Type to search

หยุดทำงานแบบเดิม ถ้าไม่อยากเสียคนเก่งไป ‘Great Attraction’ วิธีสร้างแรงดึงดูดให้คนเก่งทำงานด้วยกันไปนานๆ

October 11, 2022 By Witchayaporn Wongsa
great-attraction

ท่ามกลางข่าวการปลดพนักงาน (Layoff) จำนวนมาก และเทรนด์การทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างการเลิกทำงานเกินหน้าที่ (Quiet Quitting) หรือการยอมรับเงินเดือนน้อยลง เพื่อแลกกับเวลาชีวิตมากขึ้น (Frugality) คงทำให้หลายๆ คนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การทำงานหนักเป็นหัวใจสำคัญของชีวิตการทำงานที่ยั่งยืนหรือเปล่า?”

การทำงานหนัก เป็นส่วนประกอบของค่านิยมการทำงานแบบดั้งเดิมที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมมาอย่างยาวนาน การเติบโตตามสายงานของมนุษย์เงินเดือนต้องแลกมากับการทุ่มเทแรงกายและแรงใจ เพื่อพิสูจน์ความสามารถของตัวเองให้ใครต่อใครเห็น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเบื้องหลังการทำงานหนัก ก็คือการที่พนักงานระดับปฏิบัติการถูกหัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงรีด ‘Output’ จนพรุน และจำเป็นต้องสร้างผลงานให้มีปริมาณและคุณภาพมากขึ้นอยู่เสมอ

ลำพังการทำงานไปเรื่อยๆ ทั้งที่มองไม่เห็นเป้าหมายของการเติบโตก็เป็นเรื่องที่บั่นทอนจิตใจอยู่แล้ว ยิ่งต้องมาทำงานในสถานการณ์ที่มีแรงกดดันรอบตัว และวัฒนธรรมองค์กร (Company Culture) ที่เป็นพิษกับคนทำงาน ยิ่งกระตุ้นให้หลายๆ คนตัดสินใจลาออกง่ายขึ้นกว่าเดิม

และเมื่อความอดทนของพนักงานมาถึงจุดสิ้นสุด องค์กรก็ต้องสูญเสียคนเก่งไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…

ถ้าหัวหน้าไม่ต้องการสูญเสียลูกทีมเก่งๆ ไป จะสามารถหยุดระเบิดเวลาแห่งการลาออกได้อย่างไรบ้าง?

หัวใจสำคัญของตำแหน่งหัวหน้า คือการเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ของทีม หากเปรียบเทียบความเป็นทีมเข้ากับลักษณะของรูปทรงสักอย่าง ‘วงกลม’ คงเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุด เพราะหัวหน้าเป็นเหมือนจุดศูนย์กลางที่มีรัศมีเชื่อมถึงลูกทีมแต่ละคน และคอยเชื่อมสัมพันธ์ของทุกคนให้เป็นวงกลมที่สมบูรณ์

ซึ่งสิ่งที่จะทำให้หัวหน้าสามารถสร้างวงกลมของทีมได้อย่างไร้ที่ติ ก็คือความสมดุลในการบริหาร ‘งาน’ และ ‘คน’ เมื่อหัวหน้าสามารถจัดการงานได้เป็นไปตามแผน ลูกทีมก็จะทำงานอย่างเป็นสุข จนเกิด ‘แรงดึงดูด’ ที่แน่นแฟ้นระหว่างหัวหน้ากับทีม ทำให้การตัดสินใจลาออกมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลงด้วย

Future Trends จึงนำเทคนิค ‘Great Attraction’ หรือการสร้างแรงดึงดูดให้แข็งแกร่งจาก McKinsey องค์กรที่ปรึกษาระดับโลก มาฝากทุกคนเป็นเช็กลิสต์ทั้งหมด 4 ข้อ ให้ได้ลองไปเปรียบเทียบกับสไตล์การบริหารของตัวเอง และพัฒนาเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Teamwork
Image by tirachardz on Freepik

1. หยุดเป็นหัวหน้าที่มีความเป็นพิษแฝงอยู่

หัวหน้าที่เป็นพิษ (Toxic Leader) คือหนึ่งในประเภทของหัวหน้าที่ไม่มีใครต้องการทำงานด้วย เพราะนอกจากลักษณะนิสัยของหัวหน้าประเภทนี้ จะถ่วงให้ประสิทธิภาพการทำงานทำงานลดลงแล้ว ยังส่งผลกระทบเชิงลบต่อความรู้สึกของลูกทีมอีกด้วย

2. จัดสรรงานให้เหมาะสมกับความสามารถ

“Right people, Right places”
“วางคนที่ใช่ในที่ที่เหมาะสม”

คอนเซปต์การทำงานในอุดมคติที่หลายคนใฝ่ฝัน ถึงแม้จะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ในความเป็นจริง พนักงานหนึ่งคนกลับได้รับมอบหมายงานที่ไม่ถนัดมากกว่าที่คิด และการฝืนทำงานที่ไม่ถนัดไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีการสอนงานหรือให้คำแนะนำ ก็ยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรงใจจะทำงานต่อ

3. สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อต่อการทำงาน

วัฒนธรรมองค์กร ถือเป็นตัวกำหนดสภาพแวดล้อมในการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรที่เต็มไปด้วยกรอบ และการวางเป้าหมายแบบสุดโต่ง จะทำให้พนักงานรู้สึกเครียดและกดดันตลอดเวลา

แต่ในทางกลับกัน วัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่นจะช่วยผลักดันความสามารถของพนักงานได้อย่างเต็มที่ และ Output ที่หัวหน้าหรือผู้บริหารระดับสูงคาดหวังไว้ก็จะออกมาเอง

4. อย่าทำให้ใครในทีมต้องรู้สึกเดียวดาย

ถึงแม้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมงาน และความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ากับลูกทีมอาจจะไม่ได้ลึกซึ้งกินใจเท่าความสัมพันธ์รูปแบบอื่น แต่ ‘มนุษย์เป็นสัตว์สังคม’ หนีไม่พ้นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันอยู่ดี ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีและการมีทีมที่คอยช่วยเหลือกัน จะทำให้การตัดสินใจลาออกจากปัญหาเรื่องคนลดลงด้วย

ถึงแม้ว่า การตัดสินใจลาออกของใครสักคนจะมีที่มาได้จากหลายสาเหตุ แต่ ‘หัวหน้า’ ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญเช่นกัน และทุกอย่างก็ขึ้นกับหัวหน้าแล้วว่า จะบริหารงานอย่างไร ให้คนเก่งอยู่กับทีมไปนานๆ

Sources: https://mck.co/3SFtZff

https://indeedhi.re/3dRoN9v

https://bit.ly/3dPBFNh

Trending

    Witchayaporn Wongsa

    Witchayaporn Wongsa

    อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)