LOADING

Type to search

อย่ากลัวที่จะหยุดพัก เพราะเวลาชีวิตเป็นของเรา ‘Time Affluence’ เทคนิคทวงคืนเวลาชีวิตของอาจารย์จาก ‘Harvard’

อย่ากลัวที่จะหยุดพัก เพราะเวลาชีวิตเป็นของเรา ‘Time Affluence’ เทคนิคทวงคืนเวลาชีวิตของอาจารย์จาก ‘Harvard’
Share

สิ่งที่กิน ‘เวลาชีวิต’ ของคุณมากที่สุดในหนึ่งวันคืออะไร?

หลายๆ คนคงตอบว่า ‘งาน’ โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาคิดอย่างแน่นอน ถึงแม้เวลาการทำงานตามมาตรฐานทั่วไปจะอยู่ที่ 8 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง งานกลับตามหลอกหลอนไปทุกขณะจิต นั่งรถก็ยังทำงาน ทานข้าวก็ยังคิดงาน หรือเวลานอนก็ยังเก็บงานเอาไปฝันเลยด้วยซ้ำ

จริงๆ แล้ว ไม่มีใครต้องการให้งานตามมารังควานชีวิตในพาร์ตอื่นๆ แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะระยะห่างระหว่างคนทำงานกับเดดไลน์เหลือน้อยลงทุกที ยิ่งเป็นช่วงที่มีงานด่วน งานแทรกเข้ามาซ้อนทับ ก็ยิ่งไม่เหลือเวลาทำอะไรเลย และหัวหน้าก็คงเป็นคนแรกๆ ที่สัมผัสความรู้สึกนี้ก่อนใครในทีม เพราะมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่ประเดประดังเข้ามา

มิหนำซ้ำ ภาพการทำงานแบบโนลิมิต หรือมีเวลาทำงาน (Working Hour) แบบ 24/7 กลายเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไป อีกทั้งยังเป็นค่านิยมที่ปลูกฝัง และหยั่งรากลึกในสังคมการทำงานมานาน หากใครต้องการเติบโตในสายงานตามภาพที่วาดฝันไว้ ต้องทำงาน ทำงาน และทำงานเท่านั้น

แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนผ่านและเวลาที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ‘งาน’ กลับไม่ใช่ตัวตั้งสำคัญในชีวิตของใครหลายๆ คนอีกต่อไป เมื่อเหล่าคนทำงานเริ่มให้ความสำคัญกับ ‘เวลาชีวิต’ ของตัวเองมากขึ้น

ซึ่งแนวคิดการให้ความสำคัญกับเวลาชีวิตได้สะท้อนผ่านเทรนด์การทำงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมามากมายอย่าง ‘Quiet Quitting’ หรือการเลิกทำงานเกินหน้าที่ และ ‘Frugality’ หรือการยอมได้ค่าตอบแทนน้อยลง เพื่อที่จะมีเวลาว่างมากขึ้น เพราะไม่ต้องทำงานหนักเท่าเดิม

ถึงแม้ว่า เทรนด์การทำงานเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และกำลังเข้ามาปฏิวัติค่านิยมการทำงานอย่างเต็มรูปแบบ แต่สำหรับบางคนก็ดูจะเป็นวิธีการทำงานที่เอ็กซ์ตรีมไปเสียหน่อย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างงาน เงิน และชีวิตมีมิติที่ซับซ้อนกว่าที่คิด ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไป คงขาดใจไปอีกนาน

Working Hours
Image by jcomp on Freepik

Future Trends จึงมีอีกทางเลือกหนึ่งมาฝากทุกคนที่ต้องการทวงคืนเวลาชีวิตจากการทำงาน โดยที่ไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เอ็กซ์ตรีมเกินความจำเป็น แต่เป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถปรับใช้กับการทำงานได้อย่างง่ายดาย และเทคนิคนั้นมีชื่อว่า ‘Time Affluence’ นั่นเอง

Time Affluence หรือการสร้างความมั่งคั่งทางเวลา เป็นเทคนิคจาก ‘แอชลีย์ วิลแลนส์’ (Ashley Whillans) อาจารย์ประจำโรงเรียนธุรกิจฮาร์วาร์ด (Harvard Business School) และผู้เขียนหนังสือ Time Smart: How To Reclaim Your Time & Live a Happier Life

