LOADING

Type to search

อะไรจะอยู่ อะไรจะไป ในวันที่การศึกษาไม่ได้มีแค่ครูกับนักเรียน ส่อง 5 เทรนด์ ‘EdTech’ มาแรงในปี 2022

อะไรจะอยู่ อะไรจะไป ในวันที่การศึกษาไม่ได้มีแค่ครูกับนักเรียน ส่อง 5 เทรนด์ ‘EdTech’ มาแรงในปี 2022
Share

การแพร่ระบาดของโควิด-19 (COVID-19) ทำให้การใช้ชีวิตของเราเปลี่ยนไปเป็น ‘ชีวิตวิถีใหม่’ (New Normal) คำที่ทุกคนคงได้ยินกันบ่อยๆ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในตอนนี้ คำว่า ‘New Normal’ ก็น่าจะเป็นคำว่า ‘Normal’ แบบกลายๆ ไปแล้ว เพราะดูไม่มีทีท่าที่เราจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบก่อนที่จะรู้จักกับโควิด-19 ในเร็วๆ นี้ได้เลย

ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับตัวตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่ อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ประกอบการหน้าใหม่จะเข้ามาบุกตลาด และสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในยุคนี้

‘การศึกษา’ คือหนึ่งในวงการที่ถูกสถานการณ์บีบบังคับให้มีการปรับตัวตามแนวทางชีวิตวิถีใหม่มากที่สุด ด้วยปัญหามากมายจากการเรียนออนไลน์ ทำให้มีผู้ประกอบที่มองเห็นโอกาส และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ จนเกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘เทคโนโลยีทางการศึกษา (Education Technology)’ หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘EdTech’

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ EdTech เติบโตเป็นอย่างมาก และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ อีกในอนาคต โดยมีการคาดการณ์กันว่า ในปี 2027 ตลาด EdTech จะสามารถทำเงินได้สูงถึง 680 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 17.9% ของมูลค่าตลาดที่ทำได้ในปี 2020

และหากใครที่สนใจเกี่ยวกับ EdTech หรือกำลังวางแผนจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ บอกเลยว่าห้ามพลาด! เพราะวันนี้ Future Trends ได้คัดเลือกเทรนด์ EdTech มาแรงในปี 2022 มาให้ได้อ่านกันทั้งหมด 5 เทรนด์ ซึ่งจะมีอะไรกันบ้าง ไปดูกันเลย

1. Lifelong learning (subscription services): เมื่อการเรียนรู้ไม่มีคำว่าสิ้นสุด จะเป็นใคร หรือวัยไหนก็เรียนได้
จากที่ก่อนหน้านี้ การเรียนหนังสือเป็นแค่เรื่องของเด็ก แต่ในปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถเรียนเพื่อพัฒนาทักษะของตัวเองได้ เพียงแค่จ่ายเงินก็สามารถเข้าเรียนในบทเรียนที่มีอยู่ได้อย่างไม่จำกัด โดยบริษัทในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จกับการทำ Lifelong learning คือ Coursera และ Udemy หรือถ้าเป็นในไทยก็จะมีชื่อที่หลายคนคุ้นหู อย่างเช่น FutureSkill และ SkillLane เป็นต้น

2. Gamification: เปลี่ยนการเรียนที่แสนน่าเบื่อให้กลายเป็นเกมที่แสนสนุก
Gamification คือกระบวนการออกแบบสื่อการเรียนการสอนให้มีความสนุกเหมือนกับการเล่นเกม อาจจะมีการสอดแทรกภารกิจให้ผู้เรียนทำ และเมื่อทำสำเร็จก็จะได้ไอเทมต่างๆ เป็นการตอบแทน

หากจะให้พูดถึงตัวอย่างของ Gamification คงไม่มีใครไม่รู้จัก Kahoot แพลตฟอร์มการเล่นควิซชื่อดัง หรืออย่าง Duolingo แอปพลิเคชันฝึกภาษาอังกฤษในรูปแบบของเกมตอบคำถาม ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกสนุก และไม่มองว่าการเรียนภาษาอังกฤษน่าเบื่ออีกต่อไป

3. Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR): ห้องเรียนจำลองที่จะเสริมสร้างการเรียนรู้ในแบบที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน
เมื่อการเรียนออนไลน์ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงได้ รวมถึงยังทำให้ผู้เรียนขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมชั้น เทคโนโลยี AR และ VR จึงถูกนำมาใช้เพื่อจำลองสถานการณ์ต่างๆ ที่ผู้เรียนต้องฝึกปฏิบัติ และยังช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกเหมือนได้เรียนอยู่ในห้องเรียนกับเพื่อนร่วมชั้นจริงๆ

4. Artificial Intelligence (AI): เมื่อคิดไม่ออกว่าจะเรียนอะไร ก็ให้ AI เป็นคนเลือกแทน
AI จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการช่วยคัดสรรบทเรียนที่เหมาะสมให้กับผู้เรียน โดยมีหลักการทำงานคล้ายกับอัลกอริทึมของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่จะแนะนำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ผู้ชมน่าจะชอบมาให้ในหน้าแรกของแอปพลิเคชัน

5. Bite-sized learning: บทเรียนพอดีคำที่ใช้เวลาแค่วันละ 5-10 นาที ก็สามารถเรียนรู้อะไรได้มากมาย
โดยปกติแล้ว ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบฟังเนื้อหาที่มีความยาวมากจนเกินไป ยิ่งในช่วงที่ต้องเรียนออนไลน์ ผู้เรียนจะยิ่งรู้สึกว่าทำไมต้องมาฟังอะไรแบบนี้ด้วย ซึ่งทำให้ผู้เรียนเลือกที่จะกดออกก่อนเนื้อหาจะจบเสียอีก

ดังนั้น ทางออกของปัญหานี้ คือการย่อยเนื้อหาบทเรียนให้ใช้เวลาในการเรียนน้อยที่สุด โดยในต่างประเทศมี Headway แอปฯ ที่จะคอยอัปเดตความรู้ใหม่ๆ แบบสั้นๆ ให้กับผู้ใช้งานอยู่เสมอ ซึ่งก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี

หลายคนอาจจะคิดว่า เดี๋ยวเทรนด์ EdTech พวกนี้ก็คงจะซาตามโควิด-19 ที่มีแววว่า จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในอีกไม่ช้า แต่ความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่แบบนั้น เพราะล่าสุดมีผลการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ 3 คน จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) มหาวิทยาลัยชิคาโก (Chicago University) และ Mexico Autonomous Institute of Technology (ITAM) ที่ได้สำรวจความคิดเห็นของคนในสหรัฐฯ ที่มีอายุ 20-64 ปี เกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังจบการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 75,000 คน

โดยผลการวิจัยได้ระบุว่า มีผู้ที่จะไม่กลับไปใช้ชีวิตแบบช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกเลยถึง 15% ซึ่งอาจจะเป็นตัวเลขที่ดูไม่เยอะ แต่ก็แสดงให้เห็นว่า วิถีชีวิตของคนเราได้เปลี่ยนไปแล้ว ต่อให้การแพร่ระบาดจบลง คนก็เลือกที่จะใช้ในแบบที่ตัวเองพึงพอใจอยู่ดี

ดังนั้น เทรนด์เกี่ยวกับ EdTech หรือเทรนด์ในด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะยังคงอยู่ต่อไปแน่นอน ทีนี้คงเป็นโจทย์ของผู้ประกอบการแล้วว่า จะใช้เทรนด์เหล่านี้มาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพื่อมัดใจผู้บริโภคด้วยกลยุทธ์อะไรบ้าง

Sources: https://bit.ly/3MkmhEb

https://bit.ly/3xNgwef

https://bit.ly/3rIOFrL

Tags::

You Might also Like