LOADING

Type to search

Toyota ปลุกพนักงานยึดคติ ‘EV – first’ ยกเครื่องการผลิตรถรุ่นใหม่เน้นไฟฟ้าทั้งระบบ

Toyota ปลุกพนักงานยึดคติ ‘EV – first’ ยกเครื่องการผลิตรถรุ่นใหม่เน้นไฟฟ้าทั้งระบบ
Share

“เราจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจครั้งใหญ่” โคจิ ซาโตะ (Koji Sato) ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ของ Toyota บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของโลกกล่าว

ซาโตะ วัย 53 ปี มีกำหนดขึ้นนั่งเก้าอี้ซีอีโอ Toyota อย่างเป็นทางการในเดือนเมษายน 2023 เพื่อสืบทอดตำแหน่งจากอาคิโอะ โทโยดะ (Akio Toyoda) ซีอีโอ วัย 66 ปี ซึ่งทำหน้าที่มายาวนานตั้งแต่ปี 2009

ภารกิจหลักของซาโตะ คือ การพาบริษัทเข้าสู่คลื่นลูกใหม่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรถสันดาปภายในที่ใช้น้ำมันกำลังล้าสมัย และถูกแทนที่ด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (electric vihicle หรือ EV) 

ความท้าทายของซาโตะคือ Toyota เริ่มต้นพัฒนาเทคโนโลยี EV ช้ากว่าค่ายอื่น ไม่ใช่แค่ตามหลัง Tesla แต่ยังรวมถึงค่ายรถยนต์ของจีนอย่าง BYD ด้วย

นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ซาโตะ ออกมาประกาศเรียกร้องให้พนักงานทุกคนต้องเปลี่ยนมุมมองความคิด และหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนารถ EV เป็นอันดับแรก หรือที่เขาเรียกว่า ‘EV-first mind-set’

ทัศนคตินี้ที่ซาโตะต้องการปลูกฝังในคน Toyota คือ การปฏิวัติกระบวนการพัฒนาอะไหล่ และสายพานการผลิตทั้งหมดให้เน้นตอบโจทย์รถ EV เป็นหลัก หลังจากรถ EV ยุคปัจจุบันของบริษัท ยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีเก่าจากการผลิตรถใช้น้ำมันในอดีต

ซาโตะบอกว่า การยกเครื่องวิธีผลิตอะไหล่ และสายพานการผลิตทั้งหมดเพื่อมุ่งสู่เทคโนโลยี EV จะเริ่มที่แบรนด์ Lexus (เล็กซัส) ซึ่งเป็นรถหรูของบริษัทก่อน โดยรถ EV รุ่นใหม่ของ Lexus ที่ใช้กระบวนการผลิตใหม่ จะเริ่มพัฒนาได้ในปี 2026 และตั้งเป้าเปลี่ยน Lexus ทุกรุ่นให้เป็น EV ภายในปี 2035

สาเหตุที่ซาโตะเลือก Lexus เป็นแบรนด์แรก ก่อนขยายไปสู่รถรุ่นอื่นๆ ของ Toyota ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขามาจากตำแหน่งหัวหน้าผู้บริหารแบรนด์ Lexus ก่อนรับตำแหน่งซีอีโอ

โดยเส้นทางการเติบโตของซาโตะ เริ่มจากการเป็นวิศกรลูกหม้อของ Toyota ก่อนขึ้นเป็นหัวหน้าแบรนด์ Lexus และกลายเป็นม้ามืดที่ได้ตำแหน่งทายาทซีอีโอใหญ่ของบริษัทในที่สุด

ปัจจุบัน รถ EV มีส่วนแบ่งขนาดใหญ่ในตลาดจีน และยุโรป ส่วนในอเมริกาคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ มีนโยบายสนับสนุนการใช้ EV ด้วยการให้เครดิตภาษีเพิ่ม

ด้าน Toyota แม้ไม่ใช่ผู้นำในการผลิตรถ EV แต่ถือเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฮบริด ที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าคู่กัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ Toyota เป็นผู้บุกเบิก และใช้กับรถรุ่น Prius (พรีอุส) ของตัวเองมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1990s

ส่วนยอดขาย EV ของ Toyota และ Lexus รวมกันในปี 2022 ยังมีไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทตั้งเป้าไว้ว่า ภายในปี 2030 จะเพิ่มยอดขายให้ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของยอดขายรวมทั้งปี ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคัน

ก่อนหน้านี้ Toyota ชั่งใจอยู่นานว่าจะหันมาเน้นพัฒนา EV ดีหรือไม่ โดยการตัดสินใจล่าสุดอยู่บนพื้นฐานความหวังว่า โมเดลธุรกิจนี้จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของบริษัทมีประสิทธิภาพขึ้น และได้ประโยชน์จากการลดต้นทุนเมื่อผลิตเป็นจำนวนมาก หรือที่เรียกว่า การประหยัดต่อขนาด (economy of scale) ด้วย

นอกจากแผนยกเครื่องการพัฒนาอะไหล่ และกระบวนการผลิตทั้งหมดแล้ว Toyota ยังต้องการผลิตแบตเตอรีของตัวเอง และลงทุนในห่วงโซ่อุปทานการทำแบตเตอรี มากกว่าพึ่งพาแบตเตอรีจากซัปพลายเออร์ข้างนอกเพียงอย่างเดียว

ก่อนหน้านี้ โทโยดะ มักพูดว่า บริษัทควรมอบทางเลือกอันหลากหลายให้ผู้บริโภค ซึ่งรวมถึงรถไฮบริด และรถที่ขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน และมักตั้งคำถามกับการหันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก

ซาโตะ พยายามสะท้อนมุมมองนี้ของโทโยดะ ด้วยการพูดว่า บริษัทภายใต้การนำของเขาจะยังคง “เดินหน้าด้วยวิธีการพัฒนาหลากหลายทิศทางอย่างไม่สั่นคลอน”

เขาบอกว่า ยุทธศาสตร์ใหม่เรื่องรถ EV มาจากการปรึกษาหารือกันนานหลายปีกับโทโยดะ เพื่อหาโมเดลธุรกิจและวิธีผลิต EV ให้ Toyota “มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร”

“เราเห็นภาพรถ EV ที่วางเป้าหมายเอาไว้แล้ว” ว่าที่ซีอีโอคนใหม่กล่าว “ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะเร่งการพัฒนานั้นด้วยวิธีการใหม่ในแบบของเรา”

วิธีการที่ว่า คือ การเปลี่ยนทั้งกระบวนการผลิตและทัศนคติเกี่ยวกับรถยนต์ให้ความสำคัญกับ EV เป็นที่หนึ่ง แม้ Toyota จะมาเป็นค่ายที่ตามมาทีหลังในอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/3HVVwpb

Tags::

You Might also Like