LOADING

Type to search

ทำงานหนักไม่ใช่บทพิสูจน์คนสำเร็จเร็ว ‘Quiet Quitting’ แนวคิดที่บอกว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

ทำงานหนักไม่ใช่บทพิสูจน์คนสำเร็จเร็ว ‘Quiet Quitting’ แนวคิดที่บอกว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต
Share

อาจจะไม่ถึงกับกรอบตัวเลขเป็นเปอร์เซ็นต์ชัดเจน แต่น่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่มีชุดความคิด ความเชื่อทำนองว่า…

“ทำงานหนักแล้วชีวิตจะดีขึ้น”
“ทำงานหนักแล้วจะประสบความสำเร็จ”

เพราะการทุ่มเททำงานหนักในวันนี้ จะทำให้เราสบายในวันหน้า และมีอนาคตที่สดใส ค่านิยมที่ถูกส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ผ่านการปลูกฝัง ผลิตซ้ำตามสื่อต่างๆ ทำให้ทุกวันนี้ ‘การทำงานหนัก’ กลับกลายเป็นบรรทัดฐานหนึ่งของสังคมการทำงานไปโดยปริยาย

หลายคนยอมขายวิญญาณให้การทำงานหนัก แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่า จะต้องแลกด้วยต้นทุนสุขภาพ ความสัมพันธ์กับเพื่อน และครอบครัว แต่จริงๆ แล้ว ความคิดที่ฝังหัวมาตลอดเหล่านี้ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป และเป็นเพียงมายาคติที่ถูกสร้างขึ้นมาเท่านั้น

quiet-quitting-new-trends-of-employee 1

ผลสำรวจของเอลเดอร์แมน ทรัส บารอมิเตอร์ (Edelman Trust Barometer) จากกลุ่มตัวอย่าง 28 ประเทศทั่วโลกระบุว่า คนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่เชื่อว่า การทำงานหนักจะทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นภายใน 5 ปี ยกตัวอย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฝรั่งเศส เป็นต้น ในทางกลับกัน ประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทย จีน มาเลเซีย อาร์เจนตินา และประเทศอื่นๆ ยังคงก้มหน้าก้มตามองว่า การทำงานหนักนั้นเป็นสูตรสำเร็จของชีวิตที่ดีขึ้นอยู่

ซึ่งหลักๆ แล้ว ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคนส่วนใหญ่กว่า 83 เปอร์เซ็นต์ มีความกังวลต่ออนาคตการทำงาน (Future of Work) ว่า จะถูกปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่ ภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอย การขาดการฝึกฝนทักษะ คู่แข่งคนทำงานต่างชาติที่มีเรตค่าจ้างที่ถูกกว่า และเทรนด์การทำงานยุคใหม่ที่เน้นการจ้างงานแบบชั่วคราว (Gig Economy) หรือฟรีแลนซ์

อีกทั้ง ผลสำรวจดังกล่าวก็ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่า 56 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้ง 2 กลุ่มต่างมองว่า ทุนนิยมกำลังสร้างผลเสียมากกว่าผลดีให้กับโลก ทำร้ายพวกเขาในแง่มุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความยุติธรรม ความปรารถนาให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความมั่นใจ และความหวังก็เช่นกัน นอกจากนี้ ผลการสำรวจของเอดีพี รีเสิร์ช อินสติติว (ADP Research Institute) พบว่า ทุกวันนี้ พนักงานทั่วโลกบางคนก็ทำงานเกินเวลาแบบไม่ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 9.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ด้วย

ความเหนื่อยหน่ายเหล่านี้จึงนำไปสู่ประเด็นที่ว่า การทำงานหนักนั้นช่วยให้ประสบความสำเร็จเร็ว ชีวิตสบายขึ้นจริงหรือ เราควรจะทุ่มเททุกหยาดเหงื่อ แรงกายให้มันขนาดนั้นรึเปล่า?

quiet-quitting-new-trends-of-employee 2

ซึ่งล่าสุดบนโลกโซเชียล โดยเฉพาะอย่างยิ่งติ๊กต็อก (Tiktok) ก็มีการพูดถึง ‘Quiet Quitting’ เทรนด์ใหม่มาแรงที่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า งานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต หากดูเผินๆ ชื่อเหมือนการลาออก แต่ในความเป็นจริง เป็นเพียง ‘การลาออกทิพย์’ ลาออกจากแนวคิดที่อยากจะทุ่มเททำงานหนักกว่าที่จำเป็นต่างหาก และการทำงานแต่พอดี ให้มีชีวิตรอดได้อย่างราบรื่นไม่ใช่เรื่องแย่อย่างที่บางคนคิด

มาเรีย คอร์โดวิซ (Maria Kordowicz) รองศาสตราจารย์ด้านพฤติกรรมองค์กร มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (The University of Nottingham) อธิบายว่า ลึกๆ แล้ว ‘งาน’ กับ ‘ชีวิต’ แยกออกจากกันไม่ได้ขนาดนั้น ท้ายที่สุดแล้ว คุณภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อกันอยู่ดี

