‘Guilt Trip’ รูปแบบความสัมพันธ์ที่หล่อหลอมด้วยความรู้สึกผิด
ความสัมพันธ์ที่ดีมีลักษณะแบบไหนกัน สามารถพึงพาอาศัยกันได้ใช่ไหม สามารถฝากความหวังเอาไว้ได้หรือเปล่า หรือ สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในเวลาคับขัน? สำหรับคำตอบของคำถามนี้ เราคงไม่สามารถหาคำตอบที่กระจ่างให้กับคุณได้ เพราะความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนและเปราะบาง บางครั้งความต้องการในความสัมพันธ์อาจจะไม่มีอะไรเลยก็ได้ มีแต่ผู้ที่อยู่ในวังวนนั้นที่จะรู้
แต่ถ้าถามว่าความสัมพันธ์ที่ไม่ดีมีลักษณะอย่างไร เราพอจะมีคำตอบให้กับพวกคุณได้ ผู้อ่านคงจะเคยได้ยินคำว่า ‘Gaslighting’ กันสินะ สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้ยินคำนี้ อธิบายสั้นๆ ว่ามันเป็นคำที่ใช้เรียกความไม่ปกติในความสัมพันธ์ที่จะต้องมีฝ่ายหนึ่ง ถูกโจมตีทางความรู้สึก ทำให้รู้สึกว่าโลกทั้งใบมีผู้กระทำคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ข้างกัน นับว่าเป็นความสัมพันธ์ที่เป็นพิษอย่างแท้จริง
ใช่แล้วล่ะ วันนี้เราจะมาพูดคุยกันถึงเรื่องของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษแต่ไม่ใช่ Gaslighting รูปแบบความสัมพันธ์ที่เราจะมาพูดคุยกันคือ ‘Guilt Trip’ ความรู้สึกผิดที่เปลี่ยนแปลงเป็นพิษของความสัมพันธ์
[ ‘Guilt Trip’ ทำไมเราถึงรู้สึกผิดกับเขาขนาดนั้น ]
Guilt Trip คือ ความรู้สึกผิดที่มาจากการทำให้อีกฝ่ายผิดหวัง โดยจำเป็นจะต้องออกมาจากปากของอีกฝ่าย หรือ มาจากการแสดงออกที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเอง ‘ผิด’ ซึ่งการพูดจนทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดนั้น กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเชิงลบต่อตัวเองมากมาย นำไปสู่ความเป็นพิษของความสัมพันธ์ที่ถูกบงการด้านความรู้สึกอย่างสมบูรณ์แบบ
[ สัญญาณของ ‘Guilt Trip’ ในความสัมพันธ์ ]
จุดเริ่มต้นของความรู้สึกผิดอาจจะมาจากความตั้งใจและความไม่ตั้งใจก็ได้ แต่สัญญาณที่บ่งบอกว่านั่นคือการทำให้รู้สึกผิดแบบเป็นพิษมีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ได้แก่
😣 การแสดงความคิดเห็นเชิงเปรียบเทียบให้คุณอยู่จุดที่ต่ำกว่า
😣 นำความผิดพลาดในอดีตของคุณมาย้ำเตือน
😣 กระตุ้นความทรงจำเกี่ยวกับบุญคุณที่พวกเขาเคยทำให้กับคุณ
😣 แสดงอาการโกรธอย่างชัดเจน แต่ปากบอกว่าไม่เป็นอะไร
😣 เลือกการโวยวายมากกว่าการพูดคุยที่สงบด้วยเหตุผล
😣 น้ำเสียง ภาษากาย แสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจ
😣 ความก้าวหน้าของคุณไม่เคยดีพอสำหรับพวกเขา
จะเห็นได้ว่าลักษณะของสัญญาณ Guilt Trip จะใกล้เคียงกับ Gaslighting มาก แต่ในมุมมองของเรามองว่า Guilt Trip จะสามารถเกิดจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจได้ ต่างจาก Gaslighting ที่ตั้งใจจะครอบงำคุณ
