LOADING

Type to search

‘Apple’ ลงสนาม ‘เมตาเวิร์ส’ เริ่มต้นปีชี้อนาคตโลกเสมือน

‘Apple’ ลงสนาม ‘เมตาเวิร์ส’ เริ่มต้นปีชี้อนาคตโลกเสมือน
Share

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความต้อนรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

ปี 2023 ถือเป็นการเริ่มต้นปีหัวเลี้ยวหัวต่อของอนาคตเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ‘เมตาเวิร์ส’ เนื่องจากปีนี้จะมีผู้เล่นรายใหญ่อย่าง ‘Apple’ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเบอร์หนึ่งของโลก กระโจนลงมาร่วมสนามแข่งขัน หลังจากปล่อยให้ ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ พา Meta ออกสตาร์ทไปก่อนหน้านานนับปี

แม้ ‘ทิม คุก’ ซีอีโอของ Apple ยังไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดของแผนลงสนามในโลกเสมือน ซึ่งเขาระบุชัดเจนว่า จะไม่เรียกว่า ‘เมตาเวิร์ส’ แต่ก็บอกใบ้ให้คนคาดเดาว่า เขาตื่นเต้นกับการใช้ AR (augmented – reality หรือการผสานโลกจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน) มาทำให้ ‘เดต้า’ บนโลกดิจิทัลมีประโยชน์ในโลกความเป็นจริง

“พวกคุณจะสงสัยว่า คุณจะใช้ชีวิตอย่างไรถ้าไม่มี AR เหมือนวันนี้ที่คุณสงสัยว่า คนรุ่นผมโตมาอย่างไรโดยไม่มีอินเทอร์เน็ต?” ทิม คุก บอกกับนักศึกษาในเมืองเนเปิลส์ เมื่อเดือนกันยายน 2022

เขาบอกด้วยว่า เทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างให้ดีเลิศได้ภายในข้ามคืน แว่นสวมหัว (headset) แบบไร้สายยังคงใหญ่เทอะทะ และใช้ได้แค่ในอาคาร นั่นหมายความว่า แว่น AR และ VR (virtual – reality หรือโลกเสมือนจริงที่ภาพทั้งหมดสร้างจากคอมพิวเตอร์) รุ่นแรกของ Apple น่าจะไม่ต่างจากเจ้าอื่นที่มีขายมาก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เอาไว้ใช้เล่นเกม

แคโรลินา มิลาเนซี นักวิเคราะห์จากบริษัท Creative Strategies บอกกับ ‘นิวยอร์กไทมส์’ ว่า สัญญาณจาก ‘ทิม คุก’ ทำให้ตีความได้ว่า เรายังคงต้องคุยกันอีกมากเกี่ยวกับเมตาเวิร์ส และแว่น AR/VR ในปี 2023 แต่ความเป็นไปได้มากที่สุดก็คือ มันยังไม่ใช่ปีที่อุปกรณ์เข้าสู่โลกเสมือนอย่างแว่นสวมหัวจะได้รับความนิยมในวงกว้าง

Meta ปล่อยแว่น VR ราคาถูกลง

นิตยสาร ‘ดิ อิโคโนมิสต์’ พูดถึงการกระโจนลงสนามเทคโนโลยีโลกเสมือนครั้งแรกของ Apple ในปี 2023 ว่า จะเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจชี้ชะตาอนาคตของเมตาเวิร์ส ว่าจะรุ่งหรือร่วง?

เหตุผลคือ นวัตกรรมแว่น AR/VR ชิ้นแรกของ Apple จะออกมาหน้าตาอย่างไร ช่วยกระตุ้นให้ตลาดคึกคักมากขึ้นแค่ไหน นักวิเคราะห์ผู้หนึ่งคาดเดาว่า แว่น AR/VR ชิ้นแรกของ Apple น่าจะมีราคาสูงถึง 3,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 105,000 บาท)

หาก Apple ตั้งราคาตามที่ว่าจริง นั่นเท่ากับว่า แว่น AR/VR ตัวแรกภายใต้การนำของ ‘ทิม คุก’ จะมีราคาแพงกว่า Quest Pro ซึ่งเป็นแว่นรุ่นพรีเมียมตัวใหม่ล่าสุดของ Meta ซึ่งเพิ่งเปิดตัวมาในเดือนตุลาคม 2022 ถึงหนึ่งเท่าตัว