จุดมุ่งหมายสำคัญของการใช้เทคนิคนี้ คือการทำให้ผู้คนตระหนักถึงคุณค่าของเวลาผ่านการจัดลำดับความสำคัญ และปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เรา’ กับ ‘งาน’ ให้เหมาะสม โดยมีแกนหลักสำคัญเป็น ‘การตัดสินใจ’ และองค์ประกอบ 4 ข้อ ดังนี้

1. สร้างบัญชีรายรับ-รายจ่าย ‘เวลา’

การสร้างบัญชีรายรับ-รายจ่ายของเวลา คือการเขียนกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันออกมาเป็นข้อๆ พร้อมทั้งระบุเวลาที่ใช้ในกิจกรรมนั้นๆ ยิ่งเขียนออกมาได้ละเอียดเท่าไร ก็ยิ่งเป็นผลดีกับตัวเอง เพราะจะมองเห็นภาพรวมการใช้เวลาตัวเอง ตั้งแต่ช่วงที่โปรดักทีฟที่สุดไปจนถึงช่วงที่ไม่ต้องการทำอะไรเลย

ซึ่งการมองเห็นภาพรวมของตารางเวลา จะทำให้สามารถจัดสรรเวลาการทำงานได้เหมาะสมยิ่งขึ้น เช่น เก็บงานที่ยากไปทำช่วงที่โปรดักทีฟที่สุด หรือช่วงที่ไม่ต้องการทำอะไรเลยก็เก็บไว้ใช้พักผ่อนอย่างเดียว เป็นต้น

2. ใช้เงินซื้อเวลา

การใช้เงินซื้อเวลาในที่นี้ หมายถึงการใช้เงินซื้อความสะดวกสบาย เพื่อเพิ่มเวลาว่างให้กับตัวเอง ซึ่งต้องเกิดจากการพิจารณาถึงความจำเป็น สิ่งที่ทดแทน และสภาพทางการเงินในขณะนั้นด้วย

ตัวอย่างเช่น การทำงานบ้านที่กินเวลาชีวิตในวันหยุดของใครหลายๆ คน ถ้าตัดสินใจเลือกที่จะซื้อเวลาในการทำงานบ้าน ก็ต้องลงทุนกับการจ้างแม่บ้าน หรือซื้อนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาเป็นเครื่องทุ่นแรงแทน

3. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตในวันทำงาน

บางทีความรู้สึกไม่โปรดักทีฟในการทำงาน และทำให้การทำงานล่าช้าออกไป สามารถเกิดจากกิจวัตรที่จำเจได้เช่นกัน เพราะชีวิตการทำงานในแต่ละวันก็วนลูปเป็นเข้างาน ทำงาน เลิกงาน กลับบ้าน เข้านอนตลอด ไม่ค่อยมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น

ดังนั้น การพยายามปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเล็กๆ น้อยๆ อย่างการออกกำลังกายวันละ 10-15 นาที และทานข้าวนอกบ้านบางวัน ก็ช่วยเพิ่มสีสันในชีวิตได้เช่นกัน

4. ให้ความสำคัญกับเวลาพักผ่อน

หลายๆ คนรู้สึกว่า มีเวลาพักผ่อนก็เหมือนไม่มี เพราะหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ หากต้องการทวงคืนเวลาชีวิตจริงๆ ก็ต้องปล่อยวางและตัดใจให้ได้ ยิ่งฝืนทำงานไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้ร่างกายรู้สึกล้า แทนที่จะชาร์จแบตให้พร้อมลุยงานต่อ กลับกลายเป็นใช้พลังงานไม่เผื่อวันต่อไปเสียอย่างนั้น

หากมองว่า การทำงานที่งานตามหลอกหลอนไปทุกขณะจิต เป็นปัญหาเชิงระบบก็คงไม่ผิดนัก แต่ในเมื่อตอนนี้ยังไม่สามารถแก้ที่ระบบได้ ก็ต้องเริ่มจากตัวเองไปก่อนด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของตัวเอง เพื่อเป็นพลังเล็กๆ ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กร

Sources: https://bit.ly/3Bw2xcV

https://bit.ly/3Lsj1Yc

https://bit.ly/3QYBugj

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like