LOADING

Type to search

‘White Collar Recession’ คืออะไร? ทำไมถึงอันตรายต่อ ‘มนุษย์เงินเดือน’
Share

‘เมตา’ (Meta) ปลดพนักงานมากกว่า 11,000 คน

‘เน็ตฟลิกซ์’ (Netflix) ปลดพนักงาน 2 รอบรวมกันราว 450 คน

‘เทสลา’ (Tesla) ปรับลดพนักงานที่รับเงินเดือนถึง 10 เปอร์เซ็นต์

ภายใต้ข่าวการปลดพนักงานที่เป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์มาตลอดทั้งปี ทุกคนมองเห็นประเด็นที่ซ่อนอยู่หรือเปล่า?

ต้องยอมรับว่า กลุ่มพนักงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการปลดพนักงานครั้งใหญ่ในปี 2022 คือกลุ่มพนักงานออฟฟิศหรือ ‘มนุษย์เงินเดือน’ ที่อยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้าผ่านการวางแผนและพัฒนาระบบในองค์กร

เมื่อพูดถึงการปลดพนักงาน จะมีประเด็นที่เกี่ยวข้องตามมาด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อ ภัยสงคราม การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) และการขาดสภาพคล่องในการบริหารงาน แต่ประเด็นเกี่ยวกับอนาคตของคนทำงานยังไม่ถูกพูดถึงในวงกว้างเท่าที่ควร

Future Trends จะพาทุกคนไปสำรวจอีกด้านของการปลดพนักงานที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์เงินเดือนโดยตรง นั่นคือ ‘White Collar Recession’ หรือ ‘ภาวะถดถอยของมนุษย์เงินเดือน’

จุดเริ่มต้นของการเกิด ‘White Collar Recession’

White Collar Recession
Image by Drazen Zigic on Freepik

White Collar Recession คือภาวะที่พนักงานออฟฟิศถูกลดบทบาทความสำคัญ และกลายเป็นกลุ่มที่ถูกปลดออกจากบริษัทมากที่สุด ซึ่งการปลดพนักงานจำนวนมากในคราวเดียวเป็นภาพสะท้อนของภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นสัญญาณของการเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่ฉายชัดขึ้นทุกวัน

จริงๆ แล้ว การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นหนึ่งในวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวตามกลไกการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงเวลานั้นๆ และไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาถึงในเวลาอันรวดเร็วก็คือ ‘โควิด-19’ นั่นเอง

นอกจากการระบาดของโควิด-19 จะคร่าชีวิตผู้คนนับล้านแล้ว ยังสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างหนักอีกด้วย เพราะนโยบายการควบคุมโรค ทำให้ฟันเฟืองของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจค่อยๆ หายไปทีละตัว ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินงานของภาคธุรกิจที่ต้องหยุดชะงัก หรือแม้แต่การเปลี่ยนผ่านวิถีชีวิตมาสู่รูปแบบออนไลน์ก็ตาม

ซึ่งประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาไม่สามารถอยู่เฉยได้ และต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยรูปแบบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯ เลือกใช้มีชื่อว่า ‘การฟื้นตัวแบบรูปตัววี’ (V-Shape)

การฟื้นตัวแบบรูปตัววี คือการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวในช่วงสั้นๆ ไปสู่ภาวะเศรษฐกิจปกติอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยลดความบอบช้ำในช่วงแรกได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือปัญหา ‘คอขวด’ (Bottleneck) ที่ทำให้กระบวนการผลิตบางส่วนหยุดชะงัก และไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่ออุปสงค์ที่สูงลิ่ว จนกลายเป็นต้นตอของ ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ ในที่สุด

ถึงแม้ว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อสภาพเศรษฐกิจเป็นทุนเดิม แต่เมื่อภัยสงครามและความขัดแย้งเข้ามาเยือน ภาคธุรกิจยิ่งบอบช้ำไปตามๆ กัน เพราะห่วงโซ่อุปทานของโลกถูกดิสรัปต์จากการที่บางประเทศไม่สามารถส่งออกสินค้าของตัวเองได้ และ ‘จีน’ ฐานการผลิตของโลกตัดสินใจใช้นโยบาย ‘ซีโร่ โควิด’ (Zero COVID) อย่างเข้มข้น ทำให้บริษัทที่มีฐานการผลิตในจีนได้รับผลกระทบไปเต็มๆ

เมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจและการผลิตกำลังซบเซาอย่างเห็นได้ชัด แต่ละบริษัทต้องวางแผนและกำหนดทิศทางการดำเนินงานรูปแบบใหม่ที่พร้อมต่อการเผชิญกับวิกฤตต่างๆ อย่างการปรับโครงสร้างองค์กร (Restructuring) และการลดขนาดองค์กร (Downsizing) ทำให้การปลดพนักงานต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลจากครันช์เบส (Crunchbase) ระบุว่า ในปี 2022 บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ปลดพนักงานไปแล้วราว 88,000 คน แต่สิ่งที่น่ากังวลไม่แพ้กัน คือไม่ได้มีเพียงอุตสาหกรรมเทคฯ เท่านั้นที่ปลดพนักงานจำนวนมาก เพราะอุตสาหกรรมอื่นๆ เริ่มมีข่าวการปลดพนักงานให้เห็นกันแล้ว เช่น ‘เป๊ปซี่โค’ (PepsiCo) รายใหญ่ในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่เตรียมปลดพนักงานหลายร้อยชีวิตในสหรัฐฯ

‘White Collar Recession’ กับความเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงาน

Employee
Image by rawpixel.com on Freepik

การเติบโตของอุตสาหกรรมเทคฯ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มีผู้คนหลั่งไหลเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อปัจจัยจากวิกฤตต่างๆ ไม่เอื้อต่อการเติบโตอย่างที่คาดหวัง หลายๆ คนต้องจำยอมโบกมือลาตำแหน่งงานของตัวเองไป แต่การโบกมือลาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าอย่างที่คิด

ข้อมูลจากคอมพ์เทีย (COMPTIA) ระบุว่า 59 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี (Tech Talent) กำลังทำงานนอกอุตสาหกรรมเทคฯ นั่นเท่ากับว่า อุตสาหกรรมอื่นๆ พยายามปั้นธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และดึงบุคลากรด้านเทคฯ มาเสริมทัพความแข็งแกร่งในบริษัท เช่น วอลมาร์ต (Walmart) รายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกจ้างผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลมากขึ้น เพื่อพัฒนาระบบหลังบ้านของตัวเอง

การที่บุคลากรด้านเทคฯ เปลี่ยนผ่านมาสู่อุตสาหกรรมอื่นนอกจากเทคโนโลยี ถือเป็น ‘The Great Reshuffle’ หรือ ‘การสับเปลี่ยนครั้งใหญ่’ รูปแบบหนึ่ง เพราะท้ายที่สุด ผู้คนที่จากลาวงการเทคฯ มาได้สวมหมวกใบใหม่ และใช้ความรู้ในการทำงานที่ต่างจากเดิม

แต่ในขณะที่กลุ่มพนักงานออฟฟิศกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน กลุ่มพนักงานใช้แรงงาน (Blue Collar) กลับเนื้อหอมขึ้นมาทันตา เมื่อในสหรัฐฯ กำลังขาดแคลนแรงงานในโรงงานและร้านอาหารเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีจำนวนแรงงานกลับเข้าสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ประมาณ 3 ล้านคน

ดังนั้น White Collar Recession ถือเป็นสัญญาณแห่งการกลับตาลปัตรของตลาดแรงงานในปัจจุบัน เพราะช่วงที่โควิด-19 ระบาดอย่างหนักจนทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่วิถีชีวิตแบบออนไลน์ กลุ่มพนักงานใช้แรงงานคือกลุ่มที่ต้องออกจากตลาดแรงงานมากที่สุด ส่วนพนักงานออฟฟิศคือกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากการที่ภาคธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ในตอนนี้ กลุ่มพนักงานใช้แรงงานกลับเป็นฝ่ายถือไพ่เหนือกว่าแทน

แล้วทุกคนคิดว่า ทิศทางการจ้างงานในอนาคตจะเป็นอย่างไร? พนักงานกลุ่มใดจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบมากกว่ากัน?

Sources: https://bit.ly/3VGseAq

https://bit.ly/3Pa1OVp

https://bit.ly/3h4l4Ho

https://bit.ly/3UCFwNe

http://bit.ly/3Gsy3gm

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like