การตั้งราคาแพงลิบเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ยิ่งเป็นการสร้างกำแพงกีดกันผู้เล่นหน้าใหม่ไม่ให้เข้าไปสู่โลกเมตาเวิร์สหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ‘ดิ อิโคโนมิสต์’ คาดการณ์ว่า ปี 2023 ซักเคอร์เบิร์ก และ Meta น่าจะออกแว่น VR รุ่นใหม่ที่ราคาถูกลง และอยู่ในกระแสมากขึ้น

ขณะที่ Sony ซึ่งเคยเปิดตัวแว่น VR สำหรับเล่นเกม PlayStation มาแล้วในปี 2016 และขายได้กว่า 5 ล้านเครื่อง ก็มีกำหนดเปิดตัวแว่น VR รุ่นใหม่ที่ไฮเทคขึ้นในปี 2023 ด้วย

วงการเกมไปไกลก่อนใครเพื่อน

นอกจากผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นในตลาดแว่น AR/VR แล้ว การสร้างโลก ‘เมตาเวิร์ส’ ให้น่าเข้าไปสำรวจและใช้ชีวิต ก็มีผู้เล่นหลายรายต้องการเข้าไปแข่งขันด้วยเช่นกัน

บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่จะมาเป็นคู่แข่งของ Meta ในปี 2023 มีชื่อของทั้ง Microsoft และ Nvidia สองบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อดังรวมอยู่ด้วย ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ตั้งแต่วงการโฆษณา ไปจนถึงธนาคารก็ต้องการร่วมเทรนด์เมตาเวิร์สนี้

อย่างไรก็ตาม วงการที่นำเทรนด์ไปไกลก่อนใครเพื่อนคือ ธุรกิจวิดีโอเกมส์ ซึ่งพยายามขายไอเดียโลกเสมือนมานานหลายสิบปีแล้ว 

Epic Games เคยจัดคอนเสิร์ตถ่ายทอดสดบนโลกเสมือน และโฆษณาหนังเข้าใหม่บนเกมต่อสู้ออนไลน์ยอดนิยมของตัวเองอย่าง Fortnite โดยบางงานสามารถดึงดูดผู้ชมได้หลักหลายหมื่นคน

Unity ผู้ผลิตโปรแกรมสร้างวิดีโอเกมให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ก็เคยทดลองจัดทั้งคอนเสิร์ต และถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาแบบ 3 มิติ บนแพลตฟอร์มของตัวเองเช่นกัน

Apple ป่วนวงการเมตาเวิร์ส?

แม้ในเชิงธุรกิจ บริษัทต่างๆ พยายามแข่งขันกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง แต่ปัจจุบัน บรรยากาศการแข่งขันบนโลกเมตาเวิร์ส ยังคงดำเนินไปแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ยกตัวอย่างในเดือนตุลาคม 2022 Microsoft เพิ่งประกาศจะทำระบบปฏิบัติการณ์ Windows ตลอดจนแอปทางธุรกิจ และเกมสำหรับเล่นบนเครื่อง Xbox ให้สามารถใช้งานได้ในโลกเสมือนของ Meta

นอกจากนี้ บริษัทใหญ่เกือบทุกบริษัทในซิลิคอน แวลลีย์ ยังเข้าร่วมเป็นภาคี Metaverse Standards Forum (MSF) ซึ่งกำหนดให้สมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานทางเทคนิคเพื่อความเปิดกว้างและทำงานข้ามแพลตฟอร์มได้ 

ทั้งนี้ เพื่อให้ ‘อวตาร’ (Avatar) ของผู้ใช้งานที่ออกแบบในโลกเสมือนของบริษัทหนึ่ง สามารถนำไปใช้ข้ามแพลตฟอร์มของบริษัทอื่นได้ด้วย

‘ดิ อิโคโนมิสต์’ ระบุว่า ความร่วมมือใน MSF อาจเป็นตัวชี้วัดอนาคตของเมตาเวิร์สในปี 2023 ว่า จะก้าวไปข้างหน้าหรือถอยหลังลงคลอง เนื่องจาก Apple ที่จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ ค่อนข้างชัดเจนมาตลอดว่า ไม่ต้องการแชร์แพลตฟอร์มกับใคร

ดังนั้น ปี 2023 จึงต้องจับตาว่า การมาของ Apple จะสั่นคลอนความสามัคคีใน MSF หรือไม่ และหากธุรกิจเมตาเวิร์สเริ่มทำเงินได้มากขึ้นจริง จิตวิญญาณความร่วมมือในหมู่ MSF จะเปลี่ยนไป และกระทบต่ออนาคตของเทคโนโลยีโลกเสมือนมากแค่ไหน

นั่นคือคำถามที่ยังไม่มีใครกล้าฟันธง

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Sources: https://bit.ly/3i3sIlL

https://bit.ly/3Ch704t

Tags::