LOADING

Type to search

‘Soft Power’ ความหมายที่แท้จริง โดย Joseph S. Nye

‘Soft Power’ ความหมายที่แท้จริง โดย Joseph S. Nye
Share

ในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ทุกๆ คน คงจะได้ยินคำศัพท์ยอดฮิตอย่าง ‘Soft Power’ ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘สัปเหร่อ’ กำลังได้รับความนิยม มีบางคนกล่าวว่า สัปเหร่อ คือ Soft Power ถึงแม้ว่าผู้กำกับจะยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันคืออะไร?

เพื่อไขข้อสงสัยของใครหลายๆ คนกับศัพท์คำนี้ มันมีความหมายจริงๆ หรือ เป็นเพียงแค่ Buzzword ไว้พูดเกร๋ๆ กันแน่

[ ‘Soft Power’ อำนาจอ่อน ]

คำว่า Soft Power เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1990 โดย Joseph S. Nye เดิมทีแล้วเป็นแนวคิดที่ถูกใช้ในบริบทของรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ในบริบทของรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คำว่าอำนาจจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภทคือ Hard Power และ Soft Power ในส่วนของ Hard Power คืออำนาจเชิงบังคับ ที่อยู่ในรูปแบบของการทหาร การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความรุนแรง หรือ ทำให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศเจ้าของ Hard Power นั้นๆ

Soft Power จึงมีความหมายเป็นขั้วตรงข้ามของ Hard Power คำนิยามสั้นๆ ที่ได้ใจความของมันคือ “อำนาจแห่งการโน้มน้าวใจ” คุณไม่จำเป็นจะต้องใช้กำลังทางทหารเพื่อสร้างความหลงใหลนี้ แต่คุณต้องใช้ทุนที่มีอยู่ในประเทศ สร้างการโน้มน้าวใจต่อประเทศเป้าหมาย คำว่าทุนในบริบทนี้มีด้วยกัน 3 อย่าง

1.ทุนทางวัฒนธรรม

2.ค่านิยมทางการเมือง

3.นโยบายต่างประเทศ

ภายใต้กรอบของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศการส่งออก Soft Power ให้สำเร็จนั้น ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของรัฐบาลทั้งสองฝั่ง ฝั่งที่ส่งออกก็ต้องมีรัฐคอยขับเคลื่อนในการผลักดันทุน ฝั่งที่รับก็ต้องมีรัฐบาลที่ได้รับอิทธิพลและหลงใหลทุนเหล่านั้น ถึงจะเรียกว่า Soft Power

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายๆ คนเข้าใจคำว่า Soft Power ผิดคิดแค่ว่าอะไรคือสิ่งที่ได้รับความนิยมก็เป็น Soft Power ทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริงมันซับซ้อนมากๆ และในความซับซ้อนนี้ก็สร้างความเข้าใจผิดได้มากเช่นกัน

[ หนึ่งในกรณีศึกษาของความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้น ‘LALISA’ ]

เมื่อปี 2021 มีกระแสความชื่นชมว่า ‘LALISA’ เป็น Music Video ที่แสดงความเป็นไทย เป็น Soft Power ที่สร้างความน่าหลงใหลให้กับประเทศไทย แต่มันเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก ถึงแม้เราจะเห็นต้นทุนที่เป็นวัฒนธรรมของไทยในองค์ประกอบของวิดีโอก็ไม่ได้หมายความว่ามันคือ Soft Power ของไทย เพราะ LALISA เป็นเพลงแนว K-Pop จุดประสงค์หลักของมันคือการขายวัฒนธรรมเพลงป็อปเกาหลี ที่มีองค์ประกอบของความเป็นไทยประดับเฉยๆ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่ Soft Power แต่อย่างใด

น่าเสียดายนักที่เราอยากจะยกตัวอย่างของ Soft Power ประเทศไทย แต่ไม่สามารถทำได้เพราะ “ยังไม่มีอะไรที่เป็น Soft Power ของไทยอย่างแท้จริง” ทำให้คำว่า Soft Power ที่พูดกันอยู่นี้เป็นได้แค่ Buzzword เท่านั้น สถานการณ์ของประเทศไทยกับคำว่า Soft Power ตอนนี้ จะมีเพียงแค่ต้นทุนที่มีแนวโน้มสามารถผลักดันเป็น Soft Power ได้ในอนาคต

[ ศึกษา Soft Power จากประเทศที่มีอยู่จริง ]

