LOADING

Type to search

หรือนี่จะเป็นกาลอวสานของ ‘Silicon Valley’ ?
Share

ปี 2022 ถือเป็นปีที่ไม่ค่อยสดใสสำหรับ ‘บิ๊กเทค’ (Big Tech) และบริษัทเทคโนโลยีเท่าไรนัก เพราะต้องเผชิญกับมรสุมที่พัดผ่านเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นผลประกอบการอันแสนเศร้าที่บางบริษัทขาดทุนครั้งใหญ่ในรอบหลายปี ราคาหุ้นที่ร่วงแรงจนแดงทั้งกระดาน รวมถึงการปลดพนักงานจำนวนหลายหมื่นคน

เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน สำนักข่าวเดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) รายงานว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทหลายๆ แห่งในซิลิคอน แวลลีย์ (Silicon Valley) เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) เมตา (Meta) แอมะซอน (Amazon) ปลดพนักงานรวมกันมากกว่า 20,000 คน เพื่อปรับขนาดองค์กรให้เล็กลง และพร้อมต่อการพาบริษัทก้าวไปข้างหน้าอย่างปลอดภัย

ซึ่งข่าวการปลดพนักงานที่มีมาตั้งแต่ช่วงกลางปีจนถึงตอนนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่ศักยภาพการบริหารของแต่ละบริษัทเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของวงการเทคโนโลยีที่ซบเซาลง และพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างเห็นได้ชัด จนหลายๆ คนเชื่อว่า ‘ฤดูแห่งการผลิบานของบริษัทเทคฯ จบลงแล้ว’

ก้าวต่อไปของบริษัทเทคฯ จะเป็นอย่างไร? ความยิ่งใหญ่ของซิลิคอน แวลลีย์จะยังคงอยู่หรือไม่? Future Trends จะชวนทุกคนมาพูดคุยในประเด็นนี้ไปพร้อมๆ กัน

เมื่อพูดถึง ‘เทคโนโลยี’ หลายๆ คนคงนึกถึงความล้ำ การเปลี่ยนโลก และความสะดวกสบายเป็นอันดับแรกๆ แต่เมื่อเชื่อมโยงคำว่า ‘เทคโนโลยี’ เข้ากับบริบททางสังคมและระบบนิเวศ (Ecosystem) แห่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ชื่อของ ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ คงผุดขึ้นมาในความคิดด้วย

ซิลิคอน แวลลีย์ เป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของอ่าวซานฟรานซิสโก (San Francisco) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘หุบเขาแห่งนวัตกรรม’ เพราะมีบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นศูนย์กลางแห่งการปั้นสตาร์ตอัป (Startup) ดาวรุ่งให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ซิลิคอน แวลลีย์กลายเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนทำงานด้านเทคโนโลยีหลายๆ คนต้องการไปให้ถึง

จุดเริ่มต้นของซิลิคอน แวลลีย์เกิดจากความตั้งใจของ ‘เฟเดอริก เทอร์แมน’ (Frederick Terman) อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University) ที่ต้องการผลักดันให้นักศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษาจากคณะมีความคิดริเริ่มในการทำธุรกิจ จึงจัดตั้ง Stanford Industrial Park (Stanford Research Park ในปัจจุบัน)

ภายใน Stanford Industrial Park มีการปล่อยให้เช่าพื้นที่บางส่วนสำหรับการจัดตั้งบริษัทในราคาย่อมเยา ทำให้บริษัทเทคฯ น้อยใหญ่ในยุคนั้น เช่น เจเนอรัล อิเล็กทริก (General Electric หรือ GE) อีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak) แห่แหนกันมาตั้งบริษัทในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย และกลายเป็นบริษัทรุ่นแรกที่ตั้งอยู่ในซิลิคอน แวลลีย์ในเวลาต่อมา

Silicon Valley

เมื่อพื้นที่แห่งนี้เต็มไปด้วยบริษัทเทคฯ ความคิดที่จะสร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีให้ครบวงจรจึงเริ่มก่อตัวขึ้น ทำให้เกิดการพัฒนา ‘ชิป’ ที่เป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์เทคโนโลยีแทบทุกชนิดในพื้นที่แห่งนี้ด้วย ซึ่งชิปที่พัฒนาได้สำเร็จมี ‘ซิลิคอน’ เป็นส่วนประกอบสำคัญ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ซิลิคอน แวลลีย์’ นั่นเอง

การเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีที่มีระบบนิเวศครบวงจร ทำให้ซิลิคอน แวลลีย์มีความยิ่งใหญ่ในตัวเอง และเป็นพื้นที่แห่งการปั้นบริษัทเทคฯ ที่โด่งดังมากในปัจจุบัน เช่น แอปเปิล (Apple) กูเกิล (Google) อินเทล (Intel) เป็นต้น

