LOADING

Type to search

ไมโครซอฟท์เผย ‘Work Trend Index’ ปรับตัวยังไงดีเมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนไป

ไมโครซอฟท์เผย ‘Work Trend Index’ ปรับตัวยังไงดีเมื่อโลกการทำงานเปลี่ยนไป
Share

จากที่ต้องตื่นเช้าที่บ้าน แล้วเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศ ปัจจุบันแปรเปลี่ยนเป็นบรรยากาศใหม่ ๆ ที่มนุษย์ทำงานไม่จำเป็นต้องไปทำงานแต่เฉพาะที่ออฟฟิศอีกต่อไป เราจะสามารถทำงานที่บ้าน หรือได้มีโอกาสย้ายตัวเองไปทำงานตามสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ช่วยให้ทำงานได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น

วิถีปัจจุบันกับช่วงวิกฤตโควิด-19 การทำงานแบบ Work From Home หรือ Remote Working ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นเรื่องใหม่ ในตอนนี้กลับกลายเป็นเทรนด์ฮิตที่กำลังได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ และมันกำลังจะนำไปสู่โลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป…ทีนี้เมื่อเทรนด์นี้กำลังมา คำถามคือ แล้วเราจะปรับตัวกันยังไงให้เข้ากับการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศกันดีนะ? หรือต้องปรับตัวเพิ่มอีกอย่างไร เพราะเราเองก็ทำงานจากที่บ้านกันมาพักใหญ่แล้ว

ทางไมโครซอฟท์ได้มีงานวิจัยที่รวบรวมความเห็นจากคนทำงานทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ประกอบกับข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญ ออกมาเป็น Work Trend Index ในช่วงเวลาแห่งยุคที่ทุกคนไม่สามารถเข้าออฟฟิศเจอหน้ากันได้

“การทำงานแบบไฮบริดเต็มรูปแบบ” มาตรฐานใหม่ของโลกการทำงาน

ในช่วงยุค Social Disruption กับวิกฤตโควิด-19 แบบนี้ คงเป็นทางที่ดีกว่าหากพนักงานได้มีโอกาสเลือกสิ่งที่ดีที่สุด จากการทำงานทั้ง 2 ฝั่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ออฟฟิศหรือที่บ้าน โดยจากงานวิจัยของไมโครซอฟท์ผลสำรวจเรื่อง Remote Work ก็พบว่า 73% ของคนทำงาน ต้องการให้การทำงานแบบ remote work ยังคงดำเนินต่อไป

เมื่อการทำงานโดยที่ไม่ต้องไปออฟฟิศกลายเป็นเรื่องปกติใหม่ ที่ทำงานแบบไฮบริด จึงกลายมาเป็นวิถีทางแก้ปัญหา ที่หลายองค์กรกำลังมุ่งเน้น

สถานที่ทำงานแบบไฮบริด คือ การที่ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้เราสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยเฉพาะการทำงานจากที่บ้าน แต่ทั้งนี้สาเหตุที่พนักงานอาจจะทำงานจากที่บ้าน 100% ไปเลยไม่ได้ อาจจะเป็นเพราะในบางครั้ง เราก็ต้องการสถานที่ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างงาน หรือการระดม “ความคิดสร้างสรรค์” ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพราะความคิดสร้างสรรค์ดี ๆ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปะทะกันทางความคิด มันคือความร่วมมือที่มนุษย์ยังจำเป็นต้องเจอกัน

ดังนั้นโดยภาพรวมทั้งหมดที่ทำให้สถานที่ทำงานแบบไฮบริด กลายเป็นแนวทางแก้ปัญหาในยุค New Normal เพราะเป็นแนวคิดที่สร้างความยืดหยุ่นได้อย่างลงตัว ช่วยให้สามารถทำงานในยามวิกฤตและยังคงประสิทธิภาพที่ดีอยู่ ทั้งนี้จากงานวิจัย เทรนด์การทำงานร่วมกันของ Microsoft Teams และ Outlook ก็บ่งชี้ถึงวงทำงานที่แคบลงมาก คือเรามักจะคุยกับคนทำงานในกลุ่มเรา เราจะขาดการทำงานหรือการพูดคุยนอกกลุ่มไป ทำให้การทำงานรูปแบบไฮบริดเข้ามาตอบโจทย์ เพิ่มส่วนขยายครอบคลุมความต้องการและทำให้สิ่งเหล่านี้ดีขึ้นได้ และจากเดิมทีที่การทำงานในออฟฟิศจะทำให้พนักงานรู้สึกเสมือนอยู่ในห้องเดียวกัน การทำงานแบบไฮบริดจึงเป็นการทำลายแม่พิมพ์ที่คิดว่า ทุกคนจำเป็นต้องอยู่ในห้องเดียวกันตลอดเวลา จนก่อเกิดเป็นมาตรฐานใหม่ของโลกการทำงาน

