LOADING

Type to search

‘AI’ จะเข้าไปอยู่ในทุกอณูของชีวิต จนเราไม่ทันมองเห็น สรุป เนื้อหาสำคัญจากงาน ‘The Age of AI: Augmented Intelligence’

‘AI’ จะเข้าไปอยู่ในทุกอณูของชีวิต จนเราไม่ทันมองเห็น สรุป เนื้อหาสำคัญจากงาน ‘The Age of AI: Augmented Intelligence’
Share

ปรากฏการณ์ของ ‘ChatGPT’ ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เรื่องของ ‘Artificial Intelligence’ หรือ ‘AI’ กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เพราะไม่ว่าคุณจะอยู่ส่วนไหนบนโลกใบนี้ อาชีพอะไร อายุเท่าไร เพศไหน หรือมีความถนัดอย่างไร เอไอจะเข้าไปอยู่กับคุณในทุกๆ ที่อย่างเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่บิล เกตส์ (Bill Gates) เคยกล่าวไว้ว่า “The Age of AI has begun” ยุคสมัยของเอไอได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

‘KBTG’ เล็งเห็นถึงความสำคัญและยุคสมัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของเอไอ ทาง KBTG (กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป) จึงร่วมมือกับ ‘MIT Media Lab’ เพื่อพัฒนางานวิจัยภายใต้หัวข้อเรื่อง ‘Augmented Intelligence’ เนื่องจาก กระแสการเติบโตและวิวัฒนาการของเอไอที่ผ่านมา ทำให้เกิดข้อถกเถียงในประเด็นที่ว่า เอไอเกิดขึ้นมาเพื่อแย่งงานมนุษย์รึเปล่า การมีอยู่ของหุ่นยนต์พวกนี้จะทำให้อาชีพและทักษะของเราถูกยึดครองหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ KBTG ต้องการนำเสนอ คือเอไอไม่ได้ทำให้งานเราหายไป แต่ต้องช่วย ‘Augmented’ คือส่งเสริมศักยภาพการทำงานของมนุษย์ให้ดี มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

คุณกระทิง เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่มบริษัท KBTG และ Group Chairman KBTG เริ่มต้นฉายภาพ ‘The Age of AI’ โดยอิงจาก ‘Exponential Technology’ ให้ฟังก่อนว่า โดยปกติแล้ว วิวัฒนาการของเทคโนโลยีจะมีทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน จุดแรกคือ ‘Digitized’ ไปยังจุดที่สองคือ ‘Deception’ ซึ่งเป็นจุดที่น่ากลัวที่สุด เป็นเหมือนกับ ‘จุดหลอกตา’ เหมือนร่างหมาป่าในคราบแกะ ให้ลองนึกถึงภาพของเอไอในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า แทบไม่มีรายงานข่าวหรือกระแสเอไอใหม่ๆ เกิดขึ้นเลย เพราะถูกแทนที่ด้วยกระแสคริปโทเคอร์เรนซี แต่ต่อมาในสเตจที่สาม ‘Disruptive’ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นมาทุกที่ และรวดเร็วมากในเวลาอันสั้น และนำไปสู่สเตจที่สี่ ‘Dematerializing’ คือเทคโนโลยีดังกล่าวหายไป หายไปในที่นี้ไม่ใช่ถูกหลงลืม หรือไม่มีการใช้งาน-พัฒนาต่อ แต่หายเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแนบเนียน แยบยล เหมือนกับไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์แกดเจ็ตต่างๆ ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราจะพบว่า เอไอได้เข้าไปอยู่ในทุกมิติของชีวิตแล้ว

ถัดมา คือ ‘Demonetizing’ สัดส่วนของเม็ดเงินและการลงทุนจะหายไปจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม และสุดท้ายคือ ‘Democratizing’ ทุกคนจะได้ใช้เทคโนโลยีนี้ในราคาถูก จับต้องได้ เอไอจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งในอุตสาหกรรมเดิมที่เคยคิดว่า เราได้แตะจุดสูงสุดมาแล้ว ผ่านยุค ‘Mobile first’ ประสบความสำเร็จกับการทำแอปพลิเคชันมาแล้ว แต่นั่นยังไม่พอ เพราะตอนนี้เรากำลังเปลี่ยนผ่านจาก ‘Mobile first’ สู่ ‘AI first’ 

