LOADING

Type to search

After Shock After COVID-19 ธุรกิจส่งออกจะรับมืออย่างไรต่อไป?

After Shock After COVID-19 ธุรกิจส่งออกจะรับมืออย่างไรต่อไป?
Share

COVID ตัวร้ายที่ดูท่าจะฝากผลงานไว้มากกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่การใช้ชีวิตของพวกเราทุกคนที่เปลี่ยนไป แต่เรื่องอื่น ๆ ก็ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนตามไปด้วยเช่นกัน

COVID-19 โรคที่มาแบบไม่คาดฝัน ทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน ห้างร้านต้องปิดกิจการชั่วคราว เพราะเป็นภาวะที่เผชิญพร้อมกันทั่วโลก หลายประเทศมีมาตรการคำสั่งปิดเมือง ซึ่งทำให้ ‘ธุรกิจส่งออก’ ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ครั้งนี้ตามไปด้วย

COVID-19 วิกฤตที่กระทบ Supply Chain ทั่วโลก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกรายงานเศรษฐกิจโลกฉบับใหม่ โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้จะตกต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1930 เป็นต้นมา

ฝั่งประเทศไทยเองนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค.2563 หดตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ทำให้ธปท.ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ GDP ปีนี้จะติดลบมากถึง 5.3% และการส่งออกอาจติดลบ 8.8% เพราะการค้าระหว่างประเทศหดตัว และหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ลากยาวเกิน 9 เดือน GDP โลกอาจจะติดลบถึง 2.5% ส่งออกไทยก็จะติดลบ 7.1% 

แม้ว่าตัวเลขที่เราเห็นจะน่าสะพรึงแค่ไหนก็ตาม แต่ในวิกฤตก็ยังพอจะมีโอกาสอยู่บ้าง เพราะการส่งออกไทยในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ยังสามารถขยายตัว 4.17% เป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 8 เดือน มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 22,405 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาล ผัก ผลไม้สด อาหารแช่เย็นและแปรรูป เป็นต้น เพราะมาตรการกักตัวในสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ความความต้องการสินค้าเกษตรแปรรูป และอาหารมีมาอย่างต่อเนื่อง เกิดการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นนั่นเอง

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงการสรุปสถานการณ์โดยรวมคร่าว ๆ ที่เชื่อว่าใครหลายคนก็พอจะคาดการณ์ได้จากวิกฤตที่เกิดขึ้น และหลังจากคลายล็อกดาวน์แล้ว คงต้องมาลุ้นกันว่า ก้าวต่อไปหลังจากนี้ รูปแบบของธุรกิจส่งออกจะเป็นอย่างไร จะเกิด New Normal เหมือนธุรกิจอื่นหรือไม่ เพราะในสถานการณ์ปกติตลาดส่งออกสำคัญของไทยคือจีน และสหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบันก็ยังประสบปัญหาเดียวกันอยู่ ซึ่งปัญหาหลักที่กระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยก็ยังมีอีกด้วยกันหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ราคาน้ำมันที่ตกลง สงครามการค้า และปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น

รับมือความเสี่ยง เตรียมตัวให้พร้อมหลัง COVID-19

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK เผยข้อมูลเมื่อปลายเดือนมี.ค.ไว้ว่า ตลาดส่งออกสำคัญของไทยหลายประเทศ ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้พอสมควร ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดส่งออกสำคัญของไทย ดังนี้

