลับเฮาส์คือ ‘สิ่งใหม่’ ที่จะเข้ามาปฏิวัติโลกโซเชียลแบบเดิมๆ

แต่การคาดการณ์ก็เป็นได้เพียงการคาดการณ์ เมื่อในปัจจุบัน บทบาทของคลับเฮาส์เริ่มจืดจางลง เพราะผู้คนหันไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่นมากขึ้น และเสพคอนเทนต์ประเภทอื่นแทน จนกลายเป็นว่า ความรุ่งเรืองของคลับเฮาส์มาถึงกาลอวสานก่อนถึงเวลาอันสมควร

ปัจจัยที่ทำให้ ‘คลับเฮาส์’ เริ่มจืดจางและค่อยๆ หายเข้าไปในกลีบเมฆคืออะไร? Future Trends จะชวนทุกคนมาวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน

ความสำเร็จของ ‘คลับเฮาส์’ ที่เริ่มจากการใช้ ‘เสียง’ เป็นจุดขาย

หากลองสำรวจแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทั่วไป จะพบว่ามีการแสดงคอนเทนต์อยู่ไม่กี่รูปแบบ เช่น ภาพ ข้อความ และวิดีโอ ซึ่งคนที่ไม่ชอบถ่ายภาพ หรือไม่ถนัดสื่อสารด้วยข้อความยาวๆ จะรู้สึกว่า แพลตฟอร์มที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเองมากพอ ทำให้ปัญหานี้ไปเตะตาคนกลุ่มหนึ่ง จนเกิดการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ใช้ ‘เสียง’ ในการขับเคลื่อนคอมมูนิตี้อย่าง ‘คลับเฮาส์’ ขึ้นมา

คลับเฮาส์เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดย Alpha Exploration และเริ่มให้บริการในปี 2020 ต้องยอมรับว่า คลับเฮาส์ในช่วงแรกเป็นเพียงแพลตฟอร์มที่ใช้กันในวงสังคมเล็กๆ แต่จุดพลิกผันที่ทำให้คลับเฮาส์โด่งดังเป็นพลุแตก คือการที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ก้าวเท้าเข้ามาเป็นผู้ใช้งานแพลตฟอร์มเล็กๆ แห่งนี้นั่นเอง

ด้วยความที่มัสก์เป็น ‘นิวส์เมกเกอร์’ (News Maker) หรือคนสร้างข่าวตัวฉกาจ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่เขาจะทำให้ชื่อของคลับเฮาส์ติดลมบนในชั่วข้ามคืน และที่สำคัญ เหล่าคนดังและอินฟลูเอนเซอร์ในแวดวงต่างๆ ยังตบเท้าเข้ามาใช้คลับเฮาส์เป็นช่องทางการสื่อสารมากขึ้นด้วย ทำให้คลับเฮาส์มีภาพลักษณ์เป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มีคนดังแวะเวียนกันมาแลกเปลี่ยนความเห็นอยู่เสมอ

Clubhouse

นอกจากนี้ กลยุทธ์เล่นกับ ‘ความพิเศษ’ และ ‘ภาวะกลัวตกข่าว’ (Fear of Missing Out หรือ FOMO) ของคลับเฮาส์ยังเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญที่ทำให้แพลตฟอร์มประสบความสำเร็จอย่างมาก เช่น จำกัดสิทธิ์การใช้งานแอปฯ เฉพาะผู้ใช้งานไอโอเอส (iOS) และผู้ใช้งานรายใหม่ต้องได้รับคำเชิญจากผู้ใช้งานเดิมเท่านั้น

ถึงแม้คลับเฮาส์จะออกมาชี้แจงวัตถุประสงค์ในการจำกัดจำนวนผู้ใช้งานในช่วงแรกว่า เซิร์ฟเวอร์ของบริษัทไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมากในคราวเดียวได้ จึงต้องพัฒนาระบบการส่งคำเชิญ (Invitation) ขึ้นมา แต่คลับเฮาส์ก็ได้ประโยชน์จากกลยุทธ์สร้างความพิเศษที่สอดคล้องกับแนวคิด ‘การตลาดส่วนบุคคล’ (Personalized Marketing) ไม่น้อยเลยทีเดียว

