LOADING

Type to search

มองเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤต COVID-19 ผ่านมุมมองการเงินการคลัง ความเหลื่อมล้ำ และสาธารณสุขไทย

มองเศรษฐกิจไทยหลังวิกฤต COVID-19 ผ่านมุมมองการเงินการคลัง ความเหลื่อมล้ำ และสาธารณสุขไทย
Share

COVID-19 คือมหาพายุ (Perfect Storm) ที่สร้างผลกระทบไปถึงทุกภาคส่วน เมืองต้องหยุดชะงัก สังคมต้องถอยห่างออกจากกัน และสิ่งที่ได้รับผลกระทบซึ่งจะส่งผลถึงพวกเราทุกคนคือเรื่องของเศรษฐกิจ

Future After COVID-19 งานเสวนาออนไลน์ Virtual Conference ครั้งแรกจาก Future Trends EP.1 ‘Thailand After COVID-19’ เราได้พูดคุย ถกประเด็นเรื่องราวเศรษฐกิจต่อจากนี้ไปในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่การเงินการคลังของภาครัฐ ความเหลื่อมล้ำในผู้คน และสาธารณสุขที่เป็นเหมือนปราการหลักของวิกฤตนี้ เพื่อค้นหาว่าประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

และนี่คือ 3 ประเด็นจาก EP.1 Thailand After COVID-19

การเงิน การคลัง จะเป็นอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19 โดยคุณกรณ์ จาติกวณิช

สำหรับหัวข้อแรกว่าด้วยสถานการณ์การเงิน การคลัง ในช่วง COVID-19 ปัจจุบัน และแนวทางการแก้ไข-พัฒนาต่อในอนาคตนั้น คุณกรณ์ได้ยกประเด็นที่น่าสนใจมาหลายหัวข้อด้วยกัน ดังนี้

• การจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ
คุณกรณ์เสนอว่า ต้องมีการจัดสรรงบประมาณตามพ.ร.บ.งบประมาณปี 2563 ใหม่ ด้วยความที่พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้เพิ่งจะมีการบังคับใช้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา งบประมาณส่วนนั้นจึงยังสามารถปรับไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ตอนนี้ได้ ส่วนพ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 ที่กำลังจะมีการพิจารณา และเริ่มบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้ กรณ์มองว่า ต้องดึงกลับมารื้อใหม่ทั้งหมดเช่นกัน เพราะเนื้อหาร่างมีการพิจารณาก่อนที่วิกฤต COVID-19 จะเกิดขึ้น

• ฟื้นฟูธุรกิจ SMEs และเยียวยาประชาชน คือวาระเร่งด่วนมากที่สุด
การจัดลำดับความสำคัญที่เร่งด่วนที่สุดคือ การช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเรื่องนี้เชื่อมโยงไปถึงอัตราการว่างงานของลูกจ้างในธุรกิจรายย่อยด้วย เขาเสนอให้รัฐบาลลงไปช่วย SMEs โดยตรงด้วยการจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้าง SMEs แทนผู้ประกอบการรายละ 6,000บาท ต่อลูกจ้างหนึ่งคน ส่วนการเยียวยาประชาชนหาเช้ากินค่ำนั้น รัฐต้องออกเร่งมาตรการใหม่ๆ เพราะตอนนี้ไทยยังไม่มีรัฐสวัสดิการที่ดีพอ การจ่ายเงินเยียวยารายละ 5,000บาท จึงไม่อาจครอบคลุมความเดือดร้อนได้ทั้งหมด

• ข้อกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะ
ส่วนของหนี้ครัวเรือนต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนสะสมของไทยอยู่ที่ร้อยละ 50-60 แต่เมื่อมีวิกฤตโรคระบาดเข้ามา ตัวเลขหนี้ครัวเรือนตอนนี้จึงอยู่ที่ร้อยละ 80 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ผลสะเทือนต่อมาที่น่าจะเกิดขึ้นคือ ภาระดอกเบี้ยในภาคประชาชนเยอะขึ้น กำลังซื้อลดลง รายได้ของประชาชนก็ไม่เพิ่มขึ้น หรืออาจลดลงด้วยซ้ำโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกร ทั้งหมดนี้เมื่อรวมกันจึงนำไปสู่ภาพรวมของเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ย่ำแย่ลง