  • ตลาดจีน : หดตัว 2% จากการส่งออกสินค้าบางส่วนอย่างผลไม้สด และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขณะเดียวกันเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ก็ทำให้สินค้าที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันหดตัวต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และการปิดเมืองของจีนก่อนหน้าก็อาจทำให้การส่งออกไปจีนหดตัวสูง ซึ่งไปกระทบกำลังซื้อ และ Supply Chain ต่าง ๆ
  • ตลาดสหรัฐฯ : หดตัว 37% จากฐานที่สูงในปีก่อน จากการส่งออกอาวุธหลังจากมีการฝึก Cobra Gold
  • ตลาด EU : ขยายตัว 1.2% การที่ตัวเลขส่งออกไทยไป EU ขยายตัวขึ้นอาจเพราะเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้นยังไม่เกิดการระบาดหนักในยุโรป ทำให้ตัวเลขที่สรุปออกมาจึงยังอยู่ในช่วงที่มีการขยายตัว
  • ตลาดญี่ปุ่น : หดตัว 11.1% สูงสุดเมื่อเทียบตลาดที่มีผู้ติดเชื้ออันดับต้น ๆ ของโลก โดยสินค้าที่กดดันการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นยังเป็นสินค้าอุตสาหกรรมเป็นหลัก แต่ยังมีสินค้าอาหารที่ยังขยายตัวได้ในช่วงนี้

อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า การส่งออกไทยจะฟื้นตัวได้นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่จะต้องฟื้นตัวตามไปด้วย

ธุรกิจเตรียมตัวอย่างไรให้รอดหลัง COVID-19

หลังคลายล็อคดาวน์ในวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา ธุรกิจหลาย ๆ อย่างกำลังจะกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ได้แก่ ตลาดสด, ร้านอาหาร, กิจการค้าปลีก-ส่ง, กีฬาสันทนาการ, ร้านตัดผม/ร้านเสริมสวย และกิจการอื่น ๆ เช่น ร้านตัดขนสัตว์เลี้ยง เป็นต้น

การจะฟื้นฟูธุรกิจทุกภาคส่วนให้กลับมา ‘เหมือนเดิม’ ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้กระทั่งประเทศจีนเองหลังจากปลดล็อคดาวน์ การซื้อ-ขายหลายอย่างก็ไม่ได้ลับมาคึกคักอย่างที่คิดไว้ เพราะไลฟ์สไตล์ของผู้คนและสภาพแวดล้อมบางอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว เกิด New Normal ใหม่ ๆ มากมาย

เว็บไซต์ economictimes.indiatimes ได้แนะนำวิธีการเตรียมตัวเพื่อให้ธุรกิจหลัง COVID-19 เอาไว้อยู่ 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่

  • ประเมินค่าใช้จ่ายเทียบกับรายได้ 

สำคัญมากในช่วงนี้ที่จะต้องคอยติดตาม ‘ตัวเลข’ ธุรกิจเอาไว้ให้ดีทั้งเงินเข้า และเงินออกการประเมินนี้จะให้ภาพชัดเจนขึ้นว่าบริษัทมีสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้วางแผนล่วงหน้าได้ในสภาวะที่ตลาดไม่มั่นคงแบบนี้

  • วางแผน Policy สำหรับ 3 เดือน/9เดือน/18เดือน

ตอนนี้เองเราก็ไม่รู้ว่า COVID-19 จะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน เราจึงต้องเตรียมอาวุธให้พร้อมรบกับทุกสถานการณ์ ถ้ามันยืดเยื้อเกิน 9 เดือนหรือ 1 ปี ก็อาจจะต้องวางแผนในการลดค่าใช้จ่าย มุ่งเน้นเฉพาะสิ่งสำคัญที่จำเป็นเพื่อความอยู่รอด รวมไปถึงการวางแผนเพื่อการสื่อสารให้กับพนักงานในองค์กรหากเกิดเหตุจำเป็นด้วย

  • ตรวจสอบความเป็นไปได้ของแผนธุรกิจ

เมื่อพิจารณาจากตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกสัปดาห์ คุณจำเป็นต้องพิจารณารูปแบบธุรกิจใหม่และประเมินว่าธุรกิจของคุณยืนอยู่ตรงไหน ระวังสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่สามารถพังธุรกิจเราได้แบบโดมิโน่

  • Play Safe กับการลงทุน

ธุรกิจทุกอย่างต้องการเงินทุนเพื่อดำเนินการ ฉะนั้นตอนนี้หากคุณจะลงทุนกับอะไรก็ควรจะพิจารณาให้ดี โดยเฉพาะธุรกิจส่งออกตอนนี้ที่ตลาดส่งออกหลักเองก็ยังแปรปรวน ฉะนั้นจะตัดสินใจลงทุนกับอะไรก็ควรจะ Play Safe ไว้ก่อนที่จะเกิดแผลเหวอะในภายหลัง

อีกหนึ่งทางออกสำคัญสำหรับคนทำธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจส่งออกด้วยนั้นควรจะต้องพัฒนาความรู้ และทักษะตัวเองให้พร้อมอยู่เสมอ เหมือนกับการติดอาวุธพร้อมรบในทุกสถานการณ์นั่นแหละ

เมื่ออนาคตเศรษฐกิจฟื้นตัว ธุรกิจอาจไม่ฟื้นตามหากยังคิดแบบเดิม ทำแบบเดิมกับช่วงก่อน COVID-19

“หากปล่อยให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ออกไปต่อสู้ในต่างประเทศเพียงลำพังหรือยังไม่มีความพร้อม อาจจะเกิดความเสียหายต่อตัวผู้ประกอบการเอง”

– พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK –

ส่วนหนึ่งจากบทความสัมภาษณ์ใน marketeeronline

After Shock After COVID-19 พัฒนาธุรกิจรับมือสถานการณ์หลัง COVID-19

การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก….นี่คือหนึ่งในคำบอกเล่าจากบทความของทาง EXIM BANK 

การที่จะให้ธุรกิจส่งออกกลับมาฟื้นตัวได้นั้นต้องอาศัยหลายปัจจัย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการสามารถเตรียมพร้อมได้ด้วยตัวเองเลยคือ ‘การเรียนรู้’ สิ่งใหม่ ๆ เพิ่ม เพื่อผลักดันธุรกิจให้รอดพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

EXAC (EXIM Excellence Academy) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า เป็นหน่วยงานส่วนหนึ่งภายใต้ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ( EXIM BANK) โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า จะเน้นมุ่งไปสู้เป้าหมายของการ “บ่มเพาะ ต่อยอด สร้างโอกาส” ซึ่งจะนำพาให้ผู้ประกอบการเข้มแข็ง และมีความรู้เพียงพอที่จะแข่งขันกับผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศได้

  1. บ่มเพาะ : EXAC จะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกรายใหม่ และผู้ส่งออกที่มีตลาดส่งออกแล้ว ให้เริ่มต้นการส่งออกได้เร็วกว่าที่จะต้องเริ่มด้วยตนเอง โดยการจัดกิจกรรมและบริการให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ประกอบการ
  2. ต่อยอด : EXAC จะช่วยสนับสนุนผู้ส่งออกรายใหม่ และผู้ส่งออกที่มีตลาดส่งออกแล้วให้มีความรู้ และทักษะในการส่งออกเพิ่มอย่างเข้มข้นขึ้น
  3. สร้างโอกาส : EXAC จะจัดกิจกรรมอีกหลากหลายเพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในการขยายความร่วมือและตลาดการค้า การลงทุน

สรุปง่าย ๆ ก็คือมีทั้งให้คำปรึกษา ให้ความรู้ แนะนำการลดความเสี่ยงส่งออก และสนับสนุนทางการเงิน  สำหรับผู้ที่เริ่มต้นจะทำการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs หรือผู้ที่ส่งออกอยู่แล้วแต่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อขยายตลาดให้กว้างไกลมากขึ้น

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://exac.exim.go.th/
หรือโทร 02 271 3700 ต่อ 3502
อีเมล exac@exim.go.th


ที่มาและบทความอ้างอิง :
https://exportimportpractical.com/biggest-risks-export-business-solutions/
https://www.prachachat.net/economy/news-452786
https://businesstoday.co/cover-story/21/04/2020/%E0%B8%AA%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B8%A1%E0%B8%B5-%E0%B8%84-63-%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%A7/
https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/428378
https://www.kaohoon.com/content/359213
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871254
https://economictimes.indiatimes.com/small-biz/hr-leadership/leadership/survival-strategies-for-businesses-during-covid-19-lockdown/articleshow/75371157.cms?from=mdr

Tags::