Type to search

จะเป็นอย่างไร ถ้าเสื้อที่ใส่อยู่ฟังเสียงหัวใจได้? นักวิจัยพัฒนา ‘เสื้อฟังเสียงหัวใจ’ เป็นครั้งแรกของโลก

April 21, 2022 By Future Trends

ตอนนี้ หันไปทางไหน ก็เห็นแต่คนใส่สมาร์ตวอตช์ (smart watch) นาฬิกาข้อมือสุดไฮเทค กันทั่วบ้านทั่วเมือง การที่สมาร์ตวอตช์ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ คงเป็นเพราะฟีเจอร์ต่างๆ ในสมาร์ตวอตช์ ทำให้ชีวิตของเราในหลายๆ ด้าน สะดวกสบายมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์ที่โดนใจสายรักสุขภาพมากๆ นั่นก็คือ ‘การวัดอัตราการเต้นของหัวใจ’ เมื่อฟีเจอร์นี้ เกิดขึ้นมา ก็ทำให้การติดตามการเต้นของหัวใจทำได้ง่ายขึ้น และยังทำให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงการดูแลของตนเองมากขึ้นตามไปด้วย จนในที่สุดสมาร์ตวอตช์ ก็ขึ้นแท่นเป็นอุปกรณ์สุดฮิตที่สายรักสุขภาพทุกคนต้องมีไปแล้ว

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ตลาด wearable device หรืออุปกรณ์ไอทีที่สวมใส่ได้ ที่มีสมาร์ตวอตช์เป็นสินค้าหลักในกลุ่ม เติบโตขึ้นมาก ข้อมูลจาก Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านไอทีระดับโลก ได้ระบุว่า ในปี 2021 สินค้าในกลุ่ม wearable device สามารถสร้างมูลค่าตลาดได้ถึง 81.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมากกว่ามูลค่าตลาดที่ทำได้ในปี 2020 ถึง 18% และยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2022 มูลค่าตลาดของสินค้ากลุ่มนี้ จะสูงขึ้นอีก 15% เลยทีเดียว

การเติบโตของ wearable device ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกวันนี่เอง ที่ทำให้มีทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ (Rice University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ริเริ่มโปรเจกต์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีความแตกต่างจากสินค้าเดิมในกลุ่ม wearable device และเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของนักวิจัยกลุ่มนี้ คือ ‘เสื้อฟังเสียงหัวใจ’

‘เสื้อผ้าที่ดี ต้องมาจากเส้นใยที่มีคุณภาพ’

เมื่อทีมนักวิจัยตัดสินใจแล้วว่า จะพัฒนาสมาร์ตเชิ้ต (smart shirt) ตัวใหม่ที่สามารถฟังเสียงหัวใจได้ พวกเขาก็ต้องเริ่มจากการวิจัย ‘เส้นใย’ ที่ใช้ในการผลิตเสื้อก่อน เพราะเส้นใยธรรมดาๆ คงไม่สามารถฟังเสียง หรือจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้อย่างแน่นอน

หลังจากที่ทีมนักวิจัยได้ทำการค้นคว้า และทดลองมาอย่างยาวนาน พวกเขาก็ได้เส้นใยชนิดใหม่ที่เรียกว่า ‘carbon nanotube’ ซึ่งมีการทำงานคล้ายกับเส้นลวดในเครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) โดยลักษณะของเส้นใยที่ว่านี้ จะมีความอ่อนนุ่มเหมือนเส้นใยจากฝ้าย แต่มีความแข็งแรงเหมือนเคฟลาร์ (Kevlar) ที่เป็นเส้นใยสังเคราะห์ประเภทหนึ่ง และเส้นใยชนิดนี้ จะทำหน้าที่ตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ แล้วส่งข้อมูลไปแสดงผลที่อุปกรณ์อื่นๆ คล้ายกับการทำงานของสมาร์ตวอตช์

ถึงแม้ว่า เสื้อตัวนี้ จะทำจากเส้นใยที่มีความสามารถในการนำไฟฟ้า เพราะต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตลอดเวลา แต่ทีมนักวิจัยก็ได้พัฒนาให้สามารถซักล้าง และใช้ซ้ำได้เหมือนเสื้อผ้าทั่วไป ทำให้ผู้ใช้งานหมดกังวลในเรื่องนี้ ไปได้เลย

นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยกำลังพัฒนาให้เสื้อตัวนี้ สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายกับสมาร์ตโฟนได้ เพื่อความสะดวกในการใช้งานจริง และพวกเขายังมุ่งหวังว่า ในอนาคต เสื้อตัวนี้ จะสามารถครองใจผู้ใช้งาน จนสามารถเอาชนะสมาร์ตวอตช์ได้ในที่สุด

แต่การที่ทีมนักวิจัยจะสามารถเอาชนะสมาร์ตวอตช์ได้นั้น คงเป็นเรื่องยากอย่างแน่นอน เพราะในตอนนี้ สมาร์ตวอตช์ไม่ใช่แค่อุปกรณ์ไอทีที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องประดับที่ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และความมั่นใจให้กับผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่แอปเปิล (Apple) หนึ่งในผู้ผลิตสมาร์ตวอตช์รายใหญ่ ออกคอลเลกชันสาย Apple Watch มามากมายหลายรูปแบบ เพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ด้านแฟชันของผู้ใช้งานแต่ละคน

ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไรซ์ อาจจะกำลังเจออุปสรรคใหม่ เพราะตอนนี้ มีทีมนักวิจัยทีมใหม่จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับเสื้อฟังเสียงหัวใจอยู่เช่นกัน โดยวัสดุที่ทีมวิจัยทีมนี้เลือกใช้ในการผลิตเส้นใยของเสื้อ ก็คือ ‘piezoelectric’ ที่มีคุณสมบัติพิเศษในการเปลี่ยนพลังงานจลน์จากแรงกดหรือแรงสะเทือน ให้อยู่ในรูปของพลังงานไฟฟ้า

โดยเส้นใย piezoelectric จะถูกทอเป็นผ้ารับเสียง (acoustic fabric) ผืนใหญ่ ก่อนนำไปทำการตัดเย็บเป็นเสื้อ เพื่อตรวจจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ ซึ่งผลการทดลองในอาสาสมัครก็เป็นที่น่าพอใจเลยทีเดียว เพราะเสื้อตัวนี้ สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจ และส่งสัญญาณไฟฟ้าไปยังอุปกรณ์วัดประเมินค่าเป็นตัวเลขได้อย่างแม่นยำ

ไม่ว่าจะเป็นผลงานจากทีมนักวิจัยทีมไหนก็แล้วแต่ นี่คือจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยให้การดูแลสุขภาพของเราทำได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมมากๆ และหากในอนาคต มีการพัฒนาเพื่อการใช้งานในผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจได้อย่างสะดวกด้วยแล้ว ก็คงจะดีไม่น้อย

และนี่คงเป็นความสนุกของผู้ใช้งานอย่างเราๆ ที่ต้องรอดูว่า งานวิจัยของทั้งสองทีมนี้ จะอยู่ในสถานการณ์แบบ ‘เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้’ ที่ในอนาคต อาจจะกลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เพราะใช้เทคโนโลยีต่างกัน หรือจะเป็นแบบ ‘น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า’ ที่ในอนาคต เทคโนโลยีจากทั้งสองทีม อาจจะมารวมกันอยู่ในเสื้อตัวเดียว จนกลายเป็นเสื้อฟังเสียงหัวใจที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกก็เป็นได้

Sources: https://cnn.it/3OrzEEz

https://bit.ly/3MokoX1