LOADING

Type to search

ตัวตนของ ‘เอเลียน’ กำลังจะถูกเปิดเผย? เมื่อกล้องโทรทรรศน์ของ ‘NASA’ ค้นพบสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตในอวกาศ

ตัวตนของ ‘เอเลียน’ กำลังจะถูกเปิดเผย? เมื่อกล้องโทรทรรศน์ของ ‘NASA’ ค้นพบสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตในอวกาศ
Share

คุณเป็นคนที่เชื่อเรื่อง ‘เอเลียน’ (Alien) มากน้อยแค่ไหน?

หากพูดถึง ‘เอเลียน’ หลายๆ คนอาจจะนึกถึงสิ่งมีชีวิตนอกโลกสุดลึกลับที่ทุกวันนี้ ก็ยังคงเป็นปริศนาที่รอการไขคำตอบอยู่ หรือบางคนอาจจะผูกพันกับเอเลียนในฐานะของตัวละครในความทรงจำ จาก ‘อี.ที. เพื่อนรัก’ (E.T. the Extra-Terrestrial) หนังในตำนานที่บอกเล่าเรื่องราวของมิตรภาพต่างสายพันธุ์ที่ตราตรึงใจผู้ชมอย่างเราๆ มากว่า 40 ปี

ตั้งแต่อดีตถึงจนปัจจุบัน มีทฤษฎีเกี่ยวกับเอเลียนออกมามากมาย

บ้างก็ว่า เอเลียนในระบบสุริยะอื่นกว่า 1,000 แห่ง อาจกำลังเฝ้ามองเราอยู่

บ้างก็ว่า เอเลียนอาจจะหายใจโดยใช้ไฮโดรเจน

บ้างก็ว่า เอเลียนอาจจะติดตั้งโครงสร้างยักษ์ดึงพลังงานจากหลุมดำ

และล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากนาซา (NASA) ได้เผยทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับเอเลียน หลังจากการค้นพบสัญญาณของสิ่งมีชีวิตในอวกาศด้วย ‘James Webb Space Telescope’ (JWST) หรือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ที่ถือเป็นทายาทรุ่นที่สองของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) อันแสนจะโด่งดัง

แต่ก่อนที่เราจะไปลุ้นกับเรื่องราวของทฤษฎีใหม่ เราอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ ‘กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์’ พระเอกของการค้นพบในครั้งนี้กันก่อน

ย้อนกลับไปในปี 2007 นาซาได้มีแผนในการปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ต่อจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ที่ใช้มานานแสนนาน แต่แล้ว การปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ กลับต้องเจออุปสรรคนับไม่ถ้วน ตั้งแต่การรื้อแบบ และออกแบบใหม่ในปี 2005 การตรวจเช็คประสิทธิภาพอย่างละเอียดในปี 2018-2020 ไปจนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แผนการปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวนี้ มีความล่าช้าเป็นอย่างมาก

จนในที่สุด วันที่นาซารอคอยก็มาถึง เพราะเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2021 เวลาประมาณ 19.20 น. นาซาก็ได้ปล่อยกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ออกไปยังนอกโลกได้สำเร็จ

หลังจากที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่นาน ก็แสดงความสามารถในการค้นพบเบาะแสของปริศนาในอวกาศมากมาย อย่างทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับเอเลียนที่เราได้หยิบยกมาเล่าให้ฟังกันในวันนี้ด้วย

โดยจุดเริ่มต้นของทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับเอเลียนนั้น เริ่มจากการที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ สามารถตรวจจับสัญญาณของ ‘ก๊าซมีเทน’ (Methane) หรือหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) ตัวร้ายที่ทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อจากบทเรียนวิทยาศาสตร์มาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆ คนอาจจะสงสัยว่า แล้วทำไมก๊าซมีเทนถึงกลายมาเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้?

ก็ต้องบอกว่า ก๊าซมีเทนส่วนใหญ่ในโลก ล้วนเกิดจากการดำเนินกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรกรรม การปศุสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิง หรือแม้แต่การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตด้วยก็ตาม

ดังนั้น การที่ตรวจจับก๊าซมีเทนในอวกาศได้ ก็เท่ากับว่า ในอวกาศต้องมีสิ่งมีชีวิตที่ทำกิจกรรมเหล่านี้ อยู่แน่นอน และต้องทำจนมีปริมาณก๊าซเป็นจำนวนมาก ไม่เช่นนั้น คงไม่มีทางที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศจะสามารถตรวจจับก๊าซมีเทนได้

หลังจากที่มีการเปิดเผยทฤษฎีนี้ ออกมา แน่นอนว่า ต้องมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว เพราะการตรวจจับก๊าซมีเทนได้เพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถบอกได้ว่า มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่จริงในอวกาศหรือไม่ เพราะจริงๆ แล้ว ก๊าซมีเทนก็เป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ และเป็นก๊าซพื้นฐานที่มีอยู่ในดาวทุกดวง ดังนั้น ก๊าซมีเทนที่ตรวจจับได้อาจจะมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิตได้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ที่โต้แย้งว่า หากจะเอาเรื่องการค้นพบก๊าซมาเป็นปัจจัยชี้วัดว่ามีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในอวกาศหรือไม่ ควรเอา ‘ก๊าซออกซิเจน’ (Oxygen) ที่เราใช้หายใจกันในทุกวันมาเป็นปัจจัยชี้วัดมากกว่า

ซึ่งในประเด็นนี้ แม็กกี้ ทอมป์สัน (Maggie Thompson) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ ผู้ดูแลการเผยแพร่ทฤษฎีนี้ ได้กล่าวว่า “ก๊าซออกซิเจนเป็นปัจจัยชี้วัดถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่สำคัญก็จริง แต่ยังคงเป็นเรื่องยากที่ความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ จะตรวจจับได้”

นั่นเท่ากับว่า ในตอนนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ดูแลการเผยแพร่ทฤษฎีนี้ ยังคงต้องทำการวิเคราะห์กันต่อไปว่า ก๊าซมีเทนที่ตรวจจับได้ จริงๆ แล้ว เป็นก๊าซที่มาจากแหล่งใดกันแน่ และยังคงต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์อื่นๆ มาสนับสนุนทฤษฎีนี้อีก โดยทางเลือกในการค้นหาหลักฐานเพิ่มเติม อาจจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ ให้สามารถตรวจจับก๊าซออกซิเจนในอวกาศได้ด้วย ซึ่งจะใช่หรือไม่ เราคงต้องมารอดูกันต่อไปในอนาคต

สุดท้ายแล้ว หากผลการวิเคราะห์แหล่งที่มาของก๊าซมีเทนออกมาว่า เป็นก๊าซที่ไม่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต ทฤษฎีนี้ ก็คงถูกปัดตกไปโดยปริยาย แต่หากโชคดีที่ก๊าซมีเทนที่ตรวจจับได้นั้น มาจากสิ่งมีชีวิตจริงๆ การค้นพบในครั้งนี้ คงสร้างแรงกระเพื่อมมหาศาลสำหรับการค้นหาความจริงเกี่ยวกับเอเลียนในอนาคตได้อย่างแน่นอน

Sources: https://cnet.co/3JWenPW

https://bit.ly/3K7KLip

https://bit.ly/37CNnHX

Tags::

You Might also Like