LOADING

Type to search

3 เทรนด์น่าจับตาที่บอกว่า ‘AI’ กับ ‘มนุษย์’ จะเชื่อมโยงกันมากกว่าเดิม

3 เทรนด์น่าจับตาที่บอกว่า ‘AI’ กับ ‘มนุษย์’ จะเชื่อมโยงกันมากกว่าเดิม
Share

‘Future Trends: Forward’ ซีรีส์บทความรับปีใหม่ มองไปข้างหน้าในปี 2023 ทั้งทางธุรกิจ เทคโนโลยี การทำงาน และเหตุการณ์รอบโลก เพื่อคาดการณ์เทรนด์สำคัญที่รออยู่ในอนาคต

หลังจากความเก่งกาจของ ‘AI’ ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกจนกลายเป็น ‘ดาวเด่น’ ของวงการเทคโนโลยีในปี 2022 หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ขีดความสามารถของ AI จะพัฒนาต่อไปอย่างไร และความเคลื่อนไหวที่น่าจับตาในปี 2023 จะมีอะไรบ้าง?

กูรูด้านเทคโนโลยีต่างออกมาวิเคราะห์เกี่ยวกับอนาคตของ AI ด้วยความเห็นที่หลากหลาย แต่ความเห็นส่วนใหญ่กลับชี้ตรงกันว่า ‘AI’ กับ ‘มนุษย์’ จะเชื่อมโยงกันมากขึ้น และอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน โดยที่ AI สามารถสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ส่วนมนุษย์จะใช้ความสามารถของ AI เพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

Future Trends จะพาไปสำรวจ 3 เทรนด์น่าสนใจเกี่ยวกับ AI ที่ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2023 AI กับมนุษย์จะเชื่อมโยงกันในมิติต่างๆ นอกเหนือจากความสัมพันธ์ในฐานะ ‘ระบบ’ และ ‘ผู้ใช้งาน’ เท่านั้น

Image by rawpixel.com on Freepik

มนุษย์จะสื่อสารกับ ‘คอมพิวเตอร์’ แบบไร้ขีดจำกัด

‘ภาษา’ เป็นหัวใจสำคัญของการสื่อสารทุกรูปแบบ แม้แต่การสื่อสารกับคอมพิวเตอร์ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘Coding’ ก็เป็นเช่นนั้น ซึ่งการเขียนโค้ดต้องอาศัยความเข้าใจภาษา Coding ที่มีความเฉพาะทางสูงอย่าง C Python Java และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้คนที่เรียนรู้ภาษาเหล่านี้อย่างแตกฉานมีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน

แต่การนำ AI มาประยุกต์ใช้กับการเขียนโค้ด ทำให้ข้อจำกัดเกี่ยวกับความซับซ้อนของภาษาถูกทำลาย และกลายเป็นเรื่องง่ายที่ทำเสร็จได้ในพริบตา

Codex เป็น AI เขียนโค้ดจาก OpenAI ผู้พัฒนา Chat GPT แชตบอตอัจฉริยะที่เป็นกระแสเมื่อปลายปี 2022 ความพิเศษของ Codex คือการสร้างภาษา Coding ผ่านข้อความสั้นๆ จากภาษาที่ใช้กันอยู่ตามปกติ ตัวอย่างเช่น เมื่อกรอกข้อความว่า ‘Make a red ball bounce’ (ทำให้ลูกบอลสีแดงกระเด้ง) ระบบจะแสดงผลเป็นภาษา Coding ที่นำไปรันบนคอมพิวเตอร์แล้วให้ผลลัพธ์เป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีลูกบอลสีแดงกระเด้งไปมาจริงๆ

เควิน สก็อต (Kevin Scott) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Microsoft คาดการณ์ว่า AI เขียนโค้ดจะ ‘ทรงพลัง’ มากขึ้น และกลายเป็น ‘พาร์ตเนอร์’ คู่ใจที่ช่วยประหยัดเวลาการทำงานของนักพัฒนาได้อย่างดี รวมถึงเป็น ‘ผู้ช่วย’ สำคัญที่ทำให้การทำงานของภาคธุกิจอื่นมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เช่น สร้างสรรค์เนื้อหาบนโลกออนไลน์ วิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลของยาชนิดใหม่ พัฒนาคุณภาพการพิมพ์ 3 มิติ เป็นต้น

‘AI’ เรียนรู้การมีหัวใจแบบ ‘มนุษย์’

