LOADING

Type to search

โดนปลดฟ้าผ่า ไม่รู้จะหางานยังไง? รู้จัก ‘Pink Slip Party’ ทางรอดของการหางานยุค ‘The Great Layoff’

โดนปลดฟ้าผ่า ไม่รู้จะหางานยังไง? รู้จัก ‘Pink Slip Party’ ทางรอดของการหางานยุค ‘The Great Layoff’
Share

Microsoft ปลดพนักงานเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 10,000 คน

Alphabet (บริษัทแม่ของ Google) ปลดพนักงานมากกว่า 6 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็น 12,000 คน

Amazon เลิกจ้างพนักงานในส่วนของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ 18,000 คน

ถึงแม้เราจะใช้ชีวิตในศักราชใหม่มาแล้วหลายสัปดาห์ แต่ยังคงได้ยินข่าวการปลดพนักงานที่เป็นประเด็นร้อนในปี 2022 ไม่จบไม่สิ้น เพราะบริษัทเทคฯ น้อยใหญ่ต่างพากันปลดพนักงานจำนวนมาก จนทำให้คนที่ต้องโบกมือลาตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมเทคฯ มีมากกว่า 100,000 คนแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังคาดการณ์ว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่เข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มหกรรมการปลดพนักงานไม่มีทางจบลงง่ายๆ และอาจมีพนักงานอีกเป็นจำนวนมากต้องออกจากตลาดแรงงานไปอย่างไม่มีทางเลือก

แต่ภายใต้การปลดพนักงานที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้นกลับมีเรื่องราวดีๆ ซ่อนอยู่ เมื่อคนกลุ่มหนึ่งพยายามเชื่อมโยงกลุ่มคนที่ต้องลาจากตำแหน่งอันเป็นที่รักด้วย ‘Pink Slip Party’ หรือ ‘ปาร์ตี้รวมพลคนโดนยื่นซองขาว’

แล้ว ‘Pink Slip Party’ มีความพิเศษกว่าปาร์ตี้ทั่วไปอย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจเรื่องราวอีกด้านของการปลดพนักงานครั้งใหญ่พร้อมๆ กัน

คำว่า ‘Pink Slip’ หรือ ‘ซองสีชมพู’ เป็นคำแสลง หมายถึงจดหมายเชิญออกจากงาน เปรียบได้กับคำว่า ‘ซองขาว’ ที่ใช้ในบริบทของสังคมไทย ดังนั้น Pink Slip Party จึงเป็นปาร์ตี้ที่เปิดโอกาสให้ ‘คนโดนยื่นซองขาว’ พบกับ ‘ฟ้าหลังฝน’ ของตัวเองผ่านการหางานครั้งใหม่ และสร้างคอนเนกชันกับคนอื่นๆ ที่มาร่วมงาน

แต่ Pink Slip Party ไม่ใช่ไอเดียที่เพิ่งเกิดขึ้นจากการปลดพนักงานในช่วงที่ผ่านมา เพราะเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยช่วงปลายยุค ‘90s ถึงต้นปี 2000s เกิดมรสุมลูกใหญ่ในวงการเทคฯ ที่เรียกว่า ‘ฟองสบู่ดอตคอม’ (Dot-com Bubble)

Image by Freepik

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่วงปลายยุค ‘90s อินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับความเชื่อในการเปลี่ยนโลก ภาคธุรกิจพากันสร้างเว็บไซต์ที่ต่อท้ายชื่อด้วย ‘.com’ ผู้คนพากันลงทุนและเก็งกำไรในหุ้นของบริษัทเหล่านั้น จนเกิดเป็นฟองสบู่ลูกใหญ่ที่พร้อมแตกตลอดเวลา และเมื่อฟองสบู่แตกจากความถดถอยทางเศรษฐกิจ บริษัทมากมายต้องลาจากโลกธุรกิจไปตลอดกาล

ดังนั้น ฟองสบู่ดอตคอม จึงเป็นฤดูหนาวอันหนาวเหน็บของวงการเทคฯ ที่ทำให้พนักงานจำนวนมากต้องโบกมือลาตำแหน่งงานของตัวเอง และรอโอกาสครั้งใหม่ในการหางานกับบริษัทที่ใช่ ซึ่งการมี Pink Slip Party จะช่วยให้คนโดนยื่นซองขาวสามารถหางานใหม่ได้เร็วขึ้น

แอนดรูว์ ยัง (Andrew Yeung) หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของบริษัทเทคฯ แห่งหนึ่ง นำไอเดียการจัดปาร์ตี้แบบ Pink Slip Party กลับมาใช้อีกครั้งในปี 2022 เพราะก่อนหน้านี้ เขาเคยจัดงานรวมพลพนักงานสายเทคฯ ผ่านโปรแกรม Zoom แต่เมื่อคนถูกเลิกจ้างมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เขาตัดสินใจจัดงานรวมพลเป็นปาร์ตี้เล็กๆ ที่ใจกลางเขตแมนฮัตตันแทน โดยมีเป้าหมายเป็นพนักงานสายเทคฯ ประมาณ 1,000 คน

นอกจากนี้ แอนดรูว์ยังเผยกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า เขากำลังวางแผนจัดงานในสเกลที่ใหญ่ขึ้น และสามารถรองรับผู้ร่วมงานได้ประมาณ 10,000 คน ในช่วงต้นปี 2023 ที่นครนิวยอร์ก เพราะยังมีพนักงานสายเทคฯ ที่โดนยื่นซองขาวอีกเป็นจำนวนมากต้องการหางานใหม่โดยเร็วที่สุด

การจัด Pink Slip Party มีกิมมิกที่น่าสนใจคือสายรัดข้อมือเรืองแสงที่แบ่งผู้ร่วมงานออกเป็น 2 กลุ่มอย่างชัดเจน โดยกลุ่มของคนที่ถูกเลิกจ้างจะสวมสายรัดข้อมือสีชมพู และกลุ่มของ Recruiter จะสวมสายรัดข้อมือสีเขียวหรือสีอื่นๆ ทำให้ผู้ร่วมงานสามารถรับรู้สถานะของกันและกันผ่านสีของสายรัดข้อมือได้

ภายในงานจะเปิดโอกาสให้พนักงานและ Recruiter พูดคุยกันอย่างอิสระ สามารถแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่อสื่อสาร เพื่อสร้างคอนเนกชันระหว่างกัน หรือหากใครพก Resume ติดตัวมาด้วย ก็สามารถนำไปมอบให้กับ Recruiter ได้เลย ซึ่งบางคนอาจโชคดีได้ offer ตำแหน่งงานจากการเข้าร่วมปาร์ตี้เลยก็เป็นได้

นอกจาก Pink Slip Party จะเป็นตัวอย่างหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์ผ่านวัฒนธรรมการชนแก้วแล้ว ยังสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของการสร้าง ‘คอมมูนิตี้’ สำหรับพนักงานสายเทคฯ อีกด้วย  เพราะเป็นปาร์ตี้ที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนในวงการที่มุ่งหวังให้เพื่อนร่วมวงการสามารถหางานใหม่ได้ในเร็ววัน

Sources: http://bit.ly/3XAHX5f

http://bit.ly/3kKKhrS

http://bit.ly/3wtw4SM

http://bit.ly/3ZZQWhI

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like