LOADING

Type to search

ยุคใหม่ของ ‘Twitter’ กำลังมาถึง จะไฉไลกว่าเดิมหรือถึงคราวสู่ขิตในวันที่ดี?

ยุคใหม่ของ ‘Twitter’ กำลังมาถึง จะไฉไลกว่าเดิมหรือถึงคราวสู่ขิตในวันที่ดี?
Share

หลังจากที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ปิดดีลเข้าซื้อกิจการของ ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) ได้สำเร็จเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับทวิตเตอร์มากมาย เรียกได้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ และมีข่าวให้พูดถึงไม่เว้นแต่ละวัน เช่น

ปลดผู้บริหารฯ ชุดก่อนหน้าแบบยกแผงตั้งแต่วันแรกที่เป็นเจ้าของบริษัท

ปลดพนักงานราว 3,700 คน คิดเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท พร้อมส่งอีเมลกระตุ้นให้พนักงานที่ยังอยู่ต้องทำงานหนักกว่าเดิม

ออกนโยบายเรียกเก็บค่าใช้บริการ ‘ทวิตเตอร์ บลู’ (Twitter Blue) จาก 4.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน เป็น 8 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน

ปลดแบนบัญชีผู้ใช้งานของ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนแนวคิด ‘ฟรีสปีช’ (Free Speech) ที่มัสก์เชื่อมั่นอย่างมาก

และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลาไม่ถึง 1 เดือน แต่นอกจากข่าวประเด็นใหญ่ๆ ที่ได้ยกตัวอย่างไป ยังมีข่าวเป็นประเด็นเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย สมกับฉายา ‘นิวส์เมกเกอร์’ (News Maker) หรือ ‘คนสร้างข่าว’ ของมัสก์ที่ไม่ว่าเขาจะคิดหรือทำอะไร สิ่งเหล่านี้สามารถปรากฏบนพื้นที่สื่อได้ทั้งสิ้น

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทวิตเตอร์ในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นสัญญาณของ ‘The New Era of Twitter’ หรือการเปลี่ยนผ่านสู่ทวิตเตอร์ยุคใหม่ที่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง

Future Trends จะชวนทุกคนมาพูดคุยเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์ยุคใหม่ว่าจะ ‘รุ่งขึ้น’ หรือ ‘ร่วงลง’ กันแน่?

หากย้อนกลับไปในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตั้งแต่มีข่าวการเข้าซื้อกิจการช่วงแรกๆ ความเห็นของผู้คนเริ่มแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง โดยฝั่งแรกเป็นฝั่งของคนที่เห็นด้วยและเชื่อว่า มัสก์จะทำให้ทวิตเตอร์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นจริงๆ ส่วนอีกฝั่งคือกลุ่มคนที่เชื่อว่า ผู้ใช้งานจะลำบากขึ้น เพราะมัสก์เป็นนักธุรกิจที่มีสไตล์การบริหารงานคาดเดาได้ยาก

แต่กว่าที่ดีลเข้าซื้อกิจการจะจบลง กลับใช้เวลายาวนานกว่า 6 เดือน เพราะมัสก์ตัดสินใจล้มดีลด้วยเหตุผลบางประการ ทำให้มัสก์และผู้บริหารฯ ของทวิตเตอร์ต้องผลัดกันขึ้นศาลเพื่อเจรจาดีลนี้ให้จบ จนในที่สุด ทวิตเตอร์ก็มาอยู่ในมือของมัสก์ด้วยมูลค่าการซื้อขายที่ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.6 ล้านล้านบาท

หลังจากที่ดีลเข้าซื้อกิจการอยู่ในสภาวะสุญญากาศมานาน ทิศทางในอนาคตของทวิตเตอร์ที่แตกเป็น 2 ทาง เริ่มกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่ใช่แค่การคาดการณ์กันแบบลอยๆ เพราะทิศทางในอนาคตของทวิตเตอร์สะท้อนผ่านสถานการณ์ในปัจจุบันชัดขึ้นทุกที

Twitter

ทิศทางที่ 1 : ‘ทวิตเตอร์’ ยุคใหม่ ‘ไฉไล’ กว่าเดิม

ด้วยวิสัยทัศน์และสไตล์การบริหารงานที่แตกต่างของมัสก์ ทำให้ทวิตเตอร์ที่เคยรู้จักไม่ใช่ทวิตเตอร์แบบเดิมอีกต่อไป อาจจะเป็นแอปฯ ที่มีฟังก์ชันมากขึ้น เป็นมากกว่าโซเชียลมีเดียที่เน้นใช้งานด้านการสื่อสาร ประกอบกับในช่วงที่มัสก์เดินสายพบนักลงทุน ชื่อของ ‘เอกซ์’ (X) โปรเจกต์ปริศนาก็ได้ถือกำเนิดขึ้น

