LOADING

Type to search

ยิ่งเก็บพนักงานแย่ๆ ไว้ ยิ่งไล่ทีมเก่งๆ ออก ปรากฏการณ์ ‘One Bad Apple’ ทำพังไปทั้งองค์กร
Share

เวลาที่คิดจะลาออกไปทำงานที่อื่น คุณลาออกเพราะใคร คนหรือบริษัท? แล้วเวลาที่คิดจะอยู่ต่อ ทำงานที่ออฟฟิศใดออฟฟิศหนึ่ง คุณคิดจะอยู่ต่อเพราะใคร คนหรือบริษัท?

พนันได้เลยว่า เกือบจะร้อยทั้งร้อยของคนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ คงต้องมีคำตอบเรื่อง ‘คน’ อยู่แน่ๆ เช่นเดียวกับพฤติกรรม Toxic ของลูกน้องบางคนที่อาจเป็นต้นเหตุทำให้ทีมล่ม จนลูกน้องคนอื่นของเราขอโบกมือลาไปได้

แล้วพนักงานแค่คนเดียวทำองค์กรพังลงยังไง ถ้าหัวหน้าอย่างเราๆ กำลังเจอสถานการณ์แบบนี้อยู่จะรับมือด้วยวิธีไหน? ในบทความนี้ Future Trends จะพาไปดูผ่านปรากฏการณ์ ‘One Bad Apple’ กัน

ปรากฏการณ์ One Bad Apple คืออะไร?

one-bad-apple-does-spoil-the-whole-office 1

One Bad Apple คือปรากฏการณ์แอปเปิลเสียเพียงลูกเดียวที่อยู่ปนกับแอปเปิลที่ไม่เสียในตระกร้า ซึ่งก็เปรียบได้กับพฤติกรรมของพนักงานที่ไม่ดีเพียงคนเดียวในองค์กร เมื่ออยู่รวมกับพนักงานที่ดีคนอื่น ก็ทำให้ถูกเหมารวมว่า ทั้งองค์กรมีแต่พนักงานที่ไม่ดี ไม่มีคุณภาพ เหมือนกับสำนวนไทยว่า ‘ปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง’ นั่นเอง

ปรากฏการณ์ One Bad Apple กระทบองค์กรยังไง?

ดีแลน ไมเนอร์ (Dylan Minor) ศาสตราจารย์แห่งเคลล็อก โรงเรียนสอนการจัดการ (Kellogg School of Management) อธิบายว่า ตนเรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ‘Toxic’ เพราะมันไม่เพียงแต่จะก่อให้เกิดอันตรายเท่านั้น แต่ยังแพร่กระจายพฤติกรรมไปสู่ผู้อื่นด้วย

วิลเลียม เฟลป์ (William Felps) นักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) ได้รับแรงบันดาลใจการศึกษาผลกระทบความขัดแย้งในที่ทำงานมาจากภรรยาของตนที่ประสบกับปรากฏการณ์ One Bad Apple

เขาเล่าว่า ภรรยาไม่มีความสุขในการทำงาน รู้สึกสภาพแวดล้อมนั้นเย็นชา และไม่เป็นมิตรเท่าไร แต่ที่น่าตลกอย่างหนึ่งคือ เวลาที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่ง ผู้มีนิสัยชอบพูดจาประชดประชัน เหน็บแนมคนอื่นอยู่ตลอด เกิดป่วย ไม่มาทำงานหลายวันขึ้นมา

บรรยากาศในออฟฟิศก็เปลี่ยนจากหลังมือเป็นหน้ามืออย่างสิ้นเชิง คนอื่นๆ เริ่มช่วยเหลือกัน พากันออกไปทำกิจกรรมต่างๆ หลังเลิกงาน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรีคลาสสิกทางวิทยุ หรือแม้กระทั่งการออกไปดื่มต่อก็ด้วย

one-bad-apple-does-spoil-the-whole-office 2

แต่พอเพื่อนร่วมงานคนนั้นหายดี กลับมาทำงานตามปกติปุ๊บ ก็เหมือนกับว่า บรรยากาศที่ดีเหล่านั้นหายไป ถูกกด Back กลับมาไม่ดีเหมือนเดิม แต่ก่อนเธอไม่ได้คิดว่า เพื่อนร่วมงานคนนี้มีความสำคัญอย่างไร แต่พอสังเกตเวลาที่เขาไม่อยู่ ก็พบว่า ส่งผลต่อ Impact เชิงลบอย่างลึกซึ้ง เขาคนนั้นเป็นแอปเปิลเสียที่ทำให้ลูกอื่นในตระกร้าเสียตาม