7 เรื่องที่ผู้นำควรรู้เมื่อโลกต้องเข้าสู่วิถีทำงานยุคใหม่

จากเรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่พนักงานที่ต้องปรับตัว แต่มันยังสะท้อนถึงองค์กรที่จะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนให้เข้ากับโลกทำงานยุคนี้มากขึ้น เพราะมีผลสำรวจวิจัยจากไมโครซอฟท์ที่เผยออกมาอีกว่า การประกาศรับสมัครงานที่สามารถทำจากที่ไหนก็ได้บน LinkedIn นั้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วงที่มีการแพร่ระบาด ทั้งนี้แรงงานทั่วโลกกว่า 40% กำลังพิจารณาที่จะย้ายออกจากนายจ้างเดิมในปีนี้ และ 46% กำลังวางแผนที่จะย้ายงานที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้

เมื่อความต้องการของพนักงานแปรเปลี่ยน และมีความต้องการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ผู้นำก็จำต้องบิดวิธีคิดให้ทันโลก โดยไมโครซอฟท์ประกาศผลงานวิจัยจากดัชนีแนวโน้มการทำงานประจำปีครั้งแรก ในหัวข้อ “The Next Great Disruption Is Hybrid Work – Are We Ready?” ซึ่งรายงานเปิดเผยแนวโน้มการทำงานแบบไฮบริด 7 ประการที่ผู้บริหารทุกคนต้องรู้เมื่อเข้าสู่วิถีการทำงานยุคใหม่ ดังนี้

1. ยืดหยุ่นได้ก็ควรไปต่อ
อย่างที่รู้กันว่าเทรนด์การทำงานในตอนนี้ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนแล้ว และจากงานวิจัยของไมโครซอฟท์เองก็ชี้ให้เห็นว่า พนักงานส่วนใหญ่มีความต้องการการทำงานที่มีความยืดหยุ่นแบบนี้ต่อไป เพื่อมีการเตรียมความพร้อม ผู้มีอำนาจก็ควรจะเปิดรับและพิจารณาการออกแบบพื้นที่การทำงานในออฟฟิศใหม่เพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริด

2. ผู้บริหารควรสานสัมพันธ์กับพนักงานให้มากยิ่งขึ้น
Remote Working นอกจากจะส่งผลเรื่องความห่างเหินกับเพื่อนร่วมทีมแล้ว ความเป็นผู้บริหารกับพนักงานอาจส่งผลรุนแรงยิ่งกว่า เพราะผู้บริหารอาจจะไม่สามารถสังเกตปฏิกิริยาและการตอบสนองของพนักงาน นั่นทำให้ไม่รู้ถึงปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญ

3. ผลงานที่ดีอาจแลกมาด้วยความเหนื่อยล้าของพนักงาน
แม้จะมอบความความยืดหยุ่นในการทำงานแก่พนักงาน แต่หากยังใช้มาตรฐานการทำงานในแบบระบบเดิม ๆ การเปลี่ยนแปลงทิศทางที่ไม่ได้สอดคล้องกัน อาจทำให้พนักงานอาจต้องพบเจอความเหนื่อยล้าที่ยิ่งกว่าเก่า

