LOADING

Type to search

ข่าวร้ายทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ทั้งทีม 4 เทคนิคเอาตัวรอดในยามที่ต้องเผชิญกับข่าวร้าย

ข่าวร้ายทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ทั้งทีม 4 เทคนิคเอาตัวรอดในยามที่ต้องเผชิญกับข่าวร้าย
Share

ด้วยธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ต้องการรู้สึกถึงความเศร้าโศกก็ล้วนแต่เลือกที่จะฟังเพียงข่าวดี เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุข แต่ในความเป็นจริง ชีวิตของคนเราต้องพบเจอข่าวดีและข่าวร้ายปะปนกันไป ต่อให้จะไม่ต้องการฟังข่าวร้ายมากแค่ไหน ก็หลีกหนีไม่พ้นอยู่ดี

“สุขเศร้าเคล้าน้ำตา”

หลายๆ คนที่ใช้ชีวิตวัยทำงานมาได้สักพักคงเข้าใจความหมายของวลีนี้เป็นอย่างดี เพราะในโลกของการทำงาน ยิ่งต้องพบเจอทั้งสองสิ่งสลับกันไป บางทีต้องรับฟังทั้งข่าวดีและข่าวร้ายในเวลาเดียวกัน หรือถ้าโชคร้ายกว่านั้น ข่าวดีจะเป็นเพียงสิ่งที่ได้ยินนานๆ ที แต่ข่าวร้ายจะกลายเป็นสิ่งที่ได้ยินในทุกๆ วัน

ยามที่คนเรารับรู้ข่าวดีอย่างการพิชิตเป้าหมายตามตัวเลข KPI หรือ OKR ได้สำเร็จ การเลื่อนตำแหน่ง และการปรับขึ้นเงินเดือน หัวใจจะพองโตแค่ในระยะหนึ่ง ความสุขที่มีจะแค่ชั่วครั้งชั่วคราว จากนั้นทุกอย่างก็จะวนกลับไปยังสภาพเดิมเฉกเช่นก่อนที่จะรับรู้ข่าวดี

แต่ยามที่รับรู้ข่าวร้าย ไม่ว่าจะเป็นยอดขายลดลง การลาออกของคนสำคัญ หรือแม้แต่การปรับลดจำนวนพนักงาน (Layoff) เพื่อปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง ความรู้สึกเสียใจที่เกิดขึ้นกลับทำให้หลายๆ คนตกอยู่ในวังวนของความเศร้า และไม่สามารถพาตัวเองออกจากห้วงความคิดเหล่านี้ได้

มิหนำซ้ำ การตกอยู่ในวังวนของความเศร้าโศก ยังส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย เพราะผลการสำรวจจากเว็บไซต์ Leadership IQ พบว่า พนักงานมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากที่ได้รับฟังข่าวร้ายอย่างข่าวการปรับลดจำนวนพนักงานถึง 74 เปอร์เซ็นต์

สุดท้ายแล้ว ข่าวร้ายที่คนพูดไม่ต้องการจะพูด (แต่จะไม่พูดก็ไม่ได้) ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำร้ายความสามารถของพนักงานในทางอ้อมอยู่ดี…

ยิ่งไปกว่านั้น หากข่าวร้ายส่งผลกระทบกับทีมใดทีมหนึ่งโดยตรง ก็ยิ่งทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ทั้งทีม โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้าที่แม้จะมีสภาพจิตใจย่ำแย่ไม่แพ้คนในทีม แต่ก็ต้องเป็นเสาหลักของทีมในเวลาที่เกิดเรื่องเช่นนี้ให้ได้ รวมถึงต้องคอยคิดหาวิธีการรับมือกับผลของข่าวร้าย และกำหนดทิศทางการเดินหน้าของทีมต่อไป

แล้วสำหรับหัวหน้าที่ต้องเป็นเสาหลักของทีม และเป็นแม่ทัพพาทีมเดินหน้าต่อ จะมีวิธีเอาตัวรอดในยามที่ต้องเผชิญกับข่าวร้ายอย่างไรได้บ้าง?

