Type to search

‘สบู่นกแก้ว’ สบู่รุ่นคุณปู่อายุ 75 ปี มีต้นกำเนิดจากฝรั่ง แต่แบรนด์เป็นชื่อไทย

October 26, 2022 By Witchayaporn Wongsa
parrot-botanicals

กลิ่นที่หอมฟุ้ง สีสันที่หลากหลาย หีบห่อที่สวยงาม

น่าจะเป็นคำจำกัดความที่สื่อถึง ‘พฤกษานกแก้ว’ หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘สบู่นกแก้ว’ สบู่รุ่นคุณปู่ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในโลกธุรกิจมาถึง 75 ปี ได้เป็นอย่างดี

หากพูดถึงสบู่นกแก้ว ภาพจำที่น่าจะฉายชัดในใจใครหลายๆ คน ก็คือสบู่ก้อนในห่อกระดาษสีสันสดใส เห็นมาแต่ไกลก็บอกได้ว่าเป็นสบู่นกแก้ว และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใด แบรนด์ก็ยังคงอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างแข็งแกร่ง

ถึงแม้ว่า ความนิยมในการใช้สบู่ก้อนจะลดลงไปตามกาลเวลา และมีครีมอาบน้ำที่ใช้งานง่ายกว่าเข้ามาแทนที่ แต่สบู่นกแก้วก็ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน และเป็น ‘แบรนด์เลิฟ’ (Brand Love) ของบางครอบครัวมาหลายสิบปี เรียกได้ว่า เป็นของใช้ประจำบ้านที่ใช้กันมารุ่นสู่รุ่นเลยทีเดียว พิสูจน์ได้จากยอดขายมากกว่า 40 ล้านก้อนต่อปี และมีรายได้มากกว่า 2,000 ล้านบาท

ทำไม ‘สบู่นกแก้ว’ ถึงยังคงประสบความสำเร็จในตลาดสบู่ก้อนมาจนถึงปัจจุบัน ในขณะที่คู่แข่งส่วนใหญ่ตัดสินใจบุกตลาดครีมอาบน้ำกันแล้ว? Future Trends จะพาทุกคนไปร่วมวิเคราะห์กลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์กัน

‘สบู่นกแก้ว’ สบู่สัญชาติไทย แต่มีต้นกำเนิดโดย ‘ฝรั่ง’

Parrot Botanicals

ถึงแม้ชื่อและภาพลักษณ์ของแบรนด์ จะฉายชัดภาพความเป็นไทยมาก แต่ผู้ก่อตั้งแบรนด์กลับเป็นนักธุรกิจชาวสวิตเซอร์แลนด์ที่มีชื่อว่า ‘วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์’ (Walter Leo Mayer)

ย้อนกลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว วอลเตอร์เป็นนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงด้านการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมาขายในไทย ด้วยความที่ซึมซับวิถีชีวิตริมน้ำของผู้คนมานาน เขาจึงเริ่มมองเห็นโอกาสทางธุรกิจ และตัดสินใจจำหน่ายสบู่ก้อนของตัวเอง

คนโบราณจะนิยมใช้สบู่ทำความสะอาดร่างกายตั้งแต่หัวจรดเท้า และใช้ปนกับการซักล้างสารพัดสิ่งของ ทำให้วอลเตอร์ได้ไอเดียใหม่ในการผลิตสบู่ของตัวเอง จนเกิดเป็นสบู่ก้อนทำมือกลิ่นหอมฟุ้งขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพ และใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศ

แล้วที่มาของอัตลักษณ์สุดโดดเด่นอย่าง ‘นกแก้ว’ คืออะไร?

‘นกแก้ว’ เกิดจากงานอดิเรกของวอลเตอร์ เขาชอบเดินป่าชื่นชมความงามของพรรณไม้ และประทับใจความงามของนกแก้วมาก ทำให้เขาเลือกที่จะผสมผสานทั้งสองสิ่งให้กลายเป็นอัตลักษณ์สื่อถึงแบรนด์ อย่างนกแก้วสื่อถึงความสดใส ส่วนพรรณไม้ก็สื่อถึงกลิ่นหอมและความเป็นธรรมชาติ

และที่สำคัญทั้ง ‘นกแก้ว’ และ ‘พรรณไม้’ ยังนำมาสู่การรังสรรค์ผลงานศิลปะบนห่อสบู่อีกด้วย

เมื่อ ‘ธุรกิจ’ และ ‘ศิลปะ’ เป็นเรื่องเดียวกัน

Art Marketing

ถ้าเราบอกว่า “หนึ่งในกลยุทธ์ความสำเร็จของสบู่นกแก้ว คือ ‘ศิลปะ’” คุณจะเชื่อเราไหม?

จุดแข็งของศิลปะคือ ‘ความเป็นสากล’ ไม่จำเป็นต้องสื่อสารด้วยตัวอักษร แต่สามารถสื่อสารได้ด้วยการมองภาพผลงานในครั้งเดียว และศิลปะก็เป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ ต่อให้เวลาผ่านไปนานเท่าใด ใจความสำคัญของผลงานจะยังคงอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ศิลปะยังเป็นสิ่งที่จรรโลงใจ และเข้าถึงจิตใจของผู้คนได้ง่าย ทำให้ภาคธุรกิจเริ่มปรับภาพลักษณ์โดยใช้ศิลปะเข้ามาเป็นองค์ประกอบมากขึ้น และงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย (University of Georgia) ในปี 2008 ก็ยืนยันว่า แบรนด์ที่สร้างภาพลักษณ์ด้วยผลงานศิลปะ สามารถสร้างอิทธิพลเชิงบวกต่อลูกค้าได้ดีกว่า

หากจะกล่าวว่า ‘สบู่นกแก้ว’ เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ปลุกปั้นมาด้วย ‘ศิลปะ’ ก็คงไม่ผิดนัก เห็นได้จากหีบห่อสีสันสดใส ภาพนกแก้วและพรรณไม้บนห่อสบู่ และการร่วมงานศิลปินสายคอลลาจ (Collage) เพื่อสร้างสื่อโฆษณาที่ทำให้อัตลักษณ์ของแบรนด์ชัดขึ้นกว่าเดิม

และต่อให้สบู่นกแก้วจะขยายไลน์สินค้าออกมามากขึ้นแค่ไหน ก็ยังคงแฝงความเป็นศิลปะสไตล์ ‘สบู่นกแก้ว’ ที่เด่นชัดอยู่ในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นอยู่ดี

กลยุทธ์การใช้ศิลปะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความสำเร็จของสบู่นกแก้ว เพราะสิ่งที่สบู่นกแก้วพยายามสื่อสารกับลูกค้ามาตลอด อย่างความแตกต่างและคุณภาพสินค้าของแบรนด์ได้เข้าไปอยู่ในใจของใครหลายๆ คนแล้ว

Sources: https://bit.ly/3fQd6k7

https://bit.ly/3V82YmN

https://bit.ly/3RHmEew

https://bit.ly/3ebGdhl

Trending

    Witchayaporn Wongsa

    Witchayaporn Wongsa

    อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)