คุณกระทิงระบุว่า สิ่งที่ ‘KBTG’ ลงมือทำ คือการทำให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของ ‘AI Literacy’ อยู่ร่วมกับเอไอ ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการเหล่านี้ได้ เอไอไม่ได้เข้ามาแทนที่มนุษย์ทั้งหมด แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือเอไอจะช่วยให้ ‘Productivity’ ของมนุษย์เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และให้ระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่มนุษย์มีและเอไอไม่สามารถทดแทนได้ คือ ‘Humanity’ และ ‘Empathy’ เพราะที่สุดแล้ว เราคงไม่สามารถใช้การตัดสินใจด้วยอัลกอรึทีมได้เพียงอย่างเดียว สิ่งที่เอไอควรจะเป็น จึงตรงกับนิยามคำว่า ‘Augmented Intelligence’ มนุษย์ทำให้เอไอฉลาดขึ้น และเอไอก็ทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้นเช่นเดียวกัน

ด้วยเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของ ‘KBTG’ ทั้งหมดนี้ นำไปสู่โปรเจกต์พัฒนาเอไอโดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ได้แก่ ‘Future You’ และ K-GPT

‘Future You’ – เราในอนาคต คือตัวเราในวันนี้

‘Future You’ เป็นงานวิจัยที่ ‘KBTG’ พัฒนาร่วมกับ ‘MIT Media Lab’ รวมถึงนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (UCLA) และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มที่ให้ผู้ใช้งานสามารถสื่อสารกับ ‘Digital AI’ ของตัวเองในอนาคตได้

พีพี-คุณพัทน์ ภัทรนุธาพร นักศึกษาปริญญาเอกที่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งกับทีม MIT Media Lab และเป็นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น KBTG Fellow เล่าว่า ‘Future You’ เป็นตัวอย่างในการใช้เอไอเพื่อ ‘Augmented’ หรือช่วยเหลือมนุษย์ ให้สามารถคิดและวางแผนระยะยาวได้มากขึ้น จะเป็นอย่างไร หากไทม์แมชชีนในภาพยนตร์สามารถเกิดขึ้นได้จริง จะเป็นอย่างไร หากเราสามารถสื่อสาร พูดคุยกับตัวเราในอีก 20 ปีข้างหน้าได้ ตัวเราในอนาคตจะให้คำแนะนำเราในวันนี้ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าได้อย่างไร นี่คือวิธีคิดของ ‘Future You’

“การได้คุยกับตัวเองในอนาคตเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับคนคนนั้นได้ ด้วยแรงบันดาลใจจากไทม์แมชชีน ทำให้ทีมพัฒนาเทคโนโลยีจำลองตัวตนผ่านเอไอ โดยปรับแต่งให้กับผู้ใช้งาน ทั้งนิสัย โปรไฟล์ รวมถึงเป้าหมายในชีวิตด้วย งานชิ้นนี้พัฒนาขึ้นมาจากงานวิจัยด้านจิตวิทยาที่พบว่า ยิ่งเราสามารถมองเห็นอนาคตตัวเองได้ชัดเจนเท่าไร เราจะยิ่งมีพฤติกรรมเชิงบวกได้เท่านั้น เช่น เก็บออมเงินได้ดีขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น มีสุขภาพจิตดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” คุณพัทน์อธิบายเพิ่มเติม

นอกจากนี้ คุณพัทน์ยังเสริมต่อด้วยว่า เพื่อให้การสนทนากับเอไอสมจริงมากขึ้น เอไอจะสร้างตัวตนของเราในวัย 60 ปีขึ้นมา รวมถึงยังสร้างความทรงจำสังเคราะห์ โดยอิงจากข้อมูลของผู้ใช้งานตั้งแต่เด็กจนโต ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้งานอายุ 18 ปี มีความตั้งใจอยากเป็นหมอ เอไอจะจำลองความคิดของผู้ใช้งานในวัย 60 ปีที่ได้เติบโตขึ้นไปเป็นหมอ แล้วถ่ายทอดประสบการณ์ในฐานะผู้ใหญ่ให้เด็กในวัย 18 ปีฟัง

