LOADING

Type to search

สรุปมหากาพย์ ‘อีลอน มัสก์’ กับ ‘ทวิตเตอร์’ การปิดดีลเข้าซื้อสำเร็จคือจุดจบของเรื่องนี้จริงหรือเปล่า?

สรุปมหากาพย์ ‘อีลอน มัสก์’ กับ ‘ทวิตเตอร์’ การปิดดีลเข้าซื้อสำเร็จคือจุดจบของเรื่องนี้จริงหรือเปล่า?
Share

บอกก่อนเลยว่า เนื้อหาในวันนี้ รวบรวมมาเพื่อคนที่ตามเรื่องราวไม่ทัน หรือจับต้นชนปลายที่มาที่ไปไม่ถูกโดยเฉพาะ แต่สำหรับใครที่ตามข่าวมาตั้งแต่ต้น และเข้าใจทุกอย่างจนกระจ่างแล้ว ก็สามารถมาหาคำตอบในมุมมองอื่นๆ ไปพร้อมกันได้เลย

ในตอนนี้ ข่าวใหญ่เกี่ยวกับวงการธุรกิจและเทคโนโลยี คงไม่มีอะไรร้อนแรงไปกว่าการที่ ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) สามารถเด็ดปีกนกน้อยสีฟ้า โดยการปิดดีลเข้าซื้อ ‘ทวิตเตอร์’ (Twitter) ได้สำเร็จ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (25 เม.ย. 2565) ด้วยมูลค่าประมาณ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวๆ 1.5 ล้านล้านบาท นับเป็นการปิดดีลครั้งยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นในรอบหลายปี

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เรื่องราวระหว่าง ‘อีลอน มัสก์’ กับ ‘ทวิตเตอร์’ ก็เป็นมหากาพย์สุดยิ่งใหญ่ที่มีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมายภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน และในวันนี้ เราจะไปย้อนดูเส้นทางสู่การขึ้นแท่นเป็นว่าที่เจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่ของมัสก์กันว่า ที่ผ่านมามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง?

1. จุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด คงเริ่มมาจาก ‘ความรัก’ ที่มัสก์มีให้ทวิตเตอร์อย่างเปี่ยมล้นหัวใจ เราจะเห็นว่า เขาคือหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของวงการธุรกิจและเทคโนโลยีที่ใช้การสื่อสารผ่านทวิตเตอร์เป็นหลัก และทุกข้อความของเขาก็สามารถสร้างความปั่นป่วนในวงการต่างๆ ได้ทุกครั้งไป

2. ความปั่นป่วนที่เขาสร้างขึ้น ทำให้การใช้งานทวิตเตอร์ของเขาถูกจับตามองจากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯ อย่างเข้มงวด

3. มัสก์ทวิตข้อความเกี่ยวกับความคิดที่ต้องการสร้างแพลตฟอร์มการแสดงความคิดเห็นที่เป็น ‘free speech’ อย่างแท้จริง จนทำให้ทุกคนตั้งข้อสงสัยว่า เขาจะสร้างโซเชียลมีเดียของตัวเองมาเป็นคู่แข่งกับทวิตเตอร์หรือเปล่า?

4. วันที่ 4 เม.ย. 2565 มัสก์ประกาศว่า เขาได้เข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ด้วยมูลค่า 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 9.2 เปอร์เซ็นต์ และทำให้เขากลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดในทันที

5. วันที่ 10 เม.ย. 2565 มีการประกาศออกมาว่า มัสก์จะไม่เข้าร่วมเป็นบอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ ถึงแม้ว่า เขาจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดก็ตาม

6. วันที่ 14 เม.ย. 2565 มัสก์ประกาศว่า เขาได้ยื่นข้อเสนอให้กับทวิตเตอร์ ในการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท ราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ รวมเป็นมูลค่าประมาณ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