นอกจากนี้ วิลเลียมกับเทเรนซ์ มิเชล (Terence Mitchell) ศาสตราจารย์ด้านการจัดการ องค์กรในโรงเรียนสอนธุรกิจ (Business School) และศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยวอชิงตันยังได้ทำการวิจัยหนึ่งร่วมกันอีกด้วย พวกเขาได้ให้คำจำกัดความของแอปเปิลเสีย หรือพนักงานที่ไม่ดีไว้ว่า ‘เป็นคนที่ทำงานเอาเปรียบคนอื่นในทีม มีอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีความสุขเรื้อรัง ชอบโจมตีคนอื่น’

โดยจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่า การมีสมาชิกในทีมที่ Toxic หรือเชิงลบเพียงคนเดียวสามารถเป็นตัวเร่งให้องค์กรแย่ลง ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้น และบั่นทอนความไว้วางใจในทีมลงได้ 

รวมไปถึงจากการทดลองผ่านกลุ่มตัวอย่างโดยการเอาพนักงานที่ไม่ดี ทั้งการไม่สนใจงาน ชอบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง และไม่แคร์ใครใส่ลงไปในกลุ่มต่างๆ ผลปรากฏว่า คนกลุ่มดังกล่าวเข้าไปลด Performance ภาพรวม และ Productivity ลงมากถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ของทุกกลุ่มเลยทีเดียว

เราจะรับมือกับปรากฏการณ์ One Bad Apple ด้วยวิธีไหน?

แน่นอนว่า การตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้พนักงานไม่ดีมาดูดพลัง บั่นทอนพนักงานคนอื่นที่เหลือย่อมเป็นหนทางที่ดีที่สุด วิลเลียมบอกว่า Hiring Manager ควรขจัดปัญหาเหล่านี้ด้วยการคัดกรองพนักงานที่มี Potential อย่างละเอียด แต่หากพนักงานที่ไม่ดีเหล่านี้อยู่ในทีม ให้จัดการด้วยวิธีต่อไปนี้

1. ไม่ลีลา หาทางออกร่วมกัน เรียกมาคุย บอกไปตรงๆ เลยว่า ต้องการให้เขาเปลี่ยนตัวเอง และเพราะอะไรถึงมีพฤติกรรมเหล่านี้? 

2. ให้ทีมที่เหลือปฏิเสธที่จะร่วมงานด้วย จัดให้พวกเขาทำงานคนเดียวมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ต้องขีดเส้นใต้ตัวแดงไว้ว่า จะใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อวิธีแรกไม่ได้ผล

ไบรอัน เทรซี (Brian Tracy) เคยกล่าวในหนังสือ Hiring & Firing ไว้ว่า “การเลือกคนที่ไม่ใช่เข้ามาในองค์กรสามารถสร้างความเสียหายตกเป็นเงินราวๆ 3-6 เท่าของรายได้พนักงานบางคนเลย

“แต่ก็ไม่ได้มีเพียงความเสียหายด้านเงินๆ ทองๆ เท่านั้น เพราะยังมีเรื่องขวัญกำลังใจที่อาจจะกระทบต่อ Productivity เข้ามาเกี่ยวด้วย บริษัทที่กำไรดี ตามปกติแล้วจะมีอัตราการลาออกอยู่แค่ 1-2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี”

ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าพยายามจะเฉือนส่วนเน่าของแอปเปิลลูกนั้นทิ้งแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล ก็อาจจะถึงเวลาที่ต้องรู้ว่า เมื่อไรควรพอ เมื่อไรควรปล่อยแบบเดียวกับพนักงานแบบ Deadwood ก็ได้

ปล่อยให้แอปเปิลลูกนี้ออกไปเติบโตที่อื่น เพราะยิ่งเก็บพนักงานแย่ๆ ไว้ก็ยิ่งเป็นการไล่ทีมเก่งๆ ออกนั่นเอง

Sources: https://reut.rs/3QBsUDO

https://bit.ly/3B1q6dm

https://bit.ly/3RBpna3

https://bit.ly/3B3vaOy

หนังสือ Hiring & Firing เขียนโดย Brian Tracy

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like