4. เข้าใจ Gen Z วัยเสี่ยงที่ต้องคอยได้รับการเติมไฟในการทำงาน
คน Gen Z มีโอกาสเสี่ยงหมดไฟมากกว่าเจเนอเรชันอื่นที่มีอายุมากกว่า สาเหตุมาจากแนวโน้มส่วนใหญ่ที่คนรุ่นนี้มักเป็นโสดในช่วงเริ่มต้นการทำงาน การขาดหายไปของการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ในออฟฟิศ จึงทำให้พวกเขาขาดการเชื่อมโยงจากผู้คนและองค์กร ซึ่งนั่นทำให้พวกเขาพบเจอความยากลำบากในการแสดงความคิดเห็นหรือเสนอไอเดียในการประชุม

5. วงการทำงานที่แคบลงส่งผลให้ขาดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
จากกรณีศึกษาของการทำงานร่วมกันของ Outlook และ Microsoft Teams แสดงให้เห็นถึงการโต้ตอบในเครือข่ายกลุ่มใกล้ ๆ กันมากขึ้น ทั้งการคุยแบบ 1:1 หรือกลุ่มเล็ก ๆ แต่การโต้ตอบที่อยู่ในวงอื่นหรือกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแผนกเดียวกันหรือแผนกใกล้กันกลับลดลง หากจะให้พูดง่าย ๆ ก็คือ ความสัมพันธ์ในบริษัทต่าง ๆ ถูกปิดกั้นมากกว่าที่เคยเป็น และแม้ว่าเราจะติดต่อสื่อสารกับเหล่าคอนเนกชัน คนกลาง คนในแผนกหรือแผนกที่ใกล้ชิดมากขึ้น แต่แนวโน้มก็แสดงให้เห็นว่าการปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดของคนในทีมก็เริ่มลดลงเมื่อเวลาผ่านไปเพราะมุ่งแต่เรื่องงาน

6. ความที่ต้องเป็นตัวของตัวเองที่สะท้อนจากการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมในขณะนั้น จะส่งผลโดยตรงกับประสิทธิภาพและสุขภาพการทำงาน
แน่นอนว่าในช่วงภาวะวิกฤต ปัจจุบันที่เราเผชิญก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย บางครั้งข้างบ้านอาจจะมีก่อสร้าง สุนัขข้างบ้านอาจจะเห่าตลอดเวลา หรือการดูแลลูกเล็ก ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสภาพอื่น ๆ อาจจะส่งผลให้เราเหน็ดเหนื่อยกับการทำงานกว่าสภาพแวดล้อมเพื่อการทำงานเต็มรูปแบบ การคำนึงถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ตระหนักในเรื่องความเห็นอกเห็นใจ เปิดโอกาสให้มีการปฏิสัมพันธ์ที่จริงใจ จะยิ่งทำให้พนักงานมีแรงใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น การแชร์ความรู้สึกและความเป็นตัวตนที่แท้จริงในขณะนั้น จะยิ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในสภาพแวดล้อมการทำงานแบบไฮบริดเช่นนี้

7. การทำงานแบบไฮบริด สามารถสร้างโอกาสให้คนมีความสามารถมารวมตัวกัน
อาจจะเรียกว่าเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสก็ว่าได้ เพราะด้านดีที่สุดของการทำงานแบบไฮบริดที่ทุกคนทำงานจากที่ไหนก็ได้คือ การขยายตลาดแรงงานที่ทำให้เราเฟ้นหาคนมีฝีมือในด้านต่าง ๆ ได้อย่างอิสระโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทางอีกต่อไป

จากรายงานแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารควรเข้าใจและกระตุ้นให้การทำงานแบบไฮบริดกลายเป็นการทำงานแบบปกติ เรียกได้ว่าจำเป็นต้องคิดใหม่และรื้อวิธีการทำงานเก่า ๆ ที่ทำกันมาอย่างยาวนาน

โดยคุณชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า

“การตัดสินใจเหล่านี้จะส่งผลต่อทุกสิ่งต่อจากนี้ ตั้งแต่การกำหนดรูปแบบวัฒนธรรม ที่สามารถดึงดูดความสนใจและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้ในคราวเดียวกัน ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือในองค์กรและการสร้างความครีเอทีฟให้เกิดมากขึ้นอีกด้วย”

