LOADING

Type to search

หุ้นตก รายได้หด ไม่จ้างคนเพิ่ม หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ‘บริษัท Big Tech’ กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาลง’

หุ้นตก รายได้หด ไม่จ้างคนเพิ่ม หรือนี่จะเป็นสัญญาณเตือนว่า ‘บริษัท Big Tech’ กำลังอยู่ในช่วง ‘ขาลง’
Share

‘เรย์ เดลิโอ (Ray Dalio) เทขายหุ้นเทสลา (Tesla) จนหมดพอร์ต!’

‘แอปเปิล (Apple) ไม่ใช่เบอร์หนึ่งในตลาดหุ้นอีกต่อไป! หลังบริษัทค้าน้ำมันในซาอุฯ เบียดแซงขึ้นมา’

‘เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ขาดทุนหนัก! จนต้องประกาศเลิกจ้างพนักงาน 150 คน’

‘อเมซอน (Amazon) ราคาหุ้นร่วงระนาว หลังยอดขายดิ่งลงหนักสุดในรอบ 16 ปี’

‘เมตา (Meta) ชะลอการจ้างงาน หลังรายได้หด เพราะสงคราม’

พาดหัวข่าวเกี่ยวกับกลุ่มบริษัท ‘บิ๊กเทค’ (Big Tech) ในลักษณะนี้ คงเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นตามสื่อต่างๆ มาตั้งแต่เข้าปี 2022 แล้ว ยิ่งช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ยิ่งเห็นบ่อยกว่าเดิม จนหลายๆ คนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ศักยภาพและความยิ่งใหญ่บริษัทเหล่านี้หายไปไหนหมดแล้ว?

การที่บริษัทเหล่านี้ มีข่าวออกมาว่า ราคาหุ้นตก รายได้หดหาย อัตราการจ้างงานต่ำลง ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ปีนี้ไม่ใช่ปีที่สดใสสำหรับกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคเท่าไรนัก และดูเหมือนว่า ปัญหาเหล่านี้ จะเป็นสัญญาณส่อเค้าถึงการเข้าสู่ช่วง ‘ขาลง’ ของบิ๊กเทคอีกด้วย

ทุกคนคงเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่า ในสภาวะปกติ ปัญหาเหล่านี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และสิ่งที่เกิดขึ้นต้องเป็นผลลัพธ์เชิงบวกที่อยู่ในทิศทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำ อย่างการที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นสูง บริษัทกอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ ตลาดแรงงานคึกคัก เพราะมีอัตราการจ้างงานสูง

แต่ในความเป็นจริง มันกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะตอนนี้ กลุ่มบริษัทบิ๊กเทคกำลังถูกดิสรัปต์ (disrupt) อย่างหนักจากปัญหาภาวะเงินเฟ้อรุนแรงที่ยังคงเป็นโจทย์สุดหินสำหรับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (Fed) อยู่ และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบในเร็ววัน

จริงๆ แล้ว ทั้งปัญหาเงินเฟ้อและสงคราม ก็ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ทำไมกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีกลับดู ‘สาหัส’ ที่สุด เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจอื่น?

วันนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมวิเคราะห์กันว่า 3 สัญญาณส่อเค้าอย่างการที่หุ้นตก รายได้หด และไม่จ้างงานเพิ่ม สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับสถานะของกลุ่มบริษัทบิ๊กเทคในตอนนี้ได้บ้าง?

‘หุ้นตก’ สัญญาณจากนักลงทุนที่บอกว่า “ฉันไม่เชื่อมั่นในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอีกต่อไป”

เมื่อเฟดประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อ นักลงทุนจะตัดสินใจเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น แล้วเข้าซื้อสินทรัพย์อื่นที่มีความมั่นคงมากกว่าแทน และในการตัดสินใจของนักลงทุน หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีจะเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่ถูกเทขายออกจากพอร์ต

นั่นเป็นเพราะว่า เทคโนโลยีคือสิ่งที่มีความไม่แน่นอนสูง ความก้าวหน้าของมันถูกผูกติดไว้กับอนาคต ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนอยู่แล้วเป็นทุนเดิม ก็ยิ่งทำให้ไม่มีใครอยากเอาเงินไปลงทุนกับอนาคตที่มองไม่เห็น อีกทั้งเทคโนโลยียังไม่ใช่ปัจจัยสี่ที่ทำให้ชีวิตอยู่รอดได้ในยามวิกฤต