สำหรับสถานการณ์ตัวเลขหนี้สาธารณะตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 40 ต่อ GDP เมื่อนำไปเทียบกับเพดานการกู้เงินของรัฐที่ร้อยละ 60 แล้ว รัฐบาลจึงยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินได้อยู่ กรณ์มองว่า รัฐบาลตอนนี้มีความสามารถในการแบกภาระหนี้ มากกว่าจะให้ประชาชนแบกรับหนี้ครัวเรือน นี่จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลต้องใช้ และต้องทำทันที

• New Reality ที่ทุกคนต้องเจอ
โดยสรุปแล้วกรณ์มองว่า คนไทยต้องเตรียมรับมือกับ ‘New Reality’ นั่นคือ คนไทยทุกคนจะยากจนลงอีกแน่นอน ตลาดหุ้นอาจจะดีขึ้นมาบ้างแต่ก็ยังต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ซึ่งในภาพใหญ่แล้วเศรษฐกิจไทยจะยังซบเซาไปอีกสักพัก เพราะเราพึ่งพาการทำธุรกิจกับต่างประเทศค่อนข้างมาก การส่งออกที่ยังดีอยู่มีเพียงสินค้าประเภทอาหารที่ส่งออกไปยังจีนเท่านั้น เรื่องกำลังซื้อภายในประเทศยังต้องค่อยๆ ฟื้นตัว

Thailand COVID-19 ในวิกฤตความเหลื่อมล้ำ โดยคุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ประเด็นที่สอง ได้แก่ เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงวิกฤตนี้ คุณพิธาได้เปรียบเปรย COVID-19 เป็นเหมือนพายุลูกใหญ่ ที่ไม่ได้แค่ผ่านเข้ามาสร้างความเสียหาย แต่ได้พัดสิ่งต่างๆ ที่เคยซุกอยู่ใต้พรมให้ปรากฏออกมาเห็นชัด

• สิทธิที่เข้าไม่ถึง และการเว้นระยะห่างที่ไม่มีการเหลียวมอง
คนที่เปราะบางที่สุดในช่วงเวลานี้ คือเหล่าคนชายขอบที่อยู่ห่างไกล ห่างไกลทั้งในพื้นที่ และห่างไกลทั้งทางเศรษฐกิจ เพราะปัญหาต่อเนื่องจากการที่ประเทศไทยไม่มีการกระจายอำนาจ ทำให้จังหวัดที่ห่างไกล ไม่ใช่หัวเมืองใหญ่ ขาดทรัพยากรในการดูแลตัวเอง หรือเยียวยาผู้คน และผู้มีรายได้น้อย หรือขาดรายได้ ก็ยิ่งกลายเป็นคนที่ขาดไร้รายได้หนักกว่าเดิม ปัญหาสำคัญจึงเป็นการเข้าไม่ถึงสิทธิ ทั้งเงินเยียวยา 5000 บาท ไปจนถึงสิทธิอื่นๆ ทั้งการเข้าถึงเทคโนโลยี เข้าถึงบริการ ไปจนถึงการเข้าถึงน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งในขณะเดียวกันนี้ มาตรการ Lockdown เพื่อเว้นระยะห่างทางสังคมจึงทำให้คนที่เข้าถึงสิทธิต่างๆ ได้ยากอยู่แล้ว กลับเข้าถึงสิทธิ และรายได้ในช่องทางต่างๆ ยากไปอีก

• คนจนตกขอบ และชนชั้นกลางอาจหายไป
สืบเนื่องจากประเด็นก่อนหน้า คนขายขอบจะขาดรายได้ และเผชิญหน้าปัญหาอย่างลำบากและดิ้นรน แต่ปัญหาไม่ได้กระทบแค่คนกลุ่มเดียว เหล่าชนชั้นกลางที่อาจเหมือนจะอยู่รอดเองก็อาจมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำลง เมื่อเศรษฐกิจทั้งระบบล้ม คนทุกคนต่างจนลงมากกว่าเดิม แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ก็ยังมีกลุ่มคนที่สามารถแสวหาผลกำไร สร้างการเติบโตในช่วงวิกฤตนี้ได้ ที่เราเห็นกันชัดๆก็คือกลุ่มนายทุนใหญ่ที่มีต้นทุนสูงอยู่แล้ว และสามารถบงการตลาด ควบคุมความเป็นไปของสินค้า และสร้างผลกำไรจากสถานการณ์วิกฤตได้อย่างง่ายดาย จากวิกฤตนี้จึงจะทำให้ภาพพีรามิดเดิมเปลี่ยนไป ฐานล่างที่ใหญ่จะยิ่งขยายวงกว้างขึ้นไปอีก ในขณะที่ยอดพีรามิดจะสูงขึ้น และแคบลง