แนะนำกลยุทธ์ 5 ประการ สำหรับผู้บริหาร

หลังจากที่เราได้รู้เท่าทันการทำงานในยุคใหม่นี้แล้ว มันก็แสดงให้เห็นว่า เราไม่อาจผูกติดกับแนวคิดเดิม ๆ ได้อีกต่อไป ในทางกลับกันเราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบทางความคิดให้ยืดหยุ่นและสอดคล้องกับโลกการทำงานสมัยใหม่ โดยบริบทจาก ‘Work Trend Index’ จึงได้ระบุกลยุทธ์สำคัญสำหรับผู้บริหารเพื่อการปรับตัวให้ทันโลก และนี่คือกลยุทธ์ 5 ประการ สำหรับผู้บริหาร ที่จำเป็นต้องนำมาใช้

1. เตรียมแผนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้พนักงานที่ต้องทำงานแบบยืดหยุ่นสูง
ทุกองค์กรควรจะต้องมีแผนที่ครอบคลุมทั้งนโยบาย พื้นที่ทางกายภาพ และเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองพนักงานกับการทำงานรูปแบบใหม่ โดยเริ่มจากการตั้งคำถามสำคัญว่า พนักงานแต่ละคนทำอะไรและต้องการอะไร ใครที่สามารถจะทำงานทางไกลได้ ใครบ้างที่จะต้องเข้าออฟฟิศ และพวกเขาจำเป็นต้องเข้าบ่อยแค่ไหน ส่วนใหญ่มาทำอะไรกัน ลองประมวลคำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้เพื่อกำหนดแผนหรือทิศทาง เพื่อเพิ่มมาตรฐานของสถานที่ทำงานให้มีความยืดหยุ่นสูง พร้อมคำแนะนำแก่พนักงานให้ได้ทดลองและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

2. ยอมลงทุนไปกับสถานที่และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์การทำงานทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์อย่างยั่งยืน
อย่างที่รู้ว่าพื้นที่ในการทำงานไม่ได้จำเป็นต้องอยู่ในออฟฟิศอีกต่อไป ผู้บริหารต้องพิจารณาถึงวิธีการจัดเตรียมเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับพนักงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากที่บ้าน ในออฟฟิศ ในระหว่างการเดินทางไปหาลูกค้า หรือไม่ว่าจะที่ไหน ๆ ทั้งนี้ในส่วนพื้นที่ทำงานของทางออฟฟิศเอง ก็ต้องดึงดูดใจมากพอที่จะเป็น hub ให้พนักงานสัญจรมาใช้ รวมไปถึงการออกแบบพื้นที่การทำงานที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันเป็นทีม พร้อมรับฟังเสียงของพนักงานทุกคนได้อย่างทั่วถึง

3. หาทางต่อสู้กับความเหนื่อยล้าของพนักงานที่เกิดจากการทำงานออนไลน์
ในขณะที่เรามองหาวิธีการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับการทำงาน อันที่จริงการจัดการกับความอ่อนล้าของพนักงานที่ต้องเผชิญกับการทำงานออนไลน์ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับผู้นำ ฉะนั้นลองพิจารณาวิธีลดปริมาณงานของพนักงาน รวบรวมความสมดุลทั้งการทำงานแบบเดี่ยวและการทำงานเป็นทีม รวมถึงสร้างวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญและความเคารพกับการหยุดพักของพนักงาน

4. ให้ความสำคัญกับการสร้างทุนทางสังคมและวัฒนธรรม
การสร้างทุนทางสังคมและวัฒนธรรมถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญสำหรับการทำธุรกิจหรือองค์กร แน่นอนว่าพอยิ่งเป็นในยุคการทำงานแบบไฮบริด ยิ่งส่งผลให้มันเป็นเรื่องยากกว่าเก่า ดังนั้นการสร้างปฏิสัมพันธ์จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความพยายามที่มากยิ่งขึ้น โดยอาจเริ่มจากการกำหนดโครงสร้างใหม่ของทีมที่ไม่เฉยเมยต่อกัน พยายามเชื่อมสัมพันธ์ และให้ความสำคัญกับการขยายเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้ทีมค้นหามุมมองที่หลากหลายจากทีมเพื่อนบ้าน เพื่อนำมาแบ่งปันการเรียนรู้ในวงกว้างขึ้น