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ นอกจากที่นักลงทุนจะเลือกเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทอื่นแทน ก็อาจจะเลือกลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นที่ยังสามารถยืนหยัด แม้อยู่ท่ามกลางวิกฤตได้ เช่นเดียวกับกรณีที่ ‘Aramco’ บริษัทค้าน้ำมันในซาอุฯ มีมูลค่าตลาดเป็นอันดับหนึ่งแซงแชมป์เก่าอย่าง ‘แอปเปิล’ ไปแล้ว เพราะความต้องการพลังงานนั้น มีอย่างไม่สิ้นสุด ต่อให้เกิดวิกฤตหนักขนาดไหน กลุ่มธุรกิจพลังงานก็จะไปต่อได้เสมอ และการขาดเงินจากนักลงทุนไปเป็นจำนวนมากเช่นนี้ จะส่งผลให้กลุ่มบริษัทบิ๊กเทคขาดสภาพคล่องในการใช้จ่ายเพื่อการดำเนินงานภายในบริษัทไปในที่สุด

‘รายได้หด’ สัญญาณจากผู้บริโภคที่บอกว่า “ฉันไม่มีกำลังซื้ออีกต่อไป”

แน่นอนว่า เมื่อมีภาวะเงินเฟ้อเกิดขึ้น ก็ถึงคราวที่แต่ละประเทศจะเดินหน้าเข้าสู่ ‘ยุคข้าวยากหมากแพง’ คนมีรายได้เท่าเดิม แต่ซื้อของได้น้อยลง เพราะของแพงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้บริโภคก็ต้องตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป โดยสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีจะเป็นตัวเลือกแรกๆ เสมอ และมันจะถูกเปลี่ยนสถานะจาก ‘สินค้าจำเป็น’ เป็น ‘สินค้าฟุ่มเฟือย’ ในทันที

ซึ่งเน็ตฟลิกซ์ก็ดูจะเป็นบริษัทที่ได้รับผลกระทบในข้อนี้มากที่สุด ในปี 2022 เน็ตฟลิกซ์สูญเสียผู้ใช้งานกว่า 200,000 ราย โดยสาเหตุหลักอาจจะเกิดจากการแข่งขันในตลาดสตรีมมิงที่สูงขึ้นจริง แต่เมื่อคนไม่ได้มีกำลังซื้อมากพอ การตัดใจในการรับชมสื่อบันเทิง มันทำได้ง่ายกว่าที่คิดมากๆ ดังนั้น ปัญหาจากภาวะเงินเฟ้อก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

‘ไม่จ้างงานเพิ่ม’ สัญญาณจากบริษัทที่บอกว่า “เรากำลังขาดสภาพคล่อง การจ้างงานจึงไม่จำเป็นในตอนนี้”

หากจะกล่าวว่า การชะลอการจ้างงาน และการปลดพนักงานออกจากบริษัท คือผลพวงจาก 2 สัญญาณแรกที่ได้กล่าวไปในข้างต้น ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะเมื่อบริษัทขาดสภาพคล่อง และรายได้ลดลงจากเดิมมากๆ เข้า จะส่งผลให้บริษัทเข้าสู่ภาวะขาดทุนได้ง่ายมากๆ แล้วผลที่ตามมา มันก็น่ากลัวกว่าที่คิด

ไม่มีใครอยากเห็นบริษัทที่ตัวเองปั้นมากับมือพังครืนและล้มหายไปกับตา ดังนั้น การลดต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์จึงเริ่มต้นขึ้น เช่นเดียวกับการที่เมตาชะลอการจ้างงาน หรือจะเป็นกรณีล่าสุดที่เน็ตฟลิกซ์ตัดสินใจปลดพนักงานออกถึง 150 คน เพื่อให้บริษัทยังอยู่รอดต่อไป ในยามที่สูญเสียรายได้เป็นมูลค่ามหาศาล การตัดสินใจเช่นนี้ ก็เหมือนกับการที่เลือกจะตัดแขนตัดขา ให้เหลือเพียงหัวใจกับสมองที่ยังทำงานอยู่ เพื่อยื้อชีวิตเอาไว้อย่างถึงที่สุด

จริงๆ แล้ว ทั้งสามสัญญาณที่เราหยิบยกมาวิเคราะห์กันในวันนี้ ก็มีลักษณะเหมือนปมเชือกหนาๆ ที่ถูกผูกทับกันไว้ จะแกะเท่าไรก็แกะไม่ออก แต่เมื่อพยายามแกะจนปมแรกคลายได้ ปมที่สอง ปมที่สามก็จะคลายตามกันมา และท้ายที่สุด จะมีเพียงแค่ผู้บริหารที่สามารถหาวิธีแกะปมเชือกแรกได้เท่านั้น ที่จะพาบริษัทของตัวเองออกจากช่วงขาลงท่ามกลางวิกฤตต่างๆ และพลิกฟื้นขึ้นไปอยู่ดังจุดเดิมได้

Sources: https://cnb.cx/3yAJkqK

https://cnb.cx/3MubdEY

https://bloom.bg/3MpjBpb

https://bloom.bg/3wCsQMa

https://nyti.ms/3lo8m4y

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like