Type to search

สูญเสียกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หุ้นทุกตัวแดงทั้งกระดาน ว่าด้วยผลสะเทือนหลัง Fed ขยับดอกเบี้ยแรง

May 15, 2022 By Witchayaporn Wongsa

ปี 2022 เป็นปีที่ทำให้เหล่านักลงทุนหลายๆ คนต้องรู้สึกชอกช้ำ เจ็บซ้ำๆ อยู่ในอก เพราะเมื่อส่องกระดานหุ้นทีไร ก็พบว่า มัน ‘แดงทั้งแถบ’ ทุกที แถมติดอยู่บนดอยมาตั้งแต่ต้นปี จะได้ลงมาอีกทีเมื่อไรก็ไม่รู้

ตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย หรือแม้แต่ผลพวงจากการระบาดของโควิด-19 ด้วย ซึ่งผลกระทบที่ว่า ก็ทำให้แม้แต่หุ้นบลูชิป (Blue Chip) ศักยภาพสูงจากบริษัทเทคฯ ชั้นนำระดับโลก ยังต้านทานไม่ไหว และพากันติดลบรัวๆ ไปในที่สุด

และหากดูมูลค่าของหุ้นในตลาดแล้ว เราจะพบว่า หุ้นกลุ่มเทคโนโลยี คือหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง โดยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา หุ้นของบริษัท ‘บิ๊กเทค’ (Big Tech) สูญเสียมูลค่ารวมกันกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และแอปเปิล (Apple) คือบริษัทที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะสูญเสียมูลค่าในตลาดหุ้นไปถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งๆ ที่เรื่องเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่ไกลตัว และยังเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนอยู่แล้ว รวมถึงผลประกอบการของบริษัทเหล่านี้ ก็ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่แย่จนรับไม่ได้ ทำไมหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจึงกลายเป็นหุ้นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด?

วันนี้ เราจึงรวบรวมปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง มาวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป และเพราะเหตุใดมันจึงมีผลกับราคาหุ้นที่ร่วงแรงจนแดงทั้งกระดานขนาดนี้?

ภาวะเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ ‘Fed’

ดูเหมือนว่า การประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ ‘เฟด’ (Fed) เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่พุ่งขึ้นสูงถึงราวๆ 8 เปอร์เซ็นต์ จะส่งผลกระทบเชิงลบกับการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอย่างหุ้นพอสมควร เพราะเมื่อเฟดมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย หรือเกิดภาวะเงินเฟ้อรุนแรง นักลงทุนจะประเมินว่า การลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น มีความเสี่ยงสูงขึ้น จึงทำให้เกิดการตัดสินใจเทขาย แล้วไปซื้อสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงมากกว่าแทน ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงไปตามระเบียบ

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบ ‘V-Shape’ ในสหรัฐฯ

หลายๆ คนอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับคำนี้ แต่จริงๆ แล้ว คอนเซ็ปต์ของมันไม่ได้เข้าใจยากอย่างที่คิด เพราะการฟื้นตัวแบบรูปตัววี (V-Shape) คือการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจหดตัวในช่วงสั้นๆ ไปสู่ภาวะเศรษฐกิจปกติอย่างรวดเร็ว เหมือนไม่เคยมีปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นมาก่อน

ซึ่งการที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วขนาดนี้ ต้องเกิดจากนโยบายและการอัดฉีดงบประมาณจำนวนมากจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มอุตสาหกรรมกลับมาทำงาน และมีกำลังการผลิตได้ดังเดิม แต่การกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวด้วยวิธีนี้ ก็ไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป เพราะอาจทำให้เกิดปัญหา ‘คอขวด’ (bottleneck) ในกระบวนการผลิต ทำให้อุปทานที่เป็นความต้องการขายตามไม่ทันอุปสงค์ที่เป็นความต้องการซื้อ สินค้าในตลาดมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้ของแพง อีกทั้งยังเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงอีกด้วย

นโยบาย ‘Zero-Covid’ ของจีนทำการผลิตหยุดชะงัก

อย่างที่ทราบกันดีกว่า เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจีนเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจอย่างเซี่ยงไฮ้ จนรัฐบาลจีนตัดสินใจใช้นโยบาย ‘ซีโร่ โควิด’ (Zero-Covid) เปิดใช้การล็อกดาวน์เมืองอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อหวังให้จำนวนผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ในเร็ววัน

แต่มาตรการที่เข้มข้นเช่นนี้ ก็ดูเหมือนว่า รัฐบาลจีนจะคิดผิดอยู่ไม่น้อย เพราะมันกลับสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจแบบกู่ไม่กลับ มากกว่าจะลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จริง อีกทั้งจีนยังเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของเหล่าบริษัทบิ๊กเทค ยิ่งมีการล็อกดาวน์เกิดขึ้นเช่นนี้ การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมจะหยุดชะงัก ส่งผลต่อการทำงาน และการจำหน่ายสินค้าของบริษัทอย่างแน่นอน

เมื่อมองย้อนกลับไปที่ต้นตอหลักของทั้งสามปัจจัยนี้ เราจะพบว่า พวกมันคือบาดแผลที่โควิด-19 ได้ทิ้งร่องรอยอันเจ็บแสบไว้ การล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงัก จนเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย และท้ายที่สุดแล้ว การที่ราคาหุ้นร่วงแรงจนแดงทั้งกระดาน ก็เป็นเหมือนโดมิโนตัวท้ายๆ ที่ถูกดันให้ล้มจากโดมิโนตัวแรกที่ถูกผลักมาอีกที

แต่ในมุมของหุ้นเทคฯ แต่ละตัว นอกจากปัจจัยที่กล่าวมานั้น ก็ยังมีปัจจัยที่เกิดจากการดำเนินงานภายในบริษัทเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน อย่างการลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ส่งผลให้ยอดกำไรสุทธิไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ผู้ลงทุนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของหุ้นต่ำ ส่งผลให้ราคาหุ้นร่วงลงมาได้ด้วย

ดังนั้น สิ่งที่เราสามารถทำได้ในฐานะผู้ลงทุน ก็คือการติดตามข่าวสาร และวิเคราะห์สภาพตลาดกับปัจจัยทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ เพื่อให้เป็นผู้ชนะในสนามการลงทุน และไม่กลายเป็น ‘เม่า’ ตัวน้อยที่บินเข้าไปในกองไฟโดยไม่รู้อะไรเลย

Sources: https://cnb.cx/3yAJkqK

https://bit.ly/39ZjtPf

https://bit.ly/3M6ZLPJ

https://bit.ly/38gEC72

Trending

    Witchayaporn Wongsa

    Witchayaporn Wongsa

    อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)