ปัจจัยที่ทำให้ ‘คลับเฮาส์’ เริ่มจืดจางและค่อยๆ หายไป

ความสำเร็จ (ในอดีต) ของคลับเฮาส์ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในวงการธุรกิจและเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก เพราะเป็นความสำเร็จที่ ‘มาไวไปไว’ เกินกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ Future Trends จะลองมาวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อความซบเซาของ ‘คลับเฮาส์’ กัน

1. การจำกัดจำนวนผู้ใช้งาน = คมดาบที่ทิ่มแทงตัวเอง

ถึงแม้การจำกัดจำนวนผู้ใช้งานจะสร้างข้อดีด้านการจัดการระบบ และได้อานิสงส์ด้านการตลาด แต่ก็เป็นสิ่งที่ทำให้กระแสความนิยมลดลงอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้งานที่เคยเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ โดยเฉพาะผู้ใช้งานแอนดรอยด์ (Android) บางส่วนไม่ขอรออีกต่อไป เพราะกว่าที่คลับเฮาส์จะเปิดระบบให้ใช้งานได้อย่างไม่มีข้อจำกัด กลับใช้เวลามากกว่าที่คิด และทิ้งห่างจากช่วงที่มีกระแสนานเกินไป

2. ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) ชิงเปิดตัว ‘สเปซ’ (Spaces)

‘สเปซ’ เป็นฟีเจอร์พูดคุยด้วยเสียงเพียงอย่างเดียวจาก ‘ทวิตเตอร์’ ที่มีรายละเอียดและองค์ประกอบต่างๆ คล้ายคลึงกับคลับเฮาส์มาก และการมาของสเปซสามารถดิสรัปต์การเติบโตของคลับเฮาส์ได้เป็นอย่างดี เพราะการเข้าใช้งานสเปซไม่มีข้อจำกัดแต่อย่างใด ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทุกคนสามารถใช้งานฟีเจอร์นี้ได้ ทำให้คนที่อดใจรอคลับเฮาส์ไม่ไหวตัดสินใจมาลองใช้สเปซก่อน

3. คอนเทนต์ ‘เสียง’ ยังไม่ได้รับความนิยมในวงกว้าง

จินซอบ ลี (Jinsop Lee) ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบจากเกาหลีใต้เคยพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างศาสตร์การออกแบบและประสาทสัมผัสทั้งห้าบนเวที TED Talks ไว้อย่างน่าสนใจว่า ผู้คนจะรู้สึกถึงประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานสิ่งต่างๆ ก็ต่อเมื่อการออกแบบสามารถสร้างการรับรู้ต่อประสาทสัมผัสทั้งห้าได้พร้อมกัน

ดังนั้น หากมองในมุมของการเสพคอนเทนต์ เท่ากับว่า คอนเทนต์เสียงสามารถกระตุ้นได้แค่ประสาทสัมผัสด้านการฟังเท่านั้น แต่คอนเทนต์วีดิโอสามารถกระตุ้นประสาทสัมผัสด้านการมองเห็นและการฟังได้พร้อมกัน ทำให้การเสพคอนเทนต์วีดิโอสามารถสร้างอรรถรสในการรับรู้ได้มากกว่าการเสพคอนเทนต์เสียง

นี่เป็นเพียงปัจจัยบางส่วนที่มีผลต่อการเติบโตของคลับเฮาส์ในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้ว ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่แฝงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์การใช้งานที่เปลี่ยนไป หรือแม้แต่แพลตฟอร์มเกิดใหม่ก็ตาม และทั้งหมดก็คือความท้าทายของนักพัฒนาทุกคนที่ต้องต่อสู้ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือดในสนาม ‘โซเชียลมีเดีย’ นั่นเอง

Sources: https://bit.ly/3VJbiZD

https://bit.ly/3Bro1J5

https://bit.ly/3VK0D0R

https://bit.ly/3UkE6qo

https://bit.ly/3UmQCWl

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like