LOADING

Type to search

ค่า Ft คืออะไร? ถ้ามีนโยบายยกเลิกได้ ทำไมต้องเก็บตั้งแต่แรก
Share

#ค่าไฟแพง ทำให้เกิดการถกเถียงบนโลกออนไลน์ในหลากหลายประเด็น และเป็นกระแสสังคมที่หลายคนพยายามตามหาความจริงว่า ปมเบื้องหลังค่าไฟที่แพงหูฉี่คืออะไร?

แน่นอนว่า ย่อมเกิดข้อสันนิษฐานต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นเดือนเมษายนที่ร้อนที่สุด หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานหนักกว่าปกติ แต่หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือ ‘ค่า Ft’ เจ้าปัญหาที่ปรากฏบนบิลค่าไฟทุกเดือน และความตาแหลมของชาวเน็ต ก็ทำให้พบว่า ค่า Ft ของเดือนเมษายน 2022 สูงถึง 93.43 สตางค์ต่อหน่วย

ยิ่งไปกว่านั้น #ค่าไฟแพง ยังเป็นกระแสที่มาในขวบปีของ ‘การเลือกตั้ง’ พอดิบพอดี เราจึงได้เห็นการ take action ของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งนโยบายเรื่องค่าไฟมาประชันกัน โดย ‘พรรคประชาธิปัตย์’ เลือกที่จะชูการยกเลิกค่า Ft เป็นนโยบายสำคัญ หรือแม้แต่ ‘กรณ์ จาติกวณิช’ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ก็พูดถึงการที่รัฐบาลต้องยกเลิกค่า Ft ในช่วง 3 เดือนนี้เช่นกัน

ถ้าพรรคการเมืองพูดถึงการยกเลิกค่า Ft ได้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมประชาชนต้องรับภาระค่า Ft ตั้งแต่แรก? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

Ft

ค่า Ft คืออะไร?

โดยปกติแล้ว ‘ค่าไฟ’ ที่ปรากฏบนบิลค่าไฟทุกเดือนจะเกิดจากตัวเลข 4 ส่วน ได้แก่ ค่าพลังงานไฟฟ้า (จำนวนหน่วยที่ใช้ x ค่าไฟต่อหน่วย), ค่าบริการ, ค่า Ft และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7 เปอร์เซ็นต์

หลายคนน่าจะรู้สึกว่า ตัวเลขทั้ง 3 ส่วน นอกเหนือจากค่า Ft สมเหตุสมผลกับการคิดค่าบริการใช้ไฟฟ้า แล้วค่า Ft มีที่มาที่ไปอย่างไร?

ค่า Ft หรือค่าไฟฟ้าผันแปร คือสูตรการปรับค่าไฟฟ้าที่อิงตามการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของการไฟฟ้า ปัจจุบัน ค่า Ft อยู่ในการกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

ดังนั้น หากเกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงาน ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าเท่าเดิมหรือสูงขึ้น ค่า Ft จะมากขึ้นตามราคาพลังงานที่ปรับตัวสูง ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟมากขึ้น แม้จะใช้ไฟจำนวนหน่วยเท่าเดิมก็ตาม (เป็นเพียงการยกตัวอย่างให้เข้าใจกลไกของค่า Ft มากขึ้น เพราะจริงๆ แล้ว ปัจจัยที่มีผลต่อค่าไฟยังมีอีกมากมาย เช่น กำลังไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยของแต่ละรอบบิล เป็นต้น)

ค่า Ft จะมีการปรับรอบทุกๆ 4 เดือน ที่ผ่านมามีการปรับสูตรคำนวณอยู่หลายครั้ง เพื่อให้เข้ากับปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นๆ และในเดือนตุลาคม 2005 ได้มีการปรับปรุงสูตรการคำนวณค่า Ft ให้เหลือเพียงการคำนวณตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าเท่านั้น

ค่า Ft = เหรียญที่มีสองด้าน

ปัจจุบัน การเก็บค่า Ft ยังคงเป็นที่ถกเถียงของ 2 ขั้วความเห็นที่ต่างกัน ฝั่งหนึ่งบอกว่า ค่า Ft ยังสำคัญเพราะช่วยรับความเสี่ยงจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนพลังงาน ส่วนอีกฝั่งหนึ่งมองว่า ค่าไฟของไทยแพงกว่าประเทศอื่นมาก เพราะค่า Ft คือการประเมินค่าไฟโดยมองไปที่ 4 เดือนข้างหน้า ถ้าสมมติฐานผิด การคำนวณค่าไฟก็ผิดเช่นกัน และอาจเป็นภาระที่ประชาชนต้องรับผิดชอบเกินความจำเป็น

แต่ถ้าไล่เรียงสถิติการเรียกเก็บค่า Ft ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะพบว่า มีการเรียกเก็บค่า Ft ที่ติดลบ และเมื่อคำนวณเบ็ดเสร็จ ค่าไฟที่ปรากฏบนบิลค่าไฟจะลดลง ส่วนสาเหตุที่ค่า Ft สามารถเป็นลบได้ มาจากการที่ต้นทุนพลังงานปรับตัวลดลง หรืออยู่ในช่วงที่พลังงานเพียงพอต่อการปั่นไฟตามความต้องการใช้งาน

ดังนั้น การที่ค่า Ft เป็นลบไม่ใช่ ‘สิทธิพิเศษ’ ที่หลายคนมองว่า เป็นประโยชน์ที่ควรได้รับ แต่เป็นการ ‘ถัวเฉลี่ย’ การรับภาระในฐานะประชาชนที่ต้องใช้ไฟในการดำรงชีวิตต่างหาก

แน่นอนว่า ‘ค่า Ft’ ที่มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและสัมปทานของเอกชนซ่อนอยู่เบื้องหลัง จะเป็นความท้าทายสำหรับรัฐบาล ‘ชุดใหม่’ ที่มาจากการเลือกตั้งปี 2023 ซึ่งเราต้องมาติดตามต่อว่า เมื่อรัฐบาลชุดใหม่ปฏิบัติงาน ‘นโยบาย’ ที่เปรียบเสมือนคำมั่นสัญญาระหว่างนักการเมืองและประชาชน จะถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเรื่อง ‘ค่าไฟแพง’ อย่างไร?

Sources: https://bit.ly/41HI5Bo

https://bit.ly/41uobdm

https://bit.ly/41L0b5I

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1