LOADING

Type to search

องค์กรจะพัง ทีมจะหมดไฟ ถ้ายังเลือกสองมาตรฐานแบบนี้ รู้จักคนทำงานแบบ ‘Kiss Up Kick Down’
Share

“เหนื่อยกับงานยังพอทน เหนื่อยกับคนมันจนใจ” ไม่ว่าจะเป็นการลาออก การตื่นหรือไม่อยากตื่นไปทำงาน ‘เรื่องคนที่ทำงาน’ ก็ยังคงเป็นปัจจัยคลาสสิกข้อแรกๆ ที่มีปัญหาของมนุษย์ออฟฟิศหลายๆ คนอยู่เสมอ

ทำนองเดียวกับคนสองมาตรฐานบางคนที่ลึกๆ แล้ว ก็อาจจะเป็นต้นตอของ Turnover Contagion หรือโรคติดต่อของการลาออก อย่างเช่น Manager หรือเพื่อนร่วมงานแบบ ‘Kiss Up Kick Down’ ที่ไม่ได้แค่สร้างความ Toxic และปั่นป่วนในทีมเท่านั้น แต่ยังบั่นทอนจิตใจให้รู้สึกป่วงจนความมั่นใจของลูกน้องบางคนแตกสลายก็ด้วย

แล้วคนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down คืออะไร มีพฤติกรรมแบบไหน ทำทีมพังยังไง ถ้าเรากำลังเจอคนแบบนี้อยู่จะรับมือด้วยวิธีไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูกัน

คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down คืออะไร?

kiss-up-kick-down 1
Image by stockking on Freepik

หากแปลตรงตัว คำว่า “Kiss Up Kick Down’ หมายถึง ‘การจูบ และเตะส่ง’ ซึ่งก็เปรียบได้กับพฤติกรรมของคนทำงานบางคนที่มักจะชอบประจบประแจงหัวหน้า หรือเอาอกเอาใจคนที่มีอำนาจ ตำแหน่งสูงกว่าตน ในทางกลับกัน ก็คอยจะขัดใจ ขัดแข้ง ขัดขา ข่ม หรือแสดงพฤติกรรมแย่ๆ กับคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่าอยู่ตลอด

โดยคำดังกล่าวก็มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา และถูกบัญญัติขึ้นครั้งแรกในปี 1990 อีกทั้ง ยังมีการให้คำจำกัดความด้วยว่า ‘เป็นสถานการณ์ที่พนักงาน Middle Level มีความสุภาพ ยกยอหัวหน้า แต่มักจะดูถูกลูกน้อง’

และยังมีการอ้างอิงถึงจอห์น โบลตัน (John Bolton) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติด้วยว่า ถูกคาร์ล ดับเบิลยู ฟอร์ด จูเนียร์ (Carl W. Ford Jr.) อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองของกระทรวงการต่างประเทศมองว่า เป็นคนประเภทนี้ เพราะเขามักจะเอาใจคนอื่นที่มีอำนาจเหนือกว่า และไม่สนใจลูกน้องที่อยู่ในความดูแลเลยสักนิด

คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down มีพฤติกรรมแบบไหน?

1. เอาดีเข้าตัว

ตามปกติ คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down มักจะ Take ชอบเคลมเครดิตในสิ่งที่ไม่ได้ทำเป็นผลงานของตัวเอง ทั้งที่จริงแล้ว ทุกคนในทีมต่างรู้กันเป็นอย่างดีว่า เป็นผลงานที่ลูกน้องอีกคนปลุกปั้นมานาน

2. เอาชั่วใส่คนอื่น

เวลาเกิดความผิดพลาด มีบางอย่างในงานไม่ได้ผล คนทำงานลักษณะนี้จะรีบตีโพยตีพายตำหนิ ดูถูกลูกน้องทันที โดยบางครั้งก็ไม่ได้ย้อนกลับมามองว่า แท้จริงแล้ว ตนก็เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าวด้วย

3. พยายามแสดงไมตรีจิตกับคนที่มีตำแหน่งสูงกว่า

ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม สุดท้ายแล้ว คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down ก็จะพยายามโชว์ความเป็น ‘ผู้ให้’ กับคนที่มีอำนาจมากกว่าออกมาอยู่ดี หรือมีความคิดประมาณว่า ‘ยิ่งให้ ยิ่งได้’ ในทางตรงกันข้าม สำหรับคนที่มีตำแหน่งต่ำกว่า พวกเขากลับเลือกเป็น ‘ผู้รับ’ มากกว่าผู้ให้

4. ทีมที่อยู่ภายใต้การดูแลจะลาออกบ่อย ไม่กระตือรือร้น

เหมือนอย่างที่บอกไปว่า หลายๆ คนไม่อยากตื่นไปทำงาน พออยู่กับปัญหาเรื่องคนๆ ความรู้สึกแบบนี้นานๆ เข้า ก็เลยคิดจะลาออกนั่นเอง

คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down ทำทีมพังยังไง?