5. ใช้วิถีการทำงานแบบยืดหยุ่น เสาะหาคนที่มีความสามารถเปิดรับความหลากหลายอย่างไม่มีขีดจำกัด
สถานที่ทำงานที่ยืดหยุ่นเป็นโอกาสที่ดีงามสำหรับการเสาะหาคนที่มีความสามารถและมีความหลากหลายเข้ามาในองค์กร โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดว่าเค้าอยู่ในโลเกชั่นเดียวกับออฟฟิศหรือไม่ พร้อมกันนี้ผู้บริหารสามารถเปิดให้คนในปล่อยของ ลองหามุมมองใหม่หาจุดเด่นในด้านต่าง ๆ ว่าแต่ละคนสามารถทำอะไรได้เพิ่มเติมจากงานที่ทำได้บ้าง การดึงศักยภาพสูงสุดของพนักงานแต่ละคนออกมาใช้ก็จะก่อให้เกิดผลิตผลที่งอกงาม นอกจากนี้ยังเป็นการตอบสนองและมอบโอกาสให้กับพนักงานได้แสดงฝีมืออีกด้วย

จาก 5 กลยุทธ์ที่กล่าวไป ก็ถือเป็นกลยุทธ์พื้นฐานที่ผู้นำธุรกิจหรือองค์กร สามารถนำไปกำหนดรูปแบบการดำเนินงานเพื่อนำไปต่อยอดสู่การทำงานแบบไฮบริดเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในโลกการทำงานยุคใหม่

การเปลี่ยนแปลงนำไปสู่การเติบโต

งานวิจัยของทางไมโครซอฟท์ทำให้เราเห็นภาพอนาคตของโลกทำงานที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และมันยังสร้างการเรียนรู้จากเรื่องนี้ว่า ความยากลำบากที่มนุษย์ต้องเผชิญ ทำให้เกิดการเติบโตฉบับรวบรัดจนก่อให้เกิดเทรนด์การทำงานรูปแบบใหม่ที่ออกมาแก้ปัญหาให้กับคนทำงานและองค์กรต่าง ๆ

คาริน คิมโบรห์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ LinkedIn กล่าวว่า “เรามองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการสร้างความเท่าเทียมจาก remote work และเห็นผู้ที่มีความสามารถหรือ talent ในวงกว้างขึ้น ดังนั้นเราจะเห็นการกระจายตัวของผู้มีทักษะต่าง ๆ อย่างกว้างขวางไปทั่วประเทศ และนี่เป็นเวลาที่ผู้บริหารจะใช้โอกาสนี้ในการเข้าถึงผู้ที่มีทักษะและความสามารถที่แตกต่างกันซึ่งไม่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแบบนี้มาก่อน” พูดง่าย ๆ ว่า มันสร้างความทัดเทียม ถ้าคุณเป็นคนเก่งอยู่ในพื้นที่แห่งใดก็ตาม คุณก็จะถูกพิจารณาทำงาน โดยไม่ได้มีข้อจำกัดในเรื่องของ Location

นอกจากนโยบายการทำงานแบบยืดหยุ่นจะออกมาแก้ปัญหาให้กับองค์กร พนักงานทั้งเก่าและใหม่แล้ว ความยากลำบากยังก่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจของคนทำงานด้วยกันมากขึ้น มีผลวิจัยออกมาด้วยว่า การทำงานจะค่อยๆ มีความประนีประนอมมากขึ้น โดยเกือบ 40% บอกว่าพวกเขารู้สึกสบายใจขึ้นที่ได้ทำงานแบบรีโมทอย่างเต็มตัวและเป็นตัวของตัวเองมากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ โดยผลสำรวจทั่วโลกพบว่า เมื่อปีทีผ่านมา 1 ใน 6 ถึงกับร้องไห้กับเพื่อนร่วมงานมาแล้ว

การแก้ปัญหาจากวิกฤตนี้เองจึงไม่ได้สะท้อนแค่เรื่องของวิถีการทำงาน แต่ยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ทำงานที่จะช่วยกันขับเคลื่อนโลกของเราต่อไป

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/.../work-trend-index/hybrid-work
Tags::

You Might also Like