ความเป็นธรรมชาติและการแสดงความรู้สึกของ AI เป็นโจทย์สุดหินสำหรับนักพัฒนามาตลอด เพราะ AI ต้องเรียนรู้วิธีคิดของมนุษย์ผ่านข้อมูลจำนวนมหาศาล ทำให้การสร้าง AI ที่เต็มไปด้วยความรู้สึกนึกคิดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในปัจจุบัน AI สามารถสร้างบทสนทนาที่คล้ายมนุษย์มากขึ้น และสื่อสารได้อย่างลื่นไหลต่างจากในอดีต

ถึงแม้ AI จะยังไม่สามารถถอดแบบวิธีคิดของมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มากพอที่จะต่อยอดเป็น ‘Emotional AI’ เทคโนโลยีวิเคราะห์ความรู้สึกจากการแสดงสีหน้าและน้ำเสียง โดยในปี 2023 จะมีการใช้งาน Emotional AI อย่างแพร่หลาย เช่น โรงเรียนในฮ่องกงเริ่มนำ AI มาตรวจวัดการเคลื่อนไหวบนใบหน้าของนักเรียน เพื่อวิเคราะห์ความรู้สึกและสมาธิในการเรียน เป็นต้น

แน่นอนว่า นักพัฒนาบางส่วนยังคงตั้งคำถามเกี่ยวกับความแม่นยำในการวิเคราะห์ของ AI เพราะความรู้สึกไม่ได้เป็นสิ่งที่อิงกับการแสดงออกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเฉพาะบุคคลที่ AI ไม่สามารถล่วงรู้ได้ ทำให้การประมวลผลของ AI มีโอกาสคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

นอกจากนี้ แกรี มาร์คัส (Gary Marcus) ผู้ก่อตั้ง Robust.AI ยังแสดงความกังวลว่า ความสามารถในการประมวลผลด้านความรู้สึกของ AI ที่ยังไม่แม่นยำ อาจกลายเป็นคำแนะนำแสนอันตรายต่อมนุษย์ที่ใช้งานอย่างเพลิดเพลินจนขาดวิจารณญาณ ซึ่งประเด็นด้านจริยธรรมควรเป็นสิ่งที่นักพัฒนาต้องใส่ใจมากกว่าการพัฒนาความสามารถของ AI ด้วยซ้ำ

‘Writing Prompts’ ทักษะที่ต้องการเพื่อทำงานกับ ‘AI’

รายงานจาก McKinsey ระบุว่า หลายบริษัทนำ AI มาใช้ในการบริหารงานมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2020 ซึ่งในอนาคต สัดส่วนการใช้ AI ในภาคธุรกิจต้องเพิ่มจากนี้แน่นอน ทำให้บริษัทจำเป็นต้องจ้างคนมาทำงานร่วมกับ AI เพื่อสร้างผลงานที่ดีที่สุด และทักษะที่น่าจับตามากๆ คือ ‘Writing Prompts’

Prompts คือ ‘ข้อความสั่งการ’ เปรียบเสมือนคีย์เวิร์ดสำคัญที่ใช้สื่อสารกับ AI เพื่อให้การประมวลผลของ AI เป็นอย่างที่ต้องการ คล้ายกับการบรีฟงานที่ยิ่งมีรายละเอียดชัดเจนมากเท่าไร ผลงานก็จะยิ่งสมบูรณ์มากเท่านั้น

ดังนั้น คนที่จะเข้ามารับผิดชอบด้านการเขียน Prompts ในบริษัทจะต้องเป็นคนที่มีองค์ความรู้ในสายงานเป็นทุนเดิม และสามารถสื่อสารกับ AI ได้ตรงประเด็นด้วยโครงสร้างภาษาที่พิเศษกว่าการสื่อสารกับคนด้วยกัน

3 เทรนด์น่าจับตาเกี่ยวกับ AI ที่เรานำมาฝากในบทความนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นอกจาก AI จะมีบทบาทสำคัญในภาคธุรกิจมากขึ้นแล้ว AI กับมนุษย์จะต้องอยู่ร่วมกันไปอีกนานแสนนาน ทำให้มนุษย์ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สิ่งที่จะช่วยให้เราก้าวทันความสามารถของ AI คืออะไร?

Sources: https://bit.ly/3vOEkfw

https://bit.ly/3XcPtmb

หนังสือ The WIRED World In 2023

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like