งานวิจัยเรื่อง Good actors but bad apples: Deviant consequences of daily impression management at work. แห่งมหาวิทยาลัยออริกอนสเตต (Oregon State University) จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้เชี่ยวชาญ 75 คน มากกว่า 2 สัปดาห์ ชี้ให้เห็นว่า จริงๆ แล้ว คนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down ไม่ได้ทำให้ตัวเองพังเพียงคนเดียว แต่อาจจะเป็นตัวการสำคัญ Domino Effect ความพังไปยังทีมคนอื่นด้วย

เนื่องจาก ยิ่งพนักงานมีพฤติกรรมแบบนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้พลังการควบคุมตัวเอง (Self-control) ลดต่ำลง รู้สึกหมดแรงเมื่อจบวัน และมีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมแย่ๆ อย่างเช่น การทำตัวไม่น่ารักกับเพื่อนร่วมงาน, การโดดประชุม และการท่องอินเทอร์เน็ตมากกว่าทำงานก็เช่นกัน

รวมไปถึงทัศนคติการมองว่า ‘ความสำเร็จเท่ากับฉัน ความล้มเหลวเท่ากับคนอื่น’ ก็ยังพาลทำให้บรรยากาศในทีมแย่ตาม และอาจจะเลวร้ายถึงขั้นที่ว่า ทำให้องค์กรพัง เพราะบรรยากาศเต็มไปด้วยความไม่จริงใจ สมมติมีปัญหาอะไรขึ้นมาก็ไม่กล้าบอกบอสใหญ่ตรงๆ เกิดวัฒนธรรมลูกรัก ลูกชัง และไร้ความผิดชอบในที่สุด

เรากำลังจะรับมือกับคนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down ด้วยวิธีไหน?

kiss-up-kick-down 2

เทสซา เวสต์ (Tessa West) นักจิตวิทยาสังคม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และผู้แต่งหนังสือ Jerks at Work: Toxic Coworkers and What to Do About Them ให้คำนิยามคนประเภทนี้บนเว็บไซต์สำนักข่าวซีเอ็นบีซี (CNBC) ว่า ‘Jerks at Work หรือคนที่นิสัยไม่ดีในที่ทำงาน’

เทสซาเสริมวิธีรับมือกับคนทำงานแบบ Kiss Up Kick Down ว่า อย่างแรก ให้หาเพื่อนร่วมงานพันธมิตรคนอื่น เพื่อเช็กว่า สิ่งที่เรากำลังรู้สึกเป็นความจริงไหม เรามีอคติบางอย่างจนเชื่อว่าพวกเขาเป็นแบบนั้นรึเปล่า?

ถัดมา หากพวกเขาเป็นเพื่อนร่วมงาน  ให้เข้าหาบอสใหญ่อย่างคนฉลาด เตรียมหลักฐานให้พร้อม รวบรวมรายละเอียด ประสบการณ์ทั้งหมดที่เจอ อาจจะทำรายงานด้วยก็ได้ จากนั้น ลองเดินเข้าไปคุยตรงๆ แล้วออกมาแบบสวยๆ เพราะเราเองจะได้ไม่ไปสร้างความ Toxic เพิ่ม แถมก็ไม่ต้องกลัวด้วยว่า บอสใหญ่จะเอียงข้างจนเกิดอคติต่อ

ส่วนถ้าเราเป็นบอสใหญ่แล้วกำลังพบว่า Manager หรือคนทำงานที่อยู่ภายใต้ความดูแลกำลังทำพฤติกรรมแย่ๆ นี้อยู่ ให้แก้ด้วย ‘การสร้างกฎให้ทุกคนเท่าเทียมกัน’ เพื่อลดโอกาส แนวโน้มการจูบ และเตะส่งลง

แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าเกินเยียวยาจริงๆ ก็แนะนำว่า อาจจะถึงเวลาที่ควรกลับมาทบทวนว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้กันแน่? เหมือนที่เคยบอกในบทความชิ้นก่อนๆ ว่า ยิ่งเก็บพนักงานแย่ๆ ไว้ก็ไม่ต่างอะไรจากการยิ่งไล่ทีมเก่งๆ ออกเช่นเดียวกับปรากฏการณ์ ‘One Bad Apple’ ที่ทำให้แอปเปิลลูกอื่นถูกเหมารวมไปด้วยนั่นเอง

อดัม แกรนต์ (Adam Grant) ผู้แต่งหนังสือขายดีอย่าง Think Again เคยกล่าวไว้ว่า “ออฟฟิศที่เต็มไปด้วยความ Toxic ไม่ใช่หน้าที่ของพนักงานตัวเล็กตัวน้อยที่จะมานั่งแก้ไขจากด้านล่าง” อ่านจบแล้ว ลองกลับไปสำรวจตัวเองกับทีมดูว่า กำลังทำพฤติกรรมแบบนี้โดยไม่รู้ตัวอยู่รึเปล่า? ถ้าใช่! ก็รีบหยิกตัวเอง ดึงสติกลับมา ก่อนจะสายเกินแก้นะ…

แล้วคุณล่ะคิดยังไงกับเรื่องนี้ อ่านแล้วคุ้นๆ ไหม นึกถึงใครบ้าง? มาแชร์ในคอมเมนต์กัน!

Sources: https://bit.ly/3eY9BHP

https://bit.ly/3Uq9R2m

https://cnb.cx/3LtJjtd

https://bit.ly/3LscCw8

https://bit.ly/3xFRxZt

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like