LOADING

Type to search

ไม่ได้มาจากคนทำงาน แต่เกิดจากระบบต่างหาก ว่าด้วยการ Burnout ซ้ำๆ เพราะโครงสร้างองค์กร

ไม่ได้มาจากคนทำงาน แต่เกิดจากระบบต่างหาก ว่าด้วยการ Burnout ซ้ำๆ เพราะโครงสร้างองค์กร
Share

ลูกน้องหมดไฟ ไม่อยากไปต่อ เบื่อ เครียด ทำงานแบบเช้าชามเย็นชามนับเป็นหนึ่งในปัญหาอันตรายที่คนเป็นหัวหน้าอย่างเราๆ แก้ไม่ตกกันเลยทีเดียว เพราะนอกจากจะลดประสิทธิภาพของงานลงแล้ว ก็อาจนำไปสู่ ‘ภาวะสมองไหล’ ลูกน้องแห่กันมายื่นใบลาออกด้วย

ทุกวันนี้ หากเราลองเสิร์จวิธีแก้อาการหมดไฟ ก็จะพบว่า หลายเว็บไซต์ได้พูดถึงฮาวทูไว้เพียบ ซึ่งหลักๆ แล้ว ก็มีแก่นแกนเดียวกันคือ การที่ให้คนหมดไฟเริ่มต้นแก้ปัญหาที่ ‘ตัวเอง’ ไม่ว่าจะเป็นการออกไปเที่ยว การพักผ่อน การหางานอดิเรกทำ การออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งการปรับมุมมองของตัวเองใหม่ก็ตาม

มีบทความหนึ่งบนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ได้พูดถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จริงๆ แล้ว Burnout ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัว แต่เป็น ‘ปัญหาของบริษัท’ ต่างหาก พูดง่ายๆ ก็คือ โทษคนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องย้อนกลับมาดูต้นตออย่าง ‘โครงสร้างที่บิดเบี้ยวขององค์กร’ แถมก็ไม่ใช่ความพยายามของลูกน้องที่ต้องก้มหน้ายอมรับชะตากรรมแล้วแก้ที่ตัวเองอยู่ฝ่ายเดียวด้วย

เฮอร์เบิร์ต เจ ฟรูเดนเบเกอร์ (Herbert J. Freudenberger) นักจิตวิทยาชาวนิวยอร์กที่ขึ้นชื่อว่า ‘เป็นบิดาแห่งความหมดไฟ’ ได้เผยว่า ส่วนใหญ่ Burnout มักพบในพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งกลางๆ ขององค์กร ซึ่งก็เป็นผลมาจากความรู้สึกไม่อยากก้าวหน้า และความหมดหวังในการเลื่อนขั้นไปสู่ระดับที่สูงกว่า

จากผลสำรวจของแกลแลป (Gallup) ผ่านกลุ่มตัวอย่างพนักงานเต็มเวลาจำนวน 7,500 คน พบว่า Top 5 สาเหตุที่ทำให้พนักงาน Burnout นั้นมีหลักใหญ่ใจความมาจาก ‘โครงสร้างหรือระบบการทำงาน’ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม, Workload ที่หนักเกิน, ความไม่ชัดเจนในงาน วันนี้สั่งให้ทำหน้าที่นี้ วันรุ่งขึ้นสั่งให้ทำอีกหน้าที่ที่ต่างกันอย่างสุดขั้ว, การขาดการสื่อสาร การสนับสนุนที่ดีจากหัวหน้า รวมไปถึงความกดดันที่ไม่สมเหตุสมผลก็ด้วย

วิธีหยุด Burnout แบบหันกลับมาแก้ที่ ‘โครงสร้าง’

burnout-because-workplace 1

1. หยุดชี้นิ้วว่า ไม่ใช่ฉัน ‘มันเป็นเพราะเธอ (ลูกน้อง)’

คริสตินา แมชแลซ (Christina Maslach) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) เคยกล่าวไว้ว่า ‘การโทษลูกน้องเป็นการโจมตีปัญหาจากมุมที่ผิด’ จริงๆ แล้ว Burnout อาจเกิดจากตัวหัวหน้าก็ได้

ดังนั้น ก่อนที่จะชี้นิ้วกล่าวโทษลูกน้อง ในฐานะผู้นำทีมควรย้อนกลับมาถามตัวเองก่อนว่า ได้เป็นหนึ่งในต้นเหตุ หรือกำลังสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พวกเขาหมดไฟรึเปล่า ให้งานพวกเขาหนักเกินไปไหม? มี Empathy ให้มากๆ ไม่ใช่เอาแต่กรอกหูว่า ต้องกลับไปแก้ที่ตัวเอง ต้องเริ่มจากตัวเอง เพราะถึงที่สุดแล้ว การบอกลูกน้องเช่นนี้ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา หรือต่อให้หาย Burnout แล้ว ก็ไม่วายวนกลับเข้าลูปเดิมไม่จบไม่สิ้นอยู่ดี

2. ใช้ทฤษฎี Motivation-Hygiene

เฟรดเดอริก เฮิร์ซเบอร์ก (Frederick Herzberg) เจ้าของทฤษฎีนี้ได้นิยามปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการทำงานไว้ 2 อย่างด้วยกัน ได้แก่ องค์ประกอบจูงใจ (Motivation Factor) กับองค์ประกอบสุขอนามัย (Hygiene Factors)

เขาบอกว่า 2 สิ่งนี้แยกออกจากกันไม่ได้ หัวหน้าต้องยอมรับ และดูแลมันอย่างสมดุล โดยหลักๆ แล้ว องค์ประกอบจูงใจนั้นประกอบไปด้วย งานที่ท้าทาย, การได้รับการยอมรับ, ความรับผิดชอบ, ความก้าวหน้า และลักษณะความน่าสนใจของงาน

ในทางกลับกัน องค์ประกอบสุขอนามัยจะเป็นการโฟกัสไปที่ปัจจัยขั้นพื้นฐาน ทั้งเงินเดือน, โอกาสแห่งความก้าวหน้า, สถานะ, ความมั่นคง, ชีวิตส่วนตัว, นโยบายการบริหาร, สภาพการทำงาน, ความสัมพันธ์อันดี และวิธีการทำงานของหัวหน้านั่นเอง

ทั้งหมดนี้ คือ 2 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณหยุดยั้ง ‘ภาวะสมองไหล’ ที่อาจเกิดขึ้นกับทีมที่รักยิ่ง และปลุกไฟในตัวลูกน้องให้ลุกโชนอยู่เสมอ Burnout ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาส่วนตัวอย่างที่บอก แต่มันคือ ‘ปัญหาทางใจที่ทุกคน ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ’

Source: https://bit.ly/3Rqf9JR

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like