Bad News
Image by Drazen Zigic on Freepik

Future Trends จึงนำเทคนิคการเอาตัวรอดในยามที่ต้องเผชิญกับข่าวร้ายจาก ‘ซูซาน เปปเปอร์คอร์น’ (Susan Peppercorn) คอลัมนิสต์ที่มีผลงานมากมายบนเว็บไซต์ของสำนักข่าวชั้นนำระดับโลกอย่าง New York Times และ Wall Street Journal มาฝากทุกคนด้วยกันทั้งหมด 4 ข้อ ดังนี้

1. จงจำไว้ว่า ความคิดและการแสดงออก ‘เชื่อมถึงกัน’

เมื่อทีมได้รับข่าวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อทีมหรือใครคนใดคนหนึ่งในทีมโดยตรง ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกคนจะรู้สึกไม่ปลอดภัย และหวนคิดถึงเรื่องนี้ตลอดเวลาว่า “ฉันควรทำอย่างไรต่อไป” หรือ “ฉันจะก้าวไปในทิศทางไหนต่อดี” จนไม่มีสมาธิในการทำงานเท่าเดิม ส่งผลไปถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงด้วย

ดังนั้น สิ่งแรกที่หัวหน้าควรทำหลังจากที่ทีมได้รับข่าวร้าย ก็คือการดูแล ‘ใจ’ และ ‘ความรู้สึก’ ของทีม อาจจะเป็นการพูดคุยสั้นๆ ด้วยบรรยากาศที่สบายๆ ให้ลูกทีมรู้สึกว่าตัวเองยังมีหัวหน้าที่ทำงานด้วยกันทุกวันเป็นที่พึ่งพิง และไม่รู้สึกโดดเดี่ยวที่ต้องเผชิญกับข่าวร้ายตามลำพัง

2. ตรงไปตรงมา

หลังจากที่หัวหน้าสามารถลดความตึงเครียดจากการเผชิญกับข่าวร้าย และทำให้ลูกทีมเกิดความอุ่นใจได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่หัวหน้าต้องชี้แจงว่า ทำไมจึงเกิดข่าวร้ายเช่นนี้ขึ้น แล้วทำไมทีมของเราถึงได้รับผลกระทบโดยตรง เพื่อให้ลูกทีมเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน และไม่เกิดความเข้าใจแบบผิดๆ เพราะหัวหน้าถือเป็น ‘คนวงใน’ ที่ได้รับฟังข่าวสารมาอย่างถูกต้องที่สุด เมื่อเทียบกับคนอื่นๆ ในทีม

3. สื่อสารอย่างชัดเจน

ถึงแม้จะมีข่าวร้ายเข้ามาทำให้การทำงานในทีมสั่นคลอน แต่ทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งหัวหน้าก็ต้องนำทีมด้วยการสื่อสารที่มากขึ้น พูดคุยกับทีมบ่อยๆ เพื่อหาทางออกร่วมกัน เช่น สถานการณ์ที่ทีมได้รับผลกระทบจากการปรับลดจำนวนพนักงาน ทำให้มีงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นในขณะที่จำนวนคนลดลง เป็นต้น

แต่ภายใต้การสื่อสารที่มากขึ้น จะต้องไม่ทำให้ทีมรู้สึกอึดอัดจนเกินไป เพราะในยามที่ต้องเผชิญกับข่าวร้าย และสถานการณ์ทุกอย่างยังคงคลุมเครือ ทุกคนจะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ที่อาจจะพัฒนาเป็นความรู้สึกในเชิงลบนั่นเอง

4. คอยอ่านสถานการณ์ในทีมอยู่เสมอ

นอกจากหัวหน้าจะต้องสื่อสารกับทีมอย่างชัดเจนแล้ว ยังต้องคอยอ่านสถานการณ์และความเป็นไปในทีมอยู่เสมอ อย่างที่กล่าวไปในข้อก่อนหน้าว่า ทุกคนจะมีความอ่อนไหวทางอารมณ์มากขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานต่างไปจากเดิม รวมถึงบางคนในทีมก็ไม่ได้แสดงความรู้สึกกังวลอย่างตรงไปตรงมา จนอาจกลายเป็นระเบิดเวลาที่หัวหน้าต้องตามมาแก้ไขต่อไป

สุดท้ายแล้ว ความสามารถในการเผชิญกับข่าวร้ายของแต่ละคนก็ไม่เท่ากันอยู่ดี ต่อให้หัวหน้าจะพยายามเยียวยาใจทีมหรือปลดล็อกความรู้สึกในใจของลูกทีมแต่ละคนมากแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมที่จะนึกถึงสภาพจิตใจของตัวเองด้วย เพราะถ้าแม่ทัพที่นำทีมอ่อนแอ การพาทีมเดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก

Sources: https://bit.ly/3U3ayyK

https://bit.ly/3Qqx7u6

https://bit.ly/3TTMEFO

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1