LOADING

Type to search

5 เช็กลิสต์ความเป็น ‘Toxic Leader’ แบบ ‘จางซึงจุน’ จาก Extraordinary Attorney Woo
Share

ซีรีส์จบ คนไม่จบ ใครยังอินอยู่มารวมกันตรงนี้

ถึงแม้ว่า ตอนนี้ซีรีส์จากแดนกิมจิเรื่อง ‘Extraordinary Attorney Woo’ หรือ ‘อูยองอู ทนายอัจฉริยะ’ จะลาจอไปแล้ว แต่ตัวซีรีส์เองก็ได้ฝากข้อคิดไว้กับคนดูมากมาย รวมถึงกระแสความนิยมยังทำให้คำว่า ‘อูยองอู’ ชื่อตัวเอกของเรื่องกลายเป็นคำฮิตติดปากที่พูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง

หนึ่งในข้อคิดที่ซีรีส์ถ่ายทอดออกมาอย่างน่าสนใจและค่อนข้างสมจริง ก็คือประเด็นการทำงานของชาวออฟฟิศในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความสมดุลของการทำงานและชีวิตส่วนตัว ความเจ็บป่วยจากการโหมงานหนัก การปรับตัวเข้ากับสังคมการทำงาน และการทำงานกับหัวหน้าที่มีดีเอ็นเอ (DNA) ไม่เข้ากัน

สำหรับใครที่เคยรับชมซีรีส์เรื่องนี้คงทราบดีว่า หัวหน้าที่คอยดูแลการทำงานของอูยองอูและทนายน้องใหม่คนอื่นๆ คือ ‘จองมยองซอก’ ทนายอาวุโสที่มีประสบการณ์การทำงานมาถึง 14 ปี เขาเป็นหัวหน้าที่มีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy) และเป็นเหมือนโอเอซิสกลางทะเลทรายสำหรับลูกทีมทุกคน

แต่ทุกอย่างกับพลิกผัน เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น และทำให้ทีมทนายน้องใหม่ต้องทำงานกับหัวหน้าที่ชื่อ ‘จางซึงจุน’ แทน ซึ่งทุกคนที่รับชมซีรีส์เรื่องนี้ต่างพูดถึงแคแรกเตอร์ของจางซึงจุนเป็นเสียงเดียวกันว่า “นี่แหละคือ ‘Toxic Leader’ ขนานแท้”

แล้ว Toxic Leader คืออะไร? เป็นหัวหน้าแบบไหน? เราจะพาทุกคนไปทำความเข้าใจคำนี้ผ่านตัวละคร ‘จางซึงจุน’ กัน

‘Toxic Leader’ ต้นเหตุของ ‘Toxic Relationship’ ในที่ทำงาน

คำว่า ‘Toxic Leader’ คือคำที่ใช้นิยามถึงหัวหน้าที่มีรัศมีความเป็นพิษอยู่รอบตัว ทำงานกับใครก็พาลให้เกิดบรรยากาศที่เป็นพิษไปหมด รวมถึงมีลักษณะนิสัยบางอย่างที่สร้างความไม่สบายใจให้กับลูกทีมและเพื่อนร่วมงานได้ เช่น ยึดเอาตัวเองเป็นที่ตั้งไม่ฟังใคร ผลักภาระและความรับผิดชอบให้คนอื่น รับเอาความดีความชอบใส่ตัวแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (University of Manchester) ที่ทำการสำรวจกับพนักงานออฟฟิศในบริษัทต่างๆ จำนวน 1,200 คน เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ (Toxic Relationship) ในที่ทำงาน ผลปรากฏว่า การมีหัวหน้าที่เป็นพิษทำให้เกิดปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการบูลลี่ในที่ทำงาน ความโปรดักทีฟลดลง เกิดภาวะเครียด และรู้สึกหมดไฟ

ถึงแม้ว่า การเก็บหัวหน้าที่เป็นพิษไว้ในบริษัทจะทำให้เกิดปัญหากับพนักงานคนอื่นๆ แต่หัวหน้าประเภทนี้กลับมีทักษะ ‘รู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง’ ดีเยี่ยมกว่าใคร เมื่อเกิดภัยใกล้ตัวก็เอาตัวรอดจากทักษะของตัวเองได้ทุกครั้ง จริงๆ แล้ว บริษัทก็ทราบว่ามีปัญหาเช่นนี้อยู่ แต่ไม่ขอลงมาจัดการ เพราะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทีมควรจัดการกันเอง

แต่ในอีกมุมหนึ่ง หัวหน้าที่เป็นพิษก็ไม่ใช่คนที่เลวร้ายอะไร เพียงแต่เป็นกลุ่มคนที่ถูกหล่อหลอมให้เอาตัวรอดในสังคมการทำงานมาก่อน เมื่อวันที่ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้ามาถึง พวกเขาจึงกลายเป็นคนที่ส่งต่อวัฒนธรรมการทำงานที่ไม่ดีมายังคนทำงานรุ่นใหม่ด้วย

toxic-leader-extraordinary-attorney-woo 1

เช็กลิสต์ความเป็น ‘Toxic Leader’ แบบ ‘จางซึงจุน’

หลังจากที่ทุกคนทำความเข้าใจเกี่ยวกับ Toxic Leader หรือหัวหน้าที่เป็นพิษในภาพรวมไปแล้ว เราจะพาไปลงรายละเอียดถึงลักษณะเฉพาะของหัวหน้าประเภทนี้ผ่านตัวละคร ‘จางซึงจุน’ ด้วยเช็กลิสต์ 5 ข้อแบบไม่สปอยล์เนื้อหาสำคัญของซีรีส์ ดังนี้

1. อีโก้สูงเสียดฟ้า คิดแต่ว่า “ฉันเก่งกว่าลูกน้อง”

ด้วยประสบการณ์การทำงานเป็นเวลา 10 กว่าปีของจางซึงจุน ทำให้เขาเชื่อมั่นในความคิดของตัวเองมาก และยึดติดในระบบอาวุโส จนไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของทนายน้องใหม่ที่เสนอแนะแนวทางที่ดีกว่า เพราะคิดว่าแนวทางการทำงานของตัวเองถูกต้องและเหมาะสมแล้ว

2. เจ้าแห่งการออกคำสั่ง

“อย่าพูดทั้งที่ไม่ได้ถาม อย่าทำทั้งที่ไม่ได้สั่ง”

คำสั่งที่จางซึงจุนใช้กับอูยองอู เพื่อไม่ให้เธอเสนอความคิดเห็นของตัวเองที่ไม่เข้าหูเขา ทั้งที่จริงๆ แล้ว อูยองอูมีความสามารถพิเศษในการจดจำมาตรากฎหมายทั้งหมดได้เป็นอย่างดี ทำให้เธอสามารถช่วยลูกความของตัวเองจากจุดที่คนอื่นมองข้ามไป

3. ปล่อยให้ลูกน้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากตามลำพัง

ในซีรีส์มีฉากที่ทีมของจางซึงจุนต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่สิ่งที่เขาทำก็คือทิ้งให้ทนายมือใหม่รับมือกับสถานการณ์ตรงหน้า ส่วนตัวเองหนีเอาตัวรอดไปคนเดียว และการที่จางซึงจุนตัดสินใจทำเช่นนี้ ทำให้ลูกทีมหมดความเชื่อมั่นในตัวเขา จากที่แต่เดิมก็ไม่ค่อยจะเชื่อมั่นอยู่แล้ว

4. ใช้อารมณ์ในการนำทีม

หากใครรับชมซีรีส์เรื่องนี้อยู่แล้ว คงเห็นฉากที่จางซึงจุนตะคอกและขึ้นเสียงใส่ทีมทนายน้องใหม่กันแบบฉากต่อฉาก เพียงเพราะพวกเขาเสนอความคิดเห็นในการทำงาน และแก้ไขสิ่งที่ผิดให้ถูกต้อง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจางซึงจุนจนเขารู้สึกโมโห และทำให้บรรยากาศการทำงานในทีมแย่ลงไปด้วย

5. เอาความดีความชอบใส่ตัว

ก่อนหน้านี้ จางซึงจุนปฏิเสธทุกความคิดเห็นของทีมทนายน้องใหม่ แต่สิ่งที่ทำให้ทีมประสบความสำเร็จ ก็คือความคิดเห็นที่เขาละเลยไป และเป็นธรรมดาที่จะได้รับคำชมจากผู้บริหารเมื่อเราทำงานได้สำเร็จ แต่สุดท้ายจางซึงจุนก็รับคำชมนั้นไปคนเดียวโดยไม่พูดถึงความพยายามของลูกทีมเลย

จริงๆ แล้ว การที่เราเป็นหัวหน้าที่เป็นพิษในสายตาของคนอื่นล้วนเกิดจากการปฏิบัติของตัวเองทั้งสิ้น ไม่มีคำว่า ‘สายเกินไป’ สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ซึ่งบทเรียนจากตัวละคร ‘จางซึงจุน’ คงทำให้หัวหน้าหลายๆ คนได้ลองตกผลึกว่า “ถ้าเราไม่ต้องการที่จะเป็นหัวหน้าประเภทนี้ควรปฏิบัติตัวอย่างไร?”

Sources: https://bit.ly/3uXNt5I

https://bit.ly/3QLXOdy

https://bit.ly/3PGFj91

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like