โดยจากการทดลองกับกลุ่มตัวอย่าง 188 คน พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน รู้สึกเหมือนได้คุยกับตัวเองในโลกอนาคตจริงๆ นอกจากนั้น ยังพบว่า การสนทนากับเอไอยังช่วยลดความวิตกกังวล เพิ่มแรงจูงใจ และสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับผู้ใช้งานได้ด้วย หากเอไอมีความสมจริง ก็จะมีผลกับทิศทางในอนาคตของเขามากขึ้น ทำให้มีแรงบันดาลใจ ไปต่อกับเป้าหมายที่วางไว้ เข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น รวมถึงเรื่องของสุขภาพที่ ‘Future You’ ยังช่วยเอมพาวเวอร์ (Empowers) ให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะอยากเห็นอนาคตที่ดีของตัวเราเอง

‘K-GPT’ – เพื่อนคู่คิดช่วยตัดสินใจแบบ ‘คะน้า-คชา’

นอกจากระจกสะท้อนตัวตนอย่าง ‘Future You’ แล้ว ยังได้มีการพัฒนาเอไอที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเพื่อนคู่คิดให้กับเรา ทำให้เรามีคู่หูเป็น ‘AI Thought Partner’ ที่ชื่อว่าคะน้าและคชา

โดยเหตุผลที่ต้องมาเป็นคู่ เพราะหากเราถามความคิดเห็นจากคนคนเดียว เราก็คงได้มุมมองด้านเดียว คะน้าและคชาจะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา เปิดโลกทัศน์ด้วยเรื่องเดียวกันที่มีมุมคิดคนละด้าน เป็นการให้คำแนะนำแบบ ‘Multi-perspective’ ที่พัฒนาขึ้นโดย ‘K-GPT’ หรือ ‘Knowledge GPT’

คะน้าและคชาไม่ได้ให้คำแนะนำแบบโดดๆ จากความคิดหรือข้อมูลที่ถูกป้อนโดยมนุษย์เท่านั้น แต่ยังผ่านการตรวจสอบมาแล้วว่า เป็นข้อมูลที่มีแหล่งอ้างอิง เชื่อถือได้ และเป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำจริงๆ หากผู้ใช้งานต้องการตรวจสอบว่า ข้อมูลที่สองคู่หูให้มานั้นมีแหล่งที่มาจากไหน ถูกต้องครบถ้วนรึเปล่า ก็สามารถดึงข้อมูลไปตรวจสอบเพิ่มเติมจากแหล่งอ้างอิงได้เลยทันที

อีกส่วนสำคัญ ที่ทางทีมพัฒนาเปิดเผย คือ เอไอต้องให้ความรู้สึกที่ ‘ใกล้’ และมีความคล้ายกันกับผู้ใช้งานให้มากที่สุด ฉะนั้น ทีมวิจัยจึงป้อนเรื่องของวัฒนธรรม บริบทต่างๆ ของคนไทยเข้าไปด้วย เพื่อให้มีมู้ดแอนด์โทนของเอไอที่เข้าใจตัวของผู้ใช้งานจริงๆ ยิ่งเอไอรู้จักเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พวกนี้มากเท่าไร ผู้ใช้งานก็จะยิ่งเชื่อใจ มีความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามคำแนะนำของเอไอมากเท่านั้น

และสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ คือเรื่องของจริยธรรมหรือ ‘Ethics’ ที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงทั้งในแวดวงวิชาการ และระดับคนทั่วไปว่า เอไอจะเข้ามาอยู่ในชีวิตเราได้จริงหรือไม่ ซึ่งตรงนี้เองที่ทางทีม KBTG และ MIT Media Lab ให้ความสำคัญ ร่วมกันหารือถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ เพื่อการนำเอไอไปใช้ หรือการสร้าง ‘AI Literacy’ ออกแบบไกด์ไลน์ในการใช้งานร่วมกัน เพื่อพัฒนาการใช้งาน และทักษะของเอไอให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

Tags::