LOADING

Type to search

รู้จัก ‘คาโรชิ’ วัฒนธรรม ‘ทำงานจนตาย’ ไม่อยากจบชีวิตคาโต๊ะทำงานต้องทำอย่างไร

รู้จัก ‘คาโรชิ’ วัฒนธรรม ‘ทำงานจนตาย’ ไม่อยากจบชีวิตคาโต๊ะทำงานต้องทำอย่างไร
Share

การเสียชีวิตเนื่องจากทำงานติดต่อกันนานเกินไปไม่ใช่เรื่องใหม่ องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยเปิดเผยสถิติ พบว่า ทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปมากถึง 745,000 คน ในปี 2016

ผู้เสียชีวิตกลุ่มนี้ทำงานสัปดาห์ละ 55 ชั่วโมงขึ้นไป และการทำงานติดต่อกันนานเกินไป ส่งผลโดยตรงให้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหัวใจขาดเลือด การเสียชีวิตเพราะทำงานหนักเกินไป คิดเป็น 1 ใน 3 ของสาเหตุการตายทั้งหมด

หากพูดถึงวัฒนธรรม ‘บ้างาน’ และทำงานจนเสียชีวิตคาออฟฟิศ ต้องยกให้ชาวญี่ปุ่น ถึงขั้นมีศัพท์เฉพาะเรียกการตายแบบนี้ว่า ‘คาโรชิ’ (Karoshi) หรือแปลตรงตัวว่า “ทำงานหนักเกินไปจนตาย”

รัฐบาลญี่ปุ่น ยอมรับว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากคาโรชิแต่ละปีมีประมาณ 200 ราย แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้ใช้แรงงานบอกว่า ตัวเลขจริงน่าจะสูงถึง 10,000 ราย โดยสายด่วนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับสภาพการทำงานเพื่อขอเงินชดเชยจากรัฐบาล มีคนโทรเข้ามาประมาณ 100 – 300 สายทุกปี

วัฒนธรรมคาโรชิ เชื่อว่า เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970s หลังเกิดวิกฤตน้ำมัน ทำให้โครงสร้างการทำงานในบริษัทต่างๆ เปลี่ยนไป ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงาน บริษัทใหญ่ๆ พยายามลดต้นทุนด้วยการ ‘เลย์ออฟ’ และเพิ่มงานให้กับพนักงานที่ยังอยู่

จุงโกะ คิตานากะ (Junko Kitanaka) นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคโอะ (Keio University) เริ่มศึกษาวัฒนธรรมคาโรชิอย่างจริงจังในทศวรรษ 1990s 

ช่วงนั้นมีข่าวนักธุรกิจหลายราย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยกลางคน ทำงานหนักติดต่อกันหลายชั่วโมงจนเสียชีวิต เพราะระบบภายในร่างกายล้มเหลว หรือไม่ก็เลือกจบชีวิตตัวเองเพราะความเครียดในหน้าที่การงาน

จุงโกะ บอกว่า ยุคนั้นวัฒนธรรมคาโรชิ ยังถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในยุโรป และอเมริกา ทุกคนที่ฟังผลงานวิชาการของเธอ ล้วนสงสัยและตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมบ้างานของคนญี่ปุ่น แต่ปัจจุบัน สิ่งนั้นได้เกิดขึ้นแล้วทั่วโลก

“การทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง” นักวิจัยของ WHO ระบุในแถลงการณ์ 

“มันถึงเวลาแล้วที่เราทุกคน ทั้งรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ต้องตื่นตัวกับข้อเท็จจริงที่ว่า การทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานๆ สามารถทำให้เราเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”

นักวิจัย บอกว่า เทรนด์การทำงานแบบใหม่อย่าง work from home, work from anywhere หรือไฮบริด (ทั้งเข้าออฟฟิศและทำงานที่บ้านสลับกัน) ก็อาจทำให้ชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว

ผลการศึกษาในปี 2020 ช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด พบว่า คนทำงานในอเมริกาเหนือ ยุโรป และตะวันออกกลาง ทำงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นวันละ 48 นาที

วิธีป้องกันคาโรชิ อันดับแรก คือ การนับชั่วโมงการทำงานของตัวเองไม่ให้เกินตัวเลขที่นักวิชาการเตือนไว้

“ในกรณีคาโรชิทุกเคสที่เกิดขึ้น ปัญหาสำคัญคือ ไม่มีการเก็บสถิติการทำงานจริงที่ถูกต้องแม่นยำมาคำนวณ” สก็อตต์ นอร์ท ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยโอซากา ซึ่งศึกษาวัฒนธรรมคาโรชิ มาเป็นเวลา 30 ปี กล่าว

การไม่เก็บบันทึกชั่วโมงการทำงานของตัวเอง นอกจากจะทำให้ทำงานนานเกินไปโดยไม่รู้ตัว ยังทำให้เสียสิทธิจากค่าล่วงเวลาที่ควรได้ หรือเสียเวลาส่วนตัวที่ควรใช้พักผ่อน หรืออยู่กับครอบครัวไป

มาโกโตะ อิวาฮาชิ จากองค์กรสิทธิผู้ใช้แรงงาน POSSE บอกว่า การสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยของวัฒนธรรมคาโรชิ ควรเริ่มที่คนในครอบครัว

“ผู้คนรู้ดีว่า มันมีความเสี่ยงที่คุณจะเสียชีวิต หากทำงานยาวนานเกินไป ซึ่งนั่นไม่ใช่สามัญสำนึกของคนเมื่อ 20 – 30 ปีก่อน” ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงควรตระหนักถึงภัยเงียบนี้ และพยายามเตือนคนในครอบครัว เมื่อพบความเสี่ยงดังกล่าว

“ทุกคนต้องระลึกไว้เสมอว่า คุณมีโอกาสเสียชีวิตจากการทำงาน ดังนั้น จึงต้องป้องกันตัวเองไว้ให้ดี” อิวาฮาชิ กล่าว

WHO แนะนำให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมชั่วโมงการทำงาน และเจรจาต่อรองกับภาคธุรกิจ ให้กำหนดชั่วโมงทำงานสูงสุดไว้ให้ชัดเจน 

อย่างไรก็ตาม เดวิด ฮัดกินส์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และสังคมศาตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม ในสหรัฐฯ แย้งว่า หน้าที่ควบคุมชั่วโมงการทำงานควรเป็นกลไกตลาด และมาจากข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

เขาแนะนำให้ลูกจ้างและผู้จัดการควรสื่อสารกันให้มากขึ้น เพื่อตกลงกันเกี่ยวกับตารางการทำงานที่เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และกำจัดชั่วโมงทำงาน รวมถึงภาระหน้าที่ที่ไม่จำเป็นทิ้งไป

ฮัดกินส์​ บอกว่า บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งในญี่ปุ่น นำเทคนิคนี้ไปใช้ และสามารถลดการทำงานล่วงเวลาลงได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์

“บริษัทควรมองพนักงานเป็นสินทรัพย์ที่ต้องรักษาไว้” ฮัดกินส์ กล่าว “ในมุมนี้ คุณสามารถป้องกันคาโรชิได้อย่างง่ายดาย มันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์”

เขียนโดย Phanuwat Auaudomchaisakun

Source: http://bit.ly/3JIwn3V

Tags::