ถึงแม้ในตอนนี้ประเทศไทยจะยังไม่มี Soft Power อย่างแท้จริง แต่เพื่อทำให้ผู้อ่านเห็นภาพของอำนาจแห่งความหลงใหล เราอยากจะนำเสนอกรณีศึกษาของ Soft Power จากประเทศญี่ปุ่น ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ประเทศญี่ปุ่นใช้แนวคิด Soft Power กับนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (คำว่า เศรษฐกิจสร้างสรรค์ คือ แนวคิดของการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาเพิ่มมูลค่า) เกิดเป็นนโยบาย Cool Japan ที่สนับสนุนวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้มีส่วนในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น Manga, Anime, J-Rock เป็นต้น

ความพิเศษของญี่ปุ่นคือมีต้นทุนที่สามารถสร้าง Soft Power ได้จากทั้งวัฒนธรรมดั้งเดิม และวัฒนธรรมประชานิยม โดยแบ่ง Soft Power ออกเป็น 2 มุมมอง

1.Culture Odour วัฒนธรรมดั้งเดิม หรือ สิ่งที่มีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น เช่น ชุดกิโมโน หรือ เทศกาลทานาบาตะ(การขอพรดวงดาว)

2.Mukokuseki วัฒนธรรมประชานิยมมาจาก Manga เป็นส่วนมาก คำนิยามของมันคือ “บางสิ่งหรือบางคนที่ไม่มีความเป็นชาติอยู่” เช่น ตัวละครจากการ์ตูนที่ไม่มีความเป็นญี่ปุ่นเลยแต่เมื่อเห็นแล้วคุณรู้ว่ามันคือวัฒนธรรมประชานิยมของญี่ปุ่น เช่น Attack On Titan

ดังนั้น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นเป็นการใช้งาน Soft Power จากทุนทางวัฒนธรรมที่เกิดจากนโยบาย Cool Japan ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล และสามารถสร้างสรรค์ผลงาน นำไปสู่การส่งออก Soft Power สร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับต้นทุนเหล่านั้น

[ สถานการณ์ของ Soft Power ที่เป็นได้แค่ Buzzword ในประเทศไทย ]

การที่คนบางกลุ่มบอกว่า สัปเหร่อ คือ Soft Power อาจจะเป็นการเข้าใจความหมายคลาดเคลื่อน เช่นเดียวกับการเข้าใจว่า ช็อกมิ้นท์คือ Soft Power สิ่งที่จะเป็น Soft Power ได้นั้นต้องมาจากทุนทั้ง 3 ประเภทตามแนวคิดของ Nye เพราะไทยเราไม่ได้มีต้นทุนวัฒนธรรมประชานิยมที่แข็งแรงแบบญี่ปุ่น เราจึงต้องยึดจากทุนวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ

แต่การที่เราไม่มี Soft Power อย่างแท้จริง ไม่ได้หมายความว่าเราไม่มีศักยภาพ เรายังมีทุนอยู่มากมายที่มีความสามารถในการผลักดันให้เกิดเป็น Soft Power ส่งออกและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เราเพียงแค่ต้องเปลี่ยนมุมมองจากที่จะเรียกทุกสิ่งว่า Soft Power เป็นการเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า ‘ต้นทุน’ เมื่อเราได้ขอบเขตของต้นทุนแล้ว จะช่วยให้การสนับสนุนและการออกแบบนโยบายเข้าถึงได้ตรงจุด ส่งผลให้ผลักดันต้นทุนไทยสู่การเป็น Soft Power ได้อย่างแท้จริง

อาหารไทย การแสดงไทย มวยไทย ทุกๆ สิ่งล้วนเป็นต้นทุนทางวัฒนธรรมที่มีความสามารถในการเปลี่ยนเป็น Soft Power ได้ทั้งสิ้น ขาดเพียงนโยบายการผลักดันที่ตรงจุดเท่านั้น

[ สรุป ]

คำว่า ‘Soft Power’ นั้นหมายถึงอำนาจอ่อน ที่มีเป้าหมายในการมอบความหลงใหลและโน้มน้าวใจให้มาชอบ โดยต้องอยู่ในกรอบของแนวคิดต้นทุนทางวัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ สถานการณ์ในไทยตอนนี้ยังไม่มี Soft Power อย่างแท้จริง แต่มีต้นทุนที่สามารถผลักดันให้เกิด Soft Power อยู่มากมาย

เขียนโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน์

Sources: https://www.jstor.org/stable/1148580

https://www.creativethailand.org/view/article-read?article_id=33445

Tags::

You Might also Like