เพราะฉะนั้น Quiet Quitting เลยเป็นเพียงความพยายามรักษาความเป็นอยู่ที่ดี ป้องกันความเสี่ยงภาวะ Burnout หรือการนิยามตัวเองผ่านงาน กล่าวคือ ไม่ใช่เทไปซะทีเดียว แต่แค่ไม่ยอมให้มันมาเบียดบังเวลาชีวิตอันมีค่าเฉยๆ นั่นเอง

เคลย์ตัน ฟาร์ริส (Clayton Farris) มนุษย์ออฟฟิศวัย 41 ปี เผยกับเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล (The Wall Street Journal) ว่า “มันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนไปเยอะเลย ตนยังทำงานหนักเหมือนเดิม ยังคงประสบความสำเร็จเท่าเดิม แต่แค่ไม่เครียด และทำลายตัวเองจนไม่เหลือชิ้นดี”

quiet-quitting-new-trends-of-employee 3

อลิซ โบเยส (Alice Boyes) อดีตนักจิตวิทยาได้พูดถึงเรื่องการทำงานหนักในบทความเรื่อง ‘Resisting the Pressure to Overwork’ บนเว็บไซต์ฮาร์วาร์ดบิสซิเนสรีวิว (Harvard Business Review) ไว้ว่า การที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า การทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จเร็วไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ถึงที่สุดแล้ว เราเอาวิธีคิดนี้ไปใช้กับทุกคนไม่ได้

เธอเสริมว่า ตนไม่เชื่อเรื่องการทำงานหนักจะทำให้ประสบความสำเร็จเลยสักนิด ‘เราควรทำงานเพื่อใช้ชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตเพื่อทำงาน’ แทนที่จะมองว่า ‘เราทำงานไปมากแค่ไหน?’ ให้เปลี่ยนมามองว่า ‘เราได้อะไรจากการทำงานนั้น?’ แทน คนทั่วไปจะโฟกัสแค่ปริมาณ ช่วงเวลาที่ทุ่มเทไปการทำงาน แต่คนที่ประสบความสำเร็จจะโฟกัสที่คุณค่า หรือสิ่งที่ได้รับกลับมา

อลิซแนะนำว่า การที่เราจะหยุดชุดความคิดนี้ได้ อย่างแรกเลย ให้ทำความเข้าใจใหม่ว่า การทำงานหนักไม่ได้เชื่อมโยงกับความสำเร็จเสมอ ถัดมา ให้ชัดเจนกับคุณค่าของตัวเอง เรียงลำดับค่านิยมออกมา อย่าคิดว่า จะทำอะไรที่มากกว่าการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ควรนึกถึงทัศนคติ และแนวทางที่จะมาเติมเต็มการทำงานด้วย

อย่างที่สาม เธอบอกว่า ให้ปฏิเสธวัฒนธรรมแห่งความเร่งรีบ (Hustle Culture) เปลี่ยนไปโฟกัสเป้าหมายเชิงลึกที่จะช่วย Achieve เป้าหมายที่ใหญ่กว่า และการ Craft ให้งานออกมาดี อย่างที่สี่ ให้ลองมองหาไอดอล หรือ Role Models ที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำงานหนัก

และสุดท้าย ให้เพิกเฉยกับคำขอให้ทำงานหนัก อย่างเช่น การงดตอบแชตงานนอกเวลา เพราะพฤติกรรมนี้ไม่เพียงบั่นทอนเรา แต่ก็ยังถูกส่งต่อกันเป็นทอดๆ พลอยทำให้คนอื่นติดร่างแหการทำงานหนักตาม รวมไปถึงอลิซยังบอกว่า หากเจอหัวหน้าที่กดดันให้ทำงานหนัก นั่นก็เป็นสัญญาณว่า ‘ที่นี่อาจจะไม่ใช่ของเรา’ ถึงเวลาคิดทบทวนชีวิตกันใหม่ว่า จะไปต่อหรือพอแค่นี้?

ท้ายที่สุดแล้ว ความตั้งใจดี อยากประสบความสำเร็จเร็วๆ อยากก้าวหน้าในหน้าที่การงานไม่ใช่เรื่องผิด เช่นเดียวกับการทำงานเท่าที่จำเป็น คุณทุ่มเทได้ แต่ควรมีลิมิตตัวเองด้วย เพราะต่อให้ขาดเรา เขาก็อยู่ได้ วันนี้เราลาออก พรุ่งนี้บริษัทก็หาคนใหม่มาแทน

เราทำงานเพื่อเอาเงินไปซื้อความสุข

ไม่ได้ทำเพื่อเอาเงินไปรักษาตัวเองที่โรงพยาบาลนะ อย่าลืมล่ะ 🙂

Sources: https://bit.ly/3Ap3vr4

https://wapo.st/3Rdgwe1

https://bit.ly/3wwEPvG

https://bloom.bg/3At6hLI

https://bit.ly/3QT1af0

https://on.wsj.com/3wzSodQ

https://bit.ly/3AptHBZ

https://bit.ly/3pKW3Bx

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like