LOADING

Type to search

‘ธูปย่อขนาด’ ผลงานประดิษฐ์จาก ‘ศิลปากร’ ลดมลพิษฝุ่นควันในเทศกาลไหว้เจ้าวันตรุษจีน

‘ธูปย่อขนาด’ ผลงานประดิษฐ์จาก ‘ศิลปากร’ ลดมลพิษฝุ่นควันในเทศกาลไหว้เจ้าวันตรุษจีน
Share

เทศกาลตรุษจีนเวียนมาทีไร ใครที่ไปศาลเจ้า หรืออยู่ใกล้ อาจเผชิญปัญหาเดียวกัน นั่นคือ ควันธูปที่ทำให้แสบตา และหายใจไม่ออก

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า ควันจากการจุดธูป และเผากระดาษเงิน – กระดาษทอง ยังก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 รวมถึงการฟุ้งกระจายของสารเคมีอันตรายอย่าง เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน

ด้วยเหตุนี้ ผศ.ดร.วีรวัฒน์ สิริเวสมาศ อาจารย์จากคณะมัณฑนศิลป์ และทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร จึงร่วมกันออกแบบธูปแบบใหม่ เพื่อลดการปล่อยมลพิษดังกล่าว โดยตั้งชื่อว่า ‘ธูปศิลปากรรังสรรค์’

อาจารย์วีรวัฒน์ บอกกับ Future Trends ว่า ธูปศิลปากรรังสรรค์ เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้ทำการศึกษาฝุ่นในย่านเยาวราช ซึ่งพบว่า ส่วนหนึ่งมาจากการจุดธูป โดยเฉพาะในศาลเจ้าและวัด ซึ่งอาจไม่เยอะเท่าแหล่งมลพิษอื่นๆ แต่ก็เป็นอันตรายต่อผู้คน

ทีมนักวิจัยจึงพยายามแก้ไขปัญหา ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และสังคม สุดท้ายจึงเป็นที่มาของการออกแบบธูปศิลปากรรังสรรค์ ที่มีไส้ธูปสั้นลง เพื่อให้เผาไหม้ได้น้อยลง ช่วยลดต้นทุนและวัตถุดิบในการผลิต รวมถึงลดการปล่อยมลพิษสู่อากาศด้วย

ธูปดังกล่าวนี้ เป็นการแก้ไขเชิงสังคม เกิดจากการลงพื้นที่ศาลเจ้าและวัดหลายแห่ง และพบว่า เมื่อธูปถูกจุดและปักในกระถาง ประมาณ 5 นาที ธูปเหล่านั้นจะถูกเจ้าหน้าที่เก็บทิ้งทันที เพื่อลดทั้งปริมาณธูปในกระถางและควันในพื้นที่

นั่นหมายความว่า ธูปแบบปกติไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ ไม่ได้เผาไหม้จนหมดก้าน เกิดเป็นขยะ และเป็นการใช้ทรัพยากรที่สิ้นเปลือง

ต่อมา นักวิจัยจึงไปพูดคุยกับทางศาลเจ้าและวัด เพื่อร่วมแก้ปัญหาดังกล่าว หลายแห่งมีนโยบายลดการจุดธูปอยู่แล้ว เช่น ลดจุดตั้งกระถางธูปลง เก็บธูปทุก 5 นาที งดจุดธูปในบางพื้นที่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ศาลเจ้าและวัดหลายแห่งสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นั่นจึงเป็นที่มาของ ‘ธูปศิลปากรรังสรรค์’ ซึ่งมีไส้ธูปสั้นลง เผาไหม้ได้ภายใน 5 นาที ช่วยลดขยะ ลดมลพิษ และลดต้นทุนการผลิตไปในเวลาเดียวกัน

“อย่างไรก็ตาม ธูปเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น จุดมุ่งหมายคือ ต้องการลดการจุดธูปลง โดยใช้ธูปดังกล่าวเป็นสื่อกระตุ้นให้เกิดการฉุกคิดของผู้คน ผ่านศาลเจ้าหรือวัด ที่นับว่ามีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนเป็นตัวอย่าง” อาจารย์วีรวัฒน์ กล่าวกับ Future Trends

“ขั้นตอนต่อไป คือการลดปริมาณลงเรื่อยๆ จนอาจไม่มีการจุดธูปในที่สุด ขณะที่ศาลเจ้าหรือวัดหลายแห่งในประเทศจีน ไต้หวัน และฮ่องกง สามารถทำเช่นนี้ได้แล้ว”

ด้วยเหตุนี้ ธูปศิลปากรรังสรรค์ จึงอาจไม่ใช่นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์หรือการออกแบบ แต่เป็นนวัตกรรมทางสังคมที่ต้องการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คน

เราอาจไม่เคยฉุกคิดถึงปัญหามลพิษมาก่อน การเลิกจุดธูปอาจทำให้หลายคนไม่สบายใจ เนื่องด้วยความเชื่อบางอย่าง ฉะนั้น การลดปริมาณการใช้ลง อาจเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ดี เพื่อลดมลพิษทางอากาศ

ผู้สนใจใช้ ‘ธูปศิลปากรรังสรรค์’ สามารถทดลองใช้ได้ที่ ศาลเจ้าเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ย่านเยาวราช ในช่วงเทศกาลตรุษจีน ระหว่างวันที่ 21 – 22 มกราคม 2566 และในงาน Bangkok Design Week 2023 ระหว่างวันที่ 4 – 12 กุมภาพันธ์ 2566

ทั้งนี้ อาจารย์วีรวัฒน์ ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า หากการทดลองใช้ได้ผลตอบรับดี จะมีการสนับสนุนให้ใช้ในสถานที่อื่นๆ ต่อไป

เขียนโดย Phoothit Arunphoon

Sources: https://bit.ly/3ZFQ7KU

http://bit.ly/3GLYk7F

http://bit.ly/3CSTrc2

Tags::

You Might also Like