7. วันที่ 15 เม.ย. 2565 บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ใช้กลยุทธ์ ‘Poison Pill’ หรือการวางยาพิษไม่ให้ใครเป็นเจ้าของหุ้นมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อปกป้องหุ้นของตัวเอง และป้องกันไม่ให้ผู้อื่นมาซื้อบริษัทไป

8. แต่ท้ายที่สุดแล้ว บอร์ดบริหารของทวิตเตอร์ก็ไม่อาจต้านทานต่อข้อเสนออันหอมหวานของมัสก์ได้ และตกลงรับข้อเสนอของเขา จนในที่สุด วันที่ 25 เม.ย. 2565 ทวิตเตอร์เกิดการเปลี่ยนมือเจ้าของด้วยมูลค่าประมาณ 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

แล้วทิศทางของทวิตเตอร์ที่มีมัสก์ขึ้นแท่นมาเป็นเจ้าของคนใหม่ จะเป็นอย่างไรในอนาคต?

[ จากบริษัท ‘มหาชน’ ในตลาดหุ้น สู่การเป็นบริษัท ‘เอกชน’ ธรรมดา ]
เดิมที มัสก์คือคนที่ไม่ค่อยชอบให้บริษัทของตัวเองมีการซื้อขายหุ้นแบบสาธารณะ โดยในปี 2561 เขาเคยมีความคิดจะนำหุ้นของเทสลา (Tesla) ออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะอยากให้พนักงานโฟกัสกับการทำงานมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องไปสนใจความผันผวนของราคาหุ้น รวมถึงลดปัญหาในการจัดทำเอกสาร เพื่อแถลงผลประกอบการของแต่ละไตรมาส

แต่การปรับรูปแบบบริษัท จะสวนทางกับนโยบายที่มัสก์ได้ประกาศไว้อย่างการที่อัลกอริทึมของทวิตเตอร์เป็น open source ที่โปร่งใส และตรวจสอบได้หรือเปล่า? เพราะการเป็นบริษัทมหาชน ต้องมีการแสดงผลประกอบการ และเอกสารอื่นๆ เพื่อแสดงความโปร่งใสต่อนักลงทุนอยู่แล้ว แต่กับบริษัทเอกชนธรรมดาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น ซึ่งเท่ากับว่า การปรับรูปแบบบริษัทให้เหลือเพียงบริษัทเอกชน จะเป็นการลดทอนความโปร่งใสของบริษัทที่จะมีผลต่อความโปร่งใสของแพลตฟอร์มหรือไม่?

[ ทวิตเตอร์ = หุ่นเชิดของอีลอน มัสก์ ]
มัสก์ต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มการแสดงความคิดเห็นที่เป็น ‘free speech’ อย่างแท้จริง ไม่ว่า ความเห็นนั้นจะรุนแรง หรือเป็นความเห็นที่แตกต่างแค่ไหน มันก็ควรที่จะได้แสดงอยู่บนแพลตฟอร์มต่อไป และไม่ควรมีใครต้องมาโดนแบน เพียงเพราะแค่มีความเห็นที่แตกต่าง

อย่างที่ทราบกันดีว่า มัสก์ คือมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ดังนั้น เขามีศักยภาพเพียงพอที่จะทำแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างแน่นอน แต่ทำไมเขาถึงเลือกที่จะซื้อทวิตเตอร์?

ในกรณีนี้ ทำให้นึกถึงการที่ ‘อาลีบาบา’ (Alibaba) อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จากจีนเข้าซื้อ ‘ลาซาด้า’ (Lazada) เพราะต้องการบุกตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากอาลีบาบาเข้ามาบุกตลาดเอง ก็คงไม่ประสบความสำเร็จเป็นแน่ เพราะไม่มีฐานข้อมูลของลูกค้าในภูมิภาคนี้อยู่เลย เหมือนกับที่ ‘อีเลฟเว่น สตรีต’ (11street) อีคอมเมิร์ซสัญชาติเกาหลีใต้ เคยพยายามบุกตลาดในไทยด้วยตัวเองอย่างหนัก แต่กลับได้ผลลัพธ์ที่น่าผิดหวัง จนสุดท้ายต้องถอยทัพกิจการออกไป