[ 4 รูปแบบของ ‘Guilt Trip’ ]
1.บงการควบคุม (Manipulation)
ในบางครั้งเป้าหมายหลักของการพูดให้รู้สึกผิดก็เพื่อที่จะชักจูงให้ผู้นั้นทำสิ่งที่พวกเขาไม่อยากจะทำด้วยความเต็มใจ
2.หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง (Conflict Avoidance)
ใช้ความรู้สึกผิดเพื่อหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาโดยตรง ช่วยให้พวกเขาได้รับในสิ่งที่ต้องการ โดยไม่ต้องมีส่วนร่วมกับความขัดแย้งโดยตรง
3.ศีลธรรม (Moral Education)
ในบางครั้งผู้ที่สร้างความรู้สึกก็ต้องการที่จะเข้าถึงศีลธรรมอย่างไม่ถูกวิธีเพียงเท่านั้น
4.ความเห็นอกเห็นใจ (Elicit Sympathy)
สร้างแผลในจิตใจผู้อื่นให้พวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้น ส่งผลต่อความรู้สึกมากเพียงใด รับบทเป็นเหยื่อในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ
Guilt Trip สามารถสร้างบาดแผลที่ร้ายแรงให้กับจิตใจได้ ถึงแม้ส่วนมากจะพบเจอในความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งก็ตาม แต่ไม่ใช่ว่าความสัมพันธ์รูปแบบเพื่อน ครอบครัว และงาน จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น วิธีการป้องกันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าจะศึกษาเรียนรู้ไว้ เผื่อว่าวันหนึ่งคุณอาจจะต้องใช้เพื่อเอาตัวรอดจากความสัมพันธ์ที่เลวร้าย
[ รับมือให้เป็น ฉันไม่ใช่เหยื่อของเธออีกต่อไป ]
1.กำหนดขอบเขตของความสัมพันธ์ให้ชัดเจน
ขอบเขตจะช่วยสร้างกำแพงได้เป็นอย่างดี มันจะเป็นตัวกำหนดว่าสิ่งใดที่คุณทำได้และทำไม่ได้ บางครั้งทุกเรื่องก็ไม่เป็นมิตรกับความสัมพันธ์ มีหลายคู่ที่ต้องจบกันไปเพราะเลือกที่จะพูดคุยทุกเรื่องแก่กันและกัน
2.บอกพวกเขาไปตามตรง
บอกบุคคลนั้นว่า สิ่งที่พวกเขาแนะนำให้คุณทำนั้น เป็นสิ่งที่จะสร้างความรู้สึกผิดต่อตัวเองขนาดไหน ได้โปรดอย่างเข้ามายุ่งกับการใช้ชีวิตของฉันเลย เนื่องจาก Guilt Trip มีความเข้มข้นที่น้อยกว่า Gaslighting การพูดคุยอย่างตรงไปตรงมาจึงเหมาะสม
ท้ายที่สุดนี้ เรื่องราวในบทความนี้ก็ยังอยู่ในหัวข้อของความสัมพันธ์ ด้วยความละเอียดอ่อนและเปราะบางของมัน คุณอาจจะต้องใช้ความอดทนและการพูดคุยที่มากมาย เพื่อผ่านพ้นความเป็นพิษเหล่านี้ไปให้ได้ อย่างไรก็ตามขอให้ผู้อ่านของ Future Trends ทุกคนไม่ต้องพบเจอกับ ‘Guilt Trip’ ในการใช้ชีวิตประจำวันนะ 🙂
เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
Sources:
Verywellmind – What Is Guilt Tripping? : https://www.verywellmind.com/what-is-a-guilt-trip-5192249
Psychology Today – 7 Ways to Get Out of Guilt Trips : https://www.psychologytoday.com/us/blog/the-squeaky-wheel/201305/7-ways-get-out-guilt-trips