LOADING

Type to search

5 เทคนิค ‘ดีเบต’ ทรงพลังแบบ ‘บารัค โอบามา’ ชายผู้ใช้ ‘โพเดียม’ สร้างความเชื่อมั่นในใจ ‘ผู้ฟัง’

5 เทคนิค ‘ดีเบต’ ทรงพลังแบบ ‘บารัค โอบามา’ ชายผู้ใช้ ‘โพเดียม’ สร้างความเชื่อมั่นในใจ ‘ผู้ฟัง’
Share

‘การดีเบต’ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งเสมอ ยิ่งโค้งสุดท้ายของการหาเสียงงวดเข้ามาทุกที แต่ละพรรคการเมืองต้องงัดกลยุทธ์การแสดงวิสัยทัศน์ออกมาประชันกัน เพื่อรักษาฐานเสียงเดิม สร้างฐานเสียงใหม่ และเปลี่ยนใจคนที่ยังลังเลให้มาเป็น ‘Voter’ หรือ ‘หัวคะแนน’ ของตัวเอง

แน่นอนว่า หลังการดีเบตแต่ละครั้งจบลง โมเมนตัมทางการเมืองย่อมเปลี่ยนไป ดังนั้น การดีเบต จึงเป็นการเดิมพันที่ไม่มีคำว่า ‘กั๊ก’ และต้องเทหมดหน้าตักเท่านั้น เพื่อให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเข้าใจวิสัยทัศน์และอุดมการณ์ของตัวเอง ก่อนจะจรดปลายปากกาเป็นคะแนนเสียงที่เพิ่มโอกาสในการชนะเลือกตั้ง

แต่การดีเบตเพื่อแสดงความเห็นและโน้มน้าวใจผู้ฟัง ถือเป็นศาสตร์การพูดในที่สาธารณะที่ท้าทาย เพราะต้องใช้ความรอบรู้ในการสร้างสรรค์คำพูดที่ทรงพลัง และยังเป็นทักษะ ‘ทองคำ’ ที่จำเป็นกับการทำงานในทุกวงการ ไม่ใช่แค่ ‘การเมือง’ เท่านั้น

แล้วถ้าต้องการฝึกทักษะ ‘ดีเบต’ ของตัวเองให้เฉียบคม จะสามารถทำได้อย่างไรบ้าง? Future Trends จะพาทุกคนไปถอดบทเรียนและศึกษาเทคนิคการดีเบตของ ‘บารัค โอบามา’ (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในบทความนี้พร้อมๆ กัน

แม้โอบามาจะเป็นคนที่เปล่งประกายยามที่ยืนอยู่หลังโพเดียม เพื่อปราศรัยหรือกล่าวสุนทรพจน์กินใจ จนมีวลีติดปากว่า “Yes, we can.” แต่หากย้อนกลับไปที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2555 จะพบว่า ผู้เชี่ยวชาญและผู้สื่อข่าวสายการเมืองในสหรัฐฯ ต่างให้ความเห็นคล้ายๆ กันเกี่ยวกับการดีเบตครั้งแรกของโอบามาที่ยัง ‘เพลี่ยงพล้ำ’ ผู้ท้าชิงคนสำคัญจากพรรครีพับลิกัน (Republican Party) อย่าง ‘มิตต์ รอมนีย์’ (Mitt Romney)

แต่ความน่าสนใจของการสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนั้น คือการดีเบตครั้งต่อมา โอบามาเริ่มฉายแสงราวกับมีสปอตไลต์ส่องรอบตัว และทำผลงานบนเวทีดีเบตได้น่าประทับใจ จนหลายคนเริ่มสนใจวิธีการฝึกฝนของเขา เพราะทักษะการดีเบตของโอบามาพัฒนาอย่างเห็นได้ชัดในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์

มาร์ก ฮาลเปอริน (Mark Halperin) และจอห์น ไฮเลอแมนน์ (John Heilemann) นักข่าวชาวอเมริกันร่วมกันเขียนหนังสือชื่อว่า ‘Double Down’ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2555 และยังพูดถึงเทคนิคดีเบตสไตล์โอบามาทั้งหมด 5 ข้อ ดังนี้

1. ยอมรับการช่วยเหลือ เมื่อรู้ว่า ‘ตัวเอง’ ไม่ไหว

“ผมรู้ดีว่า ตัวเองทำได้ไม่ดี”

หลังการดีเบตครั้งแรก โอบามายอมรับกับทีมอย่างตรงไปตรงมาว่า ตัวเองทำได้ไม่ดีพอ ซึ่งการที่เขาเปิดใจพูดคุยกับทีม คือการตระหนักถึงข้อบกพร่องของตัวเอง ทำให้เขาและทีมสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว จนนำไปสู่พัฒนาการที่ปรากฏต่อสายตาของทุกคน

2. กระตือรