LOADING

Type to search

AI วาดภาพเองได้แล้ว ศิลปินยังจำเป็นอยู่ไหม? วงการศิลปะจะเป็นอย่างไร ในวันที่ AI เริ่มยึดครอง

AI วาดภาพเองได้แล้ว ศิลปินยังจำเป็นอยู่ไหม? วงการศิลปะจะเป็นอย่างไร ในวันที่ AI เริ่มยึดครอง
Share

“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” (Ars longa, vita brevis)

วาทกรรมสุดคลาสสิกเกี่ยวกับศิลปะที่หยิบยกมาพูดเมื่อใดก็ดูจะจริงเสมอ และหากตีความกันอย่างไม่ซับซ้อนคงหมายความว่า ศาสตร์ของศิลปะจะอยู่อย่างยั่งยืน ถึงแม้มนุษย์ที่เป็นผู้สร้างสรรค์จะสิ้นอายุขัย และลาจากโลกนี้ไปแล้วก็ตาม

แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่ทำให้ศิลปะยืนยาว จะไม่ได้มีแค่มนุษย์อีกต่อไป เพราะตอนนี้มีศิลปินคนใหม่ที่ชื่อ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence หรือ AI) เข้ามาเดบิวต์ในวงการศิลปะด้วย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา วงการเทคโนโลยีดูจะคึกคักเป็นพิเศษ เพราะมีกระแสที่ถูกพูดถึงอยู่มากมาย โดยเฉพาะ ‘มิดเจอนีย์’ (Midjourney) AI วาดภาพจากลีป โมชัน (Leap Motion) ที่ก่อตั้งโดยเดวิด โฮลซ์ (David Holz)

จริงๆ แล้ว มิดเจอร์นีย์ไม่ใช่ AI สายสร้างสรรค์ผลงานหรือภาพวาดตัวแรกแต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ก็มี ‘ดัลอี’ (DALL-E) ของโอเพ่น เอไอ (OpenAI) และ ‘อิเมเจน’ (Imagen) ของกูเกิล (Google) มาแล้ว แต่ความพิเศษที่ทำให้มิดเจอร์นีย์เป็นที่ฮือฮาบนโลกออนไลน์ ก็คือความเหมือนจริงของผลงาน และการใช้เวลาอันน้อยนิดในการประมวลผลภาพวาดจากคีย์เวิร์ดที่ผู้ใช้งานป้อนเข้าไป

การมาของมิดเจอร์นีย์ ทำให้หลายๆ คนได้สวมบทบาทเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ ลองใช้จินตนาการของตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงานออกมา และเอามาอวดกันบนโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #Midjourney ซึ่งในความเป็นจริง ผลงานเหล่านี้ต้องใช้เวลาแรมเดือน บางชิ้นก็เป็นแรมปีในการสร้างสรรค์ให้สมบูรณ์ แต่พอมี AI เข้ามาทุกอย่างกลับกลายเป็นเรื่องง่ายไปหมด ใช้เวลาแค่เสี้ยววิก็ได้ผลงานสุดวิเศษแล้ว

ถึงแม้ว่า หลายๆ คนจะสนุกกับการสร้างสรรค์ผลงานจากมิดเจอร์นีย์ แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง นี่คือการที่เทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จนทำให้ศิลปินที่ใช้ศิลปะหล่อเลี้ยงชีวิตกำลังตกอยู่ในที่นั่งหรือเปล่า และไม่ใช่แค่วงการศิลปะเท่านั้น แต่ AI ก็ค่อยๆ กลืนกินวงการงานเขียนแล้วเช่นกัน มีนักเขียนหลายๆ คนที่เริ่มใช้ AI ในการคิดพล็อตเรื่อง และเขียนงานแทนตัวเอง เพื่อประหยัดเวลาในการสร้างสรรค์ผลงาน (แต่บทความนี้เขียนโดย ‘คน’ 100 เปอร์เซ็นต์แน่นอน)

คำถามของประเด็นนี้ก็คือ AI เข้ามาช่วยให้การสร้างสรรค์ผลงานเป็นเรื่องง่ายขึ้น หรือลดทอนคุณค่าของการลงแรงที่อยู่เบื้องหลังกันแน่?

artificial-intelligence-ai

อานุภาพของ ‘AI’ ที่ทำให้ใครๆ ก็ต่างหวาดกลัว

ถ้าพูดถึง AI ในตอนนี้ หลายๆ คนคงนึกถึงความเป็นเทคโนโลยีที่ทรงพลังในทุกอุตสาหกรรม และอยู่เบื้องหลังความเฟื่องฟูของภาคธุรกิจ ตั้งแต่เป็นส่วนผสมของอัลกอริทึมที่เดาใจผู้ใช้งานได้อย่างแม่นยำ ไปจนถึงการเป็นกลไกหลักของหุ่นยนต์ที่มีบทบาทสำคัญในภาคการผลิต

แต่กว่าที่ AI จะมาถึงจุดนี้ได้ก็ต้องผ่านร้อนผ่านหนาว และต่อสู้กับคำครหาที่ว่า เป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ธรรมดาๆ ที่เปลี่ยนโลกไม่ได้มานับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งช่วงกลางปี 2000 เจฟฟรีย์ ฮินตัน (Geoffrey Hinton) ค้นพบ ‘ดีพเลิร์นนิ่ง’ (Deep Learning) หรือ AI ที่เกิดจากการเรียนรู้และจดจำข้อมูลที่ป้อนเข้าไปได้อย่างทรงพลัง และเป็นต้นแบบของ AI ที่ใช้กันในปัจจุบันด้วย

ดีพเลิร์นนิ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของโลกเทคโนโลยีและธุรกิจ เพราะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโตโดยใช้ต้นทุนในระยะยาวน้อยกว่าเดิม และกลายเป็นที่มาของการ ‘ดิสรัปต์’ ตลาดแรงงานไปจนถึงวิถีชีวิตของผู้คน อะไรที่คนทำได้ AI ก็ทำได้ และบางทีทำได้ดีกว่าคนด้วยซ้ำ

ถึงแม้ AI จะทำอะไรหลายๆ อย่างได้เหมือนกับคน ก็ยังถูกมองว่า ความเป็น AI ที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่สามารถทดแทนความรู้สึกนึกคิดที่ลุ่มลึกของคนได้ แต่แนวคิดนี้ก็เป็นอันต้องสั่นคลอน เมื่ออดีตวิศวกรของกูเกิลออกมาเปิดเผยความมีชีวิตจิตใจของ ‘แลมด้า’ (LaMDA) ผ่านบทสนทนาในระบบแช็ตบ็อต

การเปิดเผยครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มกลับมาขบคิดว่า หรือ AI จะได้รับการพัฒนาจนสามารถกลบจุดอ่อนเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิด เพื่อเอาชนะมนุษย์ได้แล้ว?

วันนี้ เราจึงต้องการชวนทุกคนมาร่วมกันวิเคราะห์ว่า AI ที่ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความมีชีวิตจิตใจ จะสามารถยึดครองวงการศิลปะที่ต้องใช้ความลุ่มลึกทางอารมณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างสมบูรณ์หรือไม่?

“อย่าไปคิดมาก” AI ก็เป็นแค่เครื่องมือที่ช่วยให้สร้างสรรค์ผลงานได้เร็วขึ้น

ถึงแม้ หลายๆ คนจะมองว่า มิดเจอร์นีย์คือก้าวใหม่ของการดิสรัปต์จาก AI ที่มีเป้าหมายเป็นวงการศิลปะ แต่จริงๆ แล้ว ถ้าย้อนมองไปที่จุดเริ่มต้นของ AI คำว่า ดิสรัปต์เกิดขึ้นมานานแล้ว ส่วนการมาของมิดเจอร์นีย์ไม่ควรเป็นสิ่งที่น่าตกใจแล้วด้วยซ้ำ

ในหนังสือ AI Superpowers ที่เขียนโดยไคฟู ลี (Kai-Fu Lee) ผู้ที่คร่ำหวอดในวงการ AI มาหลายสิบปี มีใจความเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่น่าสนใจ ลีมองว่า ตอนนี้เป็นยุคของการประยุกต์ใช้ กล่าวคือยุคของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นตั้งแต่ที่ฮินตันค้นพบดีพเลิร์นนิ่งแล้ว ส่วนเทคโนโลยีที่ต่อยอดมาจากดีพเลิร์นนิ่งไม่ได้ถือว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แต่อย่างใด

ดังนั้น หากจะมองว่า มิดเจอร์นีย์เป็นเพียงการต่อยอดทางเทคโนโลยีที่เป็นส่วนหนึ่งของการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก

และเมื่อมองไปที่การทำงานของ AI ที่ต้องพึ่งพาข้อมูลจำนวนมหาศาล ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไร ก็ยิ่งดีกับ AI มากเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้ว คนกับ AI ก็มีความสัมพันธ์แบบที่พึ่งพากันมากกว่าที่จะแข่งกันเอง เพราะ AI ต้องพึ่งพาข้อมูลที่ใช้ในการเรียนรู้จากคน ส่วนคนก็พึ่งพาการประมวลผลจาก AI

ai-artificial-intelligence

ศิลปินไร้ที่ยืน ผลงานไร้มนต์เสน่ห์ : คุณค่าของงานศิลปะอยู่ที่ใด?

ไม่ปฏิเสธว่า การมาของมิดเจอร์นีย์ ดัลอี และอิเมเจน ช่วยให้ศิลปินฝึกหัดและคนที่มีความฝันสามารถเข้าสู่วงการศิลปะได้ง่ายขึ้น แต่ความง่ายในการสร้างสรรค์ผลงานราวกับมีเวทมนตร์เสก ทำให้เราหลงลืมคุณค่าของงานศิลปะไปหรือเปล่า?

บางคนอาจจะมองว่า คุณค่าของงานศิลปะ คือความงดงามและการถ่ายทอดเรื่องราว แต่จริงๆ แล้ว คุณค่าของงานศิลปะมีมากกว่านั้น เบื้องหลังความงดงามที่เราปรายตามองกันเพียงไม่กี่นาที ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงกายของศิลปินที่ใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูลผสมผสานกับจินตนาการที่อยู่ในสมอง เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวออกมาเป็นผลงานให้ผู้คนได้เชยชม

ถึงแม้ว่า การใช้ AI เพื่อสร้างสรรค์ผลงาน จะทำให้ได้ผลงานสุดวิเศษที่เป็นปลายทางไม่ต่างจากการลงมือทำตั้งแต่ต้นก็จริง แต่กลับไม่มีมนต์เสน่ห์น่าจดจำที่อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานเลยสักนิด

แต่อีกมุมที่น่าคิดเกี่ยวกับการใช้ AI ในวงการศิลปะ ก็คือในปัจจุบัน เราชินกับการเสพสื่อหรือผลงานที่เน้นสร้างจากความรวดเร็ว เราสนใจเพียงปลายทางของงานชิ้นนั้น จนไม่ได้สนใจสิ่งที่ศิลปินทำระหว่างทาง และการที่ AI เข้ามายึดครองวงการศิลปะได้ก็ล้วนแต่เป็นการตอบสนองต่อความเคยชินของเราทั้งสิ้น

ในฐานะที่ผู้เขียนก็เป็นครีเอเตอร์คนหนึ่งที่คอยป้อนงานให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หากจะบอกว่า การเข้ามาในวงการสร้างสรรค์ของ AI ไม่ได้ทำให้รู้สึกหวาดกลัวหรือวิตกกังวลเลยก็คงไม่ใช่ เพราะ AI จะเรียนรู้ความสามารถของคนได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จึงกลายเป็นความท้าทายในการตัดสินใจว่า เราจะพยายามวิ่งหนีการแซงหน้าของ AI หรือจะใช้ชีวิตแบบอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขแทน

แล้วคุณล่ะ คิดว่า AI ยึดครองวงการศิลปะไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว?

Sources: https://bit.ly/3BSFaMz

https://bit.ly/3Q6rl1x

https://bit.ly/3A2QggC

หนังสือ AI Superpowers เขียนโดย ไคฟู ลี (Kai-Fu Lee)

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like