แต่ชื่อเสียงและความยิ่งใหญ่ของซิลิคอน แวลลีย์ ไม่อาจทำให้บริษัทเทคฯ ระดับโลกเจิดจรัสเป็น ‘ดาวค้างฟ้า’ ได้ตลอดไป เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ที่ผู้บริหารฯ ของแต่ละบริษัทต้องรับมือกับภัยรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นพิษเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อ (Inflation) การเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาด้านซัพพลายเชน (Supply Chain) และอื่นๆ อีกมากมาย

ภัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อ ‘เม็ดเงิน’ ที่ไหลเวียนในบริษัทโดยตรงทั้งด้านรายได้และเงินสนับสนุนจากนักลงทุน ยิ่งช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ผู้คนต้องรัดเข็มขัด ประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนนักลงทุนเลือกที่จะลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าหุ้นรายบริษัท เมื่อเม็ดเงินไหลเข้าบริษัทน้อยลง การลดต้นทุนด้วยการปลดพนักงานจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้การเติบโตของบริษัทเทคฯ พลิกจากความรุ่งเรืองในปี 2021 มาสู่ความซบเซาในปี 2022 ไม่ได้มีแค่ภัยรอบด้านที่กล่าวถึงไปก่อนหน้า แต่ยังมีสิ่งที่เรียกว่า ‘การแก้แค้นของเศรษฐกิจยุคเก่า’ (Revenge of the Old Economy) หรือการที่กลุ่มธุรกิจยุคเก่า ทำให้การเติบโตของกลุ่มธุรกิจยุคใหม่อย่างเทคโนโลยีเกิดการชะลอตัวอีกด้วย

นอกจากกลุ่มธุรกิจยุคเก่าจะมาในรูปแบบของธุรกิจพลังงาน การเกษตร และค้าปลีก ยังมาในรูปแบบของวิถีชีวิตที่อยู่กึ่งกลางระหว่างความเป็นออนไลน์และออฟไลน์ เมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คนส่วนใหญ่มีความต้องการกลับไปใช้ชีวิตอย่างเดิม เช่น การทานข้าวที่ร้านอาหาร การซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ทำให้การเติบโตทางรายได้ของบริษัทเทคฯ ไม่เป็นไปอย่างที่คาดการณ์ไว้ นี่จึงเป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีไม่สามารถเข้ามาแทนที่วิถีชีวิตรูปแบบเดิมและความเป็น ‘สัตว์สังคม’ ของมนุษย์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ช่วงเวลานี้อาจเป็นเพียง ‘ฤดูหนาว’ อันหนาวเหน็บของวงการเทคฯ เท่านั้น เช่นเดียวกับ ‘ฟองสบู่ดอตคอม’ (Dot-com Bubble) ที่เกิดขึ้นปลายยุค 90

เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับความเชื่อในการเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจพากันสร้างเว็บไซต์ที่ต่อท้ายชื่อด้วย ‘.com’ ผู้คนพากันลงทุนและเก็งกำไรในหุ้นเทคโนโลยีตลอดเวลา แต่โชคร้ายที่ความถดถอยทางเศรษฐกิจ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่ และมีบริษัทมากมายที่ต้องลาจากโลกธุรกิจไปตลอดกาล

ถึงแม้ฟองสบู่ดอตคอมจะสร้างความเสียหายให้กับวงการเทคฯ อย่างหนัก และลักษณะของเหตุการณ์ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาผ่านไป วัฏจักรเศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเดินทางมาถึง วงการเทคฯ จะหลุดพ้นจากฤดูหนาว และค่อยๆ ฟื้นตัวจนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เช่นเดียวกับช่วงปี 2005-2010 ที่เริ่มมีบริษัทเทคฯ หน้าใหม่เข้ามาสู่โลกธุรกิจมากขึ้น

ตอนนี้ เส้นทางของบริษัทเทคฯ ไม่ได้สวยงามเท่าไรนัก และไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเช่นเดียวกับช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะพิสูจน์ว่า ธุรกิจเทคโนโลยีไม่ใช่สิ่งที่ฉาบฉวย และมาแรงเพียงชั่วครั้งชั่วคราว

แล้วทุกคนคิดว่า นี่คือสัญญาณส่อเค้ากาลอวสานของบริษัทเทคฯ และซิลิคอน แวลลีย์หรือเปล่า?

Sources: http://bit.ly/3Gsy3gm

http://bit.ly/3XcmzmX

http://bit.ly/3Of0f8c

http://bit.ly/3Ar51db

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like