ซึ่งในมุมมองของมัสก์นั้น คงไม่ต่างอะไรกับการตัดสินใจของอาลีบาบา เพราะการซื้อแพลตฟอร์มที่เป็นเจ้าตลาดแต่เดิม นอกจากจะได้แพลตฟอร์มสำเร็จรูปมาอยู่ในมือ ยังได้ข้อมูลของผู้ใช้งานเดิมมาอีกมหาศาล (ได้ทั้งขึ้นทั้งล่องเห็นๆ) ซึ่งการซื้อสิ่งที่มีอยู่เดิม 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วค่อยแต่งเติมเองตามใจชอบ ย่อมดีกว่าการเริ่มจากศูนย์เป็นธรรมดา

[ ผู้คนอพยพถิ่นฐานจากรังของนกสีฟ้า ไปซบอกบ้านหลังใหม่ที่อุ่นใจกว่าเดิม ]
ในอดีต ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มที่ใครๆ ก็บอกว่า สบายใจที่จะเข้ามาใช้งาน เพราะไม่มีการบังคับให้ยืนยันตัวตน รวมถึงชื่อผู้ใช้งานจะตั้งให้แปลกประหลาดหรือนิรนามขนาดไหนก็ได้ เน้นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเชื่อมโยงผู้คนที่มีความความสนใจในด้านเดียวกันให้มารู้จักกัน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ หน้าที่การงาน และสถานะทางสังคม

แต่การมาของแนวคิด free speech แบบไร้ขอบเขตที่มัสก์เชื่อมั่นนักหนานั้น อาจจะทำให้สังคมทวิตเตอร์กลายเป็นสังคม ‘ท็อกซิก’ มีแต่พิษที่ทุกคนพ่นใส่กัน ทั้ง hate speech ที่เป็นคำด่าทอรุนแรง หรือจะเป็นการระรานทางไซเบอร์ (cyberbullying) ที่ทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

นอกจากนี้ การมาของมัสก์ยังทำให้ใครหลายๆ คนรู้สึกว่า มนต์เสน่ห์แบบเดิมของทวิตเตอร์อาจจะหายไป เช่น การมีปุ่มแก้ไขข้อความ อวสานแอคหลุม และอื่นๆ อีกมากมาย หากในอนาคต ผู้ใช้งานไม่ได้พึงพอใจกับทวิตเตอร์แบบใหม่ ก็อาจจะค่อยๆ ทยอยจากไป แล้วไปใช้งานแพลตฟอร์มอื่นแทน อย่างที่ในอดีตไฮไฟฟ์ (Hi5) และเอ็มเอสเอ็น (MSN) เป็นที่นิยมมาก แต่พอมีแพลตฟอร์มอื่นที่ดีกว่าเข้ามาแทนที่ สองสิ่งนี้ ก็เหลือไว้เพียงแค่การเป็นตำนานแทน

จริงๆ แล้ว การปิดดีลเข้าซื้อสำเร็จเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะยังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอคอยมัสก์และผู้ใช้งานทวิตเตอร์ทุกรายอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคงต้องจับตาดูกันต่อไป แต่ไม่ว่าจะมีความท้าทายอะไรรออยู่ข้างหน้า ผู้ชายที่ชื่อว่า ‘อีลอน มัสก์’ ก็คงจัดการมันได้อย่างง่ายดายแน่นอน

Sources: https://tcrn.ch/3xXNLeS

https://nyti.ms/3Kq2RMI

https://nyti.ms/3MH6KyJ

https://cnb.cx/3vmni9k

https://bit.ly/3Kq3bLq

https://bit.ly/3xZ4rml

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like