LOADING

Type to search

ของขวัญที่ดีที่สุดคือ ‘การรักตัวเอง’ 5 เทคนิคสร้าง ‘Self-Love’ ในหัวใจต้อนรับปีใหม่ที่ใกล้มาถึง

ของขวัญที่ดีที่สุดคือ ‘การรักตัวเอง’ 5 เทคนิคสร้าง ‘Self-Love’ ในหัวใจต้อนรับปีใหม่ที่ใกล้มาถึง
Share

“To fall in love with yourself is the first secret to happiness”

Robert Morely

“การตกหลุมรักตัวเองเป็นเคล็ดลับแรกของการสร้างความสุข”

โรเบิร์ต มอร์ลีย์

‘การรักตัวเอง’ (Self-Love) เป็นแนวคิดพื้นฐานของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะเมื่อทุกคนรักตัวเอง การมองโลกและการใช้ชีวิตจะเต็มไปด้วยพลังเชิงบวกที่ทำให้รู้สึกอิ่มเอมใจ และที่สำคัญยังสามารถส่งต่อพลังดีๆ ไปถึงคนรอบข้างได้อีกด้วย

ถึงแม้การรักตัวเองจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าใจดีว่า ต้องเริ่มต้นจากอะไร และพยายามทำให้สำเร็จมาโดยตลอด แต่การรักตัวเองกลับไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายขนาดนั้น เพราะสภาพสังคมและวิถีชีวิตที่เร่งรีบคอยกดดันให้โฟกัสแต่สิ่งที่อยู่ตรงหน้า จนลืมโฟกัสร่างกายและหัวใจของตัวเองไป

ยิ่งเป็นหัวหน้า ยิ่งมีโอกาสหลงลืมการรักตัวเองมากกว่าใคร เพราะต้องรับมือกับงานหลายๆ ส่วนไปพร้อมๆ กัน ไม่ต่างกับการสวมหมวกหลายใบที่ต้องบริหารงานในทีมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และดูแลใจของทีมให้พร้อมกับการทำงานอยู่เสมอ

ดังนั้น เนื่องในโอกาสที่วันปีใหม่ใกล้มาถึง จะดีกว่าไหมถ้าเราลองให้ของขวัญสุดพิเศษกับตัวเอง โดยที่ของขวัญชิ้นนั้นไม่ใช่สิ่งของแต่เป็น ‘การรักตัวเอง’ ที่มีความหมายต่อการเริ่มต้นใหม่ และก้าวผ่านความเหนื่อยล้าที่สะสมมาตลอดทั้งปี

แล้ววิธีที่จะทำให้รู้สึกถึง ‘การรักตัวเอง’ ได้อย่างยั่งยืนคืออะไร?

Future Trends จึงนำ 5 เทคนิคการสร้างความรู้สึกรักตัวเองจาก ‘ราเชล สไตน์แมน’ (Rachel Steinman) นักเขียนและนักจัดพอดแคสต์ (Podcaster) รายการ ‘Dear Family’ มาฝากทุกคนกัน

Image by Freepik

1. ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง

การคิดถึงตัวเองก่อนที่จะคิดถึงคนอื่น ถือเป็นก้าวแรกของการรักตัวเอง เพราะเวลาที่คิดถึงคนอื่น ชีวิตจะผูกติดกับมาตรฐานของคนเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะคิดหรือทำอะไร ย่อมเกิดการมองผ่านเลนส์ของคนอื่นเสมอ จนกลายเป็นการทำร้ายตัวเองทางอ้อม

เมื่อปล่อยวางความคิดที่มีแต่คนอื่น และใส่ใจตัวเองเป็นอันดับหนึ่ง จะทำให้รู้สึกถึงการรักตัวเองมากขึ้น และแปรเปลี่ยนเป็นความสุขในเวลาต่อมา

2. เฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ

หลายๆ ครั้ง ความคาดหวังทำให้เกิดการทำร้ายตัวเองโดยไม่รู้ตัว สิ่งที่ทำแล้วรู้สึกประสบความสำเร็จจริงๆ ต้องเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เช่น ได้เลื่อนตำแหน่งในการประเมินรอบหน้า ยอดขายเป็นไปตาม KPI ของบริษัท ซึ่งการตั้งเป้าหมายให้ท้าทายไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ถ้าเป้าหมายย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองคงไม่ใช่สิ่งที่ดี

หลังจากนี้ ลองหันมาเฉลิมฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เช่น ทำงานเสร็จทันเวลา ได้ลองทำงานใหม่ๆ จนกลายเป็นทักษะติดตัว เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และช่วยลดระดับความคาดหวังที่เป็นสาเหตุของความเครียดได้

3. สร้างกรอบเวลา ‘การทำงาน’ และ ‘การพักผ่อน’ ให้ชัดเจน

หนึ่งวันของการทำงาน ชาวออฟฟิศแต่ละคนใช้เวลาถึง 1 ใน 3 ของวัน หรือราว 8 ชั่วโมง ในการโฟกัสและรับผิดชอบงานตรงหน้าให้เสร็จตามกำหนด แต่บางครั้งงานก็ตามไปหลอกหลอนในช่วงเวลาที่เป็นการพักผ่อน จนทำให้เวลาพักผ่อนหายวับไปกับตา และไม่ได้ทำอย่างอื่นนอกจากงานเลย

ดังนั้น การปรับตารางการทำงานให้มีเวลาพักที่ชัดเจน จะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายกับการทำงานมากขึ้น อาจมีการนำเทคนิค ‘Pomodoro’ หรือการทำงานตามลูปเวลาเข้ามาประยุกต์ใช้ในการจัดตารางเวลาของตัวเองด้วย

4. หลีกหนีจากภาพความสำเร็จของคนอื่น

บางทีการที่ความรู้สึกของการรักตัวเองจางหายไป เป็นเพราะการผูกติดชีวิตของตัวเองไว้กับความสำเร็จของคนอื่น จนกลายเป็นมาตรฐานที่กำหนดกรอบการใช้ชีวิตของตัวเอง และเมื่อชีวิตไม่เป็นอย่างที่หวังก็เกิดความเครียดที่ทำให้ใจพังไม่รู้ตัว

ดังนั้น การหยุดพักจากโลกโซเชียล เพื่อหลีกหนีจากภาพความสำเร็จของคนอื่น และโฟกัสเพียงการใช้ชีวิตของตัวเองไม่ใช่สิ่งที่ผิดเลย

5. อนุญาตให้ตัวเองร้องไห้ได้

‘น้ำตา’ และ ‘การร้องไห้’ เป็นสิ่งที่แสดงถึงการมีชีวิตอยู่ในรูปแบบหนึ่ง เพราะชีวิตของมนุษย์ต้องมีเรื่องราวที่สุขและเศร้าปะปนกันไป การพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้แข็งแกร่งตลอดเวลา คือการฝืนความรู้สึกที่มีแต่จะทำให้อึดอัด กดดัน และทรมานใจ

ดังนั้น การรักตัวเองต้องเริ่มจากการรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเอง และยอมรับความเป็นจริงว่า ตอนนี้กำลังรู้สึกอย่างไร เพื่อไม่ให้การฝืนความรู้สึกย้อนกลับมาทำร้ายตัวเองในภายหลัง

เมื่อทุกคนรักตัวเองมากขึ้น จะมีเรื่องราวดีๆ เกิดขึ้นในชีวิตมากมาย เสมือนกับการเปิดกล่องของขวัญที่ทำให้รู้สึกพิเศษทุกครั้งที่ได้พบกับสิ่งของที่อยู่ด้านใน

Sources: http://bit.ly/3VmjGyl

http://bit.ly/3tR2GV6

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like