Type to search

‘เมื่อความผิดหวังเกาะกินจิตใจ ปลดเปลื้องอย่างไรจึงจะหายทุกข์’ 5 วิธีรับมือเมื่อสิ่งที่เราคาดหวังไม่สมดั่งใจปรารถนา ตามฉบับ Harvard Business Review

July 19, 2023 By Chananchida Ployplai

‘ก็เมื่อฉันรักใคร ฉันต้องเป็นคนผิดหวัง สุดท้ายเมื่อรักไป หัวใจต้องแตกทุกครั้ง ทำไมต้องเป็นฉัน ผู้ถูกเลือกให้ผิดหวัง’ เสียงเพลงบรรเลงเนิบนาบผสานเข้ากับเนื้อหาอันแสนเศร้า ใครที่ได้ฟังอาจจะสงสัยว่าทำไมชีวิตของคนๆ หนึ่งถึงน่าสงสารได้ขนาดนี้กัน

แต่ไม่ได้มีแค่เรื่องของความรักหรอกนะที่ทำให้เรารู้สึก ‘ผิดหวัง’ เพราะเมื่อเราสร้าง ‘ความคาดหวัง’ พร้อมตีตรามันลงไปในทุกสิ่งและทุกการกระทำ สิ่งนั้นๆ อาจหวนกลับมาทำให้เรารู้สึก ‘ผิดหวัง’ได้ทุกเมื่อ และไม่ว่าใครก็คงพูดได้ไม่เต็มปากหรอกว่าตั้งแต่เกิดมาชีวิตนี้ ‘ไม่เคยผิดหวัง’ แม้แต่ครั้งเดียว

เมื่อเรามีความหวัง จุดหมายปลายทางมีได้ 2 แบบ คือ การสมหวัง และการผิดหวัง แน่นอนว่าใครๆ ก็อยากให้ปลายทางของเรานั้นมีแต่ความสุขสมหวังดั่งใจปรารถนา แต่ก็ใช่ว่ามันจะสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทั้งความผิดหวังยังนำมาซึ่งความเจ็บปวดต่อผู้คาดหวัง นอกจากนี้ เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าใครแย่หรือน่าสงสารกว่า เพราะแต่ละคนต่างมีภูมิต้านทานทางจิตใจที่ไม่เท่ากัน แม้ว่าจะเป็นการผิดหวังในเรื่องเดียวกันก็ตาม

ความผิดหวัง คือการรู้สึกไม่มีความสุขเพราะบางสิ่งบางอย่างไม่เป็นไปตามที่ใจหวัง และเมื่อรู้สึกไม่มีความสุข ความรู้สึกที่ตามมาคงไม้พ้นความเศร้าซึม และอาจร้ายแรงไปจนถึงการเป็นโรคซึมเศร้า

สาเหตุของความผิดหวังมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ  การเกิดความผิดพลาด ความคาดหวังจากคนอื่นหรือปัจจัยภายนอก  และสุดท้ายความผิดหวังนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ในวัยเยาว์

การจมอยู่กับความผิดหวังและความเศร้าซึมนานๆ ไม่ใช่เรื่องที่ดี และคงไม่มีใครอยากติดอยู่ในหนองน้ำแห่งนี้ตลอดไป วันนี้ Future Trends ขอนำเสนอ 6 วิธีจาก Harvard Business Review ที่จะช่วยให้เรารับมือกับความผิดหวังและหลุดพ้นจากความทุกข์นี้ได้

1. แยกแยะว่าความผิดหวังที่เกิดจากสิ่งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ออกจากกัน

เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าความผิดหวังนั้นเกิดได้ทั้งจากปัจจัยที่ควบคุมได้และปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้ บางอย่างอาจป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่บางอย่างก็อยู่นอกเหนือการควบคุม ดังนั้นการที่เรามีความสามารถในการแยกแยะจะช่วยให้เรารับมือกับความผิดหวังได้ดีขึ้น

2. ประเมินความคาดหวังของเราว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

การตั้งความคาดหวังไว้ในจุดที่ ‘สูง’ กว่าความเป็นไปได้อาจทวีคูณความผิดหวังให้เอ่อล้นในความรู้สึก การตั้งความหวัง ‘ต่ำ’ ไปก็เช่นกัน ดังนั้นเราจึงควรหาจุดตรงกลางเพื่อปรับสมดุลของความหวังให้เข้าที่เข้าทาง

3. สำรวจตนเองดูใหม่

การรู้สึกผิดหวังได้ง่ายอยู่บ่อยๆ เป็นสัญญาณหนึ่งที่เตือนว่าเราควรสำรวจพฤติกรรมของตัวเอง ว่ามีการกระทำอะไรที่สามารถทำให้เรารู้สึกผิดหวัง เมื่อพบแล้วให้นำพฤติกรรมนั้นมาปรับแก้ นอกจากนี้การที่เรารู้จักตัวเองมากขึ้นจะสามารถทำให้จัดการกับความผิดหวังได้แบบสบายๆ

4. ไม่ต้องคร่ำครวญนาน

การจมอยู่กับความรู้สึกนั้นส่งผลต่อร่างกายและสุขภาพจิตในเชิงลบ  ดังนั้นอย่ามัวแต่คร่ำครวญหรือเสียใจเป็นเวลานาน เพราะจะมันจะยิ่งพาเราด่ำดิ่งไปสู่ความเศร้าและอาจทำให้เราหาทางออกไม่ได้อีกเลย

5. ปรับมุมมองให้มีแต่พลังงานบวก

เพื่อพบว่าตัวเองกำลังคิดลบต่อความผิดหวัง ให้รีบเบนเข็มไปหาพลังงานบวกในทันที เราอาจะลังเลที่จะทิ้งความผิดหวังที่สามารถเก็บไว้เป็นเครื่องเตือนในได้ แต่ในระยะยาว หากเราจัดการมันไม่เป็น ก็คงไม่ต่างอะไรกับการที่เราเก็บขยะเอาไว้ในใจ ดังนั้น คิดบวกเอาไว้ดีกว่า

6. ความผิดหวังช่วยให้เราเติบโตขึ้น

‘No pain no gain’ เรียกได้ว่าถ้าไม่ผิดหวังเราก็คงไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นเราในทุกวันนี้ได้ ถึงแม้จะส่งผลกระทบรุนแรงไปบ้าง แต่มันก็สามารถเป็นแรงผลักดันให้เราสู้ต่อไปได้พร้อมกับการมีสติและความรู้ที่มากขึ้นเช่นกัน

ในบางครั้ง ความผิดหวังอาจเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้เราจะเจอเรื่องที่น่าผิดหวังอยู่บ่อยๆ ล้มลุกคลุกคลานจนรู้สึกท้อแท้ ก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ไปล่ะ ท้อไม่ได้มีไว้ให้ลิงถืออย่างเดียว เราเองก็ถือได้เหมือนกัน (แต่อย่าถือไว้นาน) ยังไงชีวิตก็ยังมีพรุ่งนี้ยังมีเสมอ!

เขียนโดย ชนัญชิดา พลอยพลาย

Sources:

https://www.betterup.com/blog/disappointment

https://hbr.org/2018/08/dealing-with-disappointment