LOADING

Type to search

ปัญหาถาโถม จนไม่มีใจอยากไปต่อ ‘Mental Fatigue’ สัญญาณอันตรายที่เป็นต้นกำเนิดของความ ‘หมดไฟ’
Share

‘ปัญหา’ สิ่งที่ใครๆ ก็ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ในโลกของการทำงานกลับเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต่อให้จะทำงานแบบรัดกุมแค่ไหน ก็อาจจะเจอปัญหาเรื่องคน การประสานงาน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เสมอ โดยเฉพาะหัวหน้าที่ต้องคอยรับแรงปะทะจากปัญหาที่เข้ามาทุกทิศทุกทาง

ถึงแม้หลายๆ คนจะพยายามทำใจยอมรับว่า ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เวลาทำงานอยู่แล้ว แต่ความเครียดและความกังวลใจยามที่ต้องเผชิญปัญหากลับฝังลึกและสะสมอยู่ในใจโดยไม่รู้ตัว

มิหนำซ้ำ ปี 2022 ยังเป็นปีที่มีเหตุการณ์หลายๆ อย่างเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อคนทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงการเลย์ออฟ (Layoff) หรือการปลดพนักงานจำนวนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้หลายๆ คนเกิดความกดดัน และรู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้เป็นผู้รอดชีวิตท่ามกลางสถานการณ์ที่เลวร้าย

เมื่อปัญหาถาโถมเข้ามาเกินจะรับไหว สภาพจิตใจที่เคยแข็งแกร่งก็อ่อนแอลง ยิ่งปล่อยไว้นานเกินไป สุขภาพกายและใจจะพังเกินเยียวยา จนกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Mental Fatigue’ หรือ ‘อาการเหนื่อยล้าทางใจ’

‘Mental Fatigue’ คืออะไร?

Mental Fatigue
Image by pvproductions on Freepik

หลายๆ คนที่ต้องทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน คงมีอาการหัวตื้อ สมองตัน คิดอะไรไม่ค่อยออก และรู้สึกเหนื่อยแม้จะไม่ได้ออกแรงทำอะไรมากมายก็ตาม ซึ่งอาการเหล่านี้ คือสัญญาณที่บอกว่า “เรากำลังอยู่ในภาวะ Mental Fatigue แล้ว”

Mental Fatigue เป็นคำอธิบายอาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย มีสาเหตุมาจากความเครียด และการใช้สมองอย่างหนัก

งานวิจัยจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปีเต-แซลแปตริแยร์ (Pitié-Salpêtrière University Hospital) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ระบุว่า อาการเหนื่อยล้าทางใจไม่ได้เป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น แต่เป็นผลมาจากการที่สมองหลั่งสารเคมีที่ชื่อ ‘กลูตาเมต’ (Glutamate) บริเวณสมองส่วนหน้ามากเกินไป

ซึ่งกลูตาเมต คือสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำและการเรียนรู้ หากในสมองมีการหลั่งกลูตาเมตมากเกินไป จะทำให้เป็นพิษต่อเซลล์ประสาท และเป็นสาเหตุของโรคทางระบบประสาทอีกมากมาย

นอกจากอาการเหนื่อยล้าทางใจจะเป็นสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บที่เข้ามาใกล้ตัวเต็มที ยังเป็นสาเหตุทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และรู้สึกหมดไฟ (Burnout) จนไม่มีแรงใจจะทำงานมากกว่าเดิม

ในเมื่ออาการเหนื่อยล้าทางใจเป็นโทษกับสุขภาพกายและใจมากเช่นนี้ จะมีวิธีกำจัดอาการเหนื่อยล้าออกไปได้อย่างไรบ้าง?

3 เทคนิคเพิ่มความแจ่มใสให้จิตใจ ห่างไกล ‘Mental Fatigue’

ถึงแม้ว่า คณะผู้วิจัยจะยังไม่สามารถหาวิธีจัดการกับปริมาณกลูตาเมตที่สมองหลั่งออกมาได้อย่างชัดเจน แต่เราก็มีเทคนิคดีๆ จากเว็บไซต์ SciTechDaily มาฝากด้วยกันทั้งหมด 3 ข้อ เพื่อให้ทุกคนได้ลองนำไปปรับใช้ และเพิ่มความแจ่มใสให้จิตใจตามสไตล์ของตัวเอง

Self Love
Image by rawpixel.com on Freepik

1. ให้ความสำคัญกับนอนหลับ

วิธีการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ได้ร่ำเรียนกันมาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะเป็นการเข้านอนตอนหัวค่ำ หรือการนอนให้ได้อย่างน้อย 7 ชั่วโมงก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้กลับทำได้ยาก เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่วัยทำงาน

ไม่ว่าจะด้วยงานที่ติดพัน หรือความเครียดที่ตามไปหลอกหลอนก่อนนอนก็ต้องสลัดให้หลุด เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะเป็นช่วงที่ร่างกายได้ฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้าแล้ว ยังเป็นช่วงที่สมองได้กำจัดกลูตาเมตที่หลั่งมาตลอดทั้งวันด้วย

2. ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน

สมองต้องการพลังงานคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ได้รับเข้าไปทั้งหมด หากต้องการสร้างความกระปรี้กระเปร่า เพื่อที่จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทและหน่วยความจำในสมอง เช่น บลูเบอร์รี น้ำมันปลา ถั่ว เป็นต้น

นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว การดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะน้ำจะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในร่างกาย และช่วยให้ระบบการไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดี ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้น

3. หยุดทำงานแบบมัลติทาสก์ (Multitask)

หลายๆ คนคงติดนิสัยการทำงานแบบมัลติทาสก์ หรือการทำงานหลายๆ อย่างในเวลาเดียว เพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่จริงๆ แล้วกลับให้ผลลัพธ์ในทิศทางตรงข้าม แทนที่จะโฟกัสกับการทำงานชิ้นแรกให้เสร็จไปเลย ก็ต้องสลับไปมาและเสียเวลาในการทำความเข้าใจงานชิ้นใหม่แทน ส่งผลให้สมองต้องทำงานมากขึ้น และเกิดการหลั่งกลูเมตมากกว่าเดิม

หัวใจสำคัญของการกำจัดอาการเหนื่อยล้าทางใจ ต้องเริ่มจากการที่ตัวเราเองมีลิมิตในการทำงาน ถึงแม้จะเป็นคนที่รักในความสมบูรณ์แบบ และไม่สามารถปล่อยงานที่ไม่มีคุณภาพออกไปได้ แต่การทำงานที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน

แล้วคุณล่ะ มีวิธีการกำจัดอาการเหนื่อยล้าของตัวเองอย่างไร?

Sources: https://bloom.bg/3r7lYUS

https://bit.ly/3BRLy5j

https://bit.ly/3BPpjg1

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like