จนกระทั่งช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปริศนาเกี่ยวกับเอกซ์เริ่มคลี่คลาย และพบว่า เป็นโปรเจกต์เกี่ยวกับการสร้าง ‘ซูเปอร์แอป’ (Super App) หรือแอปฯ ที่รวมบริการทุกอย่างไว้ในที่เดียว เช่น ไลน์ (LINE) ที่มีบริการไลน์ ทูเดย์ (LINE TODAY) ไลน์ เพย์ (LINE PAY) และอื่นๆ นอกเหนือจากบริการแชต

การพัฒนาทวิตเตอร์เป็นซูเปอร์แอปย่อมมีประโยชน์ในอนาคต ด้วยความที่วิถีชีวิตของผู้คนเร่งรีบขึ้นทุกวัน การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิดความสะดวกสบายจึงเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับหลายๆ คน

ถึงแม้ตอนนี้ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีจะเกิดการชะลอตัว และผู้คนใช้ชีวิตแบบออนไลน์น้อยลง แต่เมื่อผ่านพ้นช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตไป อุตสาหกรรมเทคฯ จะมีโอกาสกลับมาเติบโต ส่วน ‘เอกซ์’ ก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จเช่นกัน ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่รูปแบบหนึ่งคล้ายๆ กับการที่ทวิตเตอร์เขียนข้อความได้ 280 ตัวอักษร จากเดิมที่เขียนได้เพียง 140 ตัวอักษรเท่านั้น

ทิศทางที่ 2 : ‘ทวิตเตอร์’ ถึงคราวสู่ขิตในวันที่ดี

การที่มัสก์พยายามปรับนโยบาย ปลดแบนบัญชีผู้ใช้งาน และผลักดันฟรีสปีชบนทวิตเตอร์ ถือเป็น ‘ดาบสองคม’ ที่อาจจะเข้ามาทำร้ายทวิตเตอร์ในอนาคต

จริงๆ แล้วการผลักดันฟรีสปีชไม่ใช่เรื่องผิด แต่ประเด็นที่หลายคนสงสัยคือขอบเขตของฟรีสปีชที่มัสก์ตั้งไว้อยู่ตรงไหนกันแน่ เพราะมาตรฐานการสร้างฟรีสปีชของเขาถูกตั้งคำถามอยู่เสมอ ถ้ามัสก์เปิดกว้างให้ใครพิมพ์อะไรก็ได้ เนื้อหาบนทวิตเตอร์จะเต็มไปด้วยเรื่องราวอ่อนไหว และทำให้ทวิตเตอร์ไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของใครหลายคนอีกต่อไป

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับฟรีสปีช ยังมีประเด็นของการวางแผนที่จะเก็บค่าใช้บริการเพิ่มเติมอีกด้วย ต้องยอมรับว่า ก่อนที่ทวิตเตอร์จะมีเจ้าของชื่ออีลอน มัสก์ ก็ประสบปัญหาขาดทุนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอมัสก์เข้ามาบริหารงานเต็มตัว การสร้างรายได้จึงกลายเป็นเป้าหมายหลักของบริษัททันที

แต่การเรียกเก็บค่าใช้บริการไม่ต่างกับการผลักภาระให้ผู้ใช้งานเลยสักนิด ทำให้ชื่อของแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น มาสโตดอน (Mastodon) ทัมเบลอร์ (Tumblr) เรดดิต (Reddit) เป็นที่พูดถึงมากขึ้น และที่สำคัญ แจ็ก ดอร์ซีย์ (Jack Dordey) อดีตผู้บริหารฯ ของทวิตเตอร์ ได้เปิดทดสอบ ‘บลูสกาย’ (Bluesky) โซเชียลมีเดียใหม่ที่เขากำลังพัฒนา

ลักษณะโมเดลธุรกิจของทวิตเตอร์ในตอนนี้ ชวนให้นึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Brand Switching’ หรือการที่ลูกค้าเปลี่ยนใจไปซื้อสินค้าของแบรนด์อื่นที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกัน นี่จึงเป็นประเด็นที่น่าคิดต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์จะทำให้เกิด Brand Switching หรือการอพยพออกจากรังเดิมของเหล่านกน้อยสีฟ้าอย่างถาวรหรือเปล่า

แล้วทุกคนคิดว่า ความเปลี่ยนแปลงของทวิตเตอร์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปในทางที่ ‘รุ่ง’ หรือ ‘ร่วง’ กันแน่?

Sources: http://bit.ly/3hOZNkK

http://bit.ly/3Oo0pKs

http://bit.ly/3V1bZxO

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like