• โอกาสเกษตรไทย เมื่อโลกต้องการอาหารยั่งยืน
แม้ COVID-19 จะกระทบภาคเกษตรกรไม่น้อยกว่าภาคอื่น แต่ในขณะเดียวกันวิกฤตนี้ก็อาจเป็นโอกาสของเกษตรกรไทย เพราะในขณะที่ตลาดโลกมีความต้องการความยั่งยืนทางอาหาร และประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตอาหารที่สูง และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของเอเชีย หากเกษตรกรได้รับการสนับสนุน ภาคการเกษตรของไทยอาจเป็นสิ่งที่มีบทบาทให้ไทยกลายเป็นผู้เล่นที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก

สิ่งสำคัญในขณะนี้คือการที่ไทยจะต้องหาแกนหลักของตัวเอง และหาทางกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลาย เพื่อความมั่นคงที่ยั่งยืนกว้า และสร้างศักยภาพในการฟื้นตัว และความยืดหยุ่นที่มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยจึงอาจเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข เพื่อให้เศรษฐกิจไทยแข็งแรงได้กว่าที่เคย

สาธารณสุขไทย ก้าวต่อไปอย่างไรหลังวิกฤต COVID-19 โดยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ประเด็นถัดมา ได้แก่ การพัฒนาด้านสาธารณสุขไทย ซึ่งคุณหญิงยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ปัญหาด้านวิกฤตสาธารณสุขมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยด้วย

• การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขคือ การมองไปข้างหน้า
อย่างที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า การแพทย์และระบบสาธารณสุขไทยมีการวางรากฐานมาค่อนข้างดีมากอยู่แล้ว ซึ่งคุณหญิงเองในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็มองว่า หลังวิกฤต COVID-19 ต้องมีการเสริมสร้างพื้นฐานตรงนี้ให้แข็งมากมากขึ้นไปอีก การลงทุนแบบนี้จะช่วยให้ไทยเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาจากต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงกับรายได้เข้าประเทศต่อไป

• ป้องกัน second wave ด้วยแคมเปญ ‘เที่ยวไทยปลอดโรค ประเทศไทยปลอดภัย’
ในส่วนนี้คุณหญิงให้ความเห็นว่า รัฐต้องสร้างมาตรฐานด้านสาธารณสุขครอบคลุมทุกธุรกิจ การเปิดเมืองสามารถทำได้แต่จะต้องเปิดอย่างมีข้อบังคับ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงคนไทยเองด้วย เบื้องต้นควรใช้พระราชบัญญัติควบคุมโรคกับภาคบริการก่อนว่า แต่ละภาคส่วนต้องมีมาตรการอย่างไร ให้ทำเป็นส่วนๆ ทีละจังหวัดไปเรื่อยๆ เพื่อการันตีว่า เดินทางมาจังหวัดนี้ปลอดภัยปลอดโรคแน่นอน และแคมเปญนี้ต้องทำให้ได้ภายในไตรมาสที่ 3 ครบทุกจังหวัดทั้งประเทศ

• เตรียมรับมือ pandemic prevention ด้วย ‘future income’
จากวิกฤตครั้งนี้ทำให้เราเห็นเลยว่า ประเทศไทยพึ่งพา และให้น้ำหนักไปกับภาคธุรกิจส่วนใดส่วนหนึ่งมากจนเกินไป คุณหญิงมองว่า ไทยพึ่งพาต่างชาติเยอะมากในส่วนของการท่องเที่ยว และส่งออก ฉะนั้นรัฐต้องเตรียมความพร้อมด้วยการอัดฉัดเม็ดเงินเข้าไปในส่วนภาคธุรกิจให้ได้มากที่สุด รวมถึงรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้าด้วย

อีกส่วนสำคัญที่คุณหญิงมองเป็นโอกาสก็คือ การเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ถ้าเป็นเด็กวัยประถม-มัธยม คุณหญิงเสนอให้รัฐแจกคูปองให้เด็กเรียนเสริมทักษะฟรี ทั้งการเรียนภาษา เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือการเรียน coding ที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาด ส่วนคนทำงานอาจจะต้องมีการ reskill & upskill เพิ่มเติมเพื่อตั้งรับกับ digital disruption ด้วย

ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่เราได้รวบรวมมาจาก Virtual Conference EP.1 Thailand After COVID-19 หากใครที่อยากติดตามไลฟ์ฉบับเต็ม สามารถดูย้อนหลังได้ที่ Future Trends และ Youtube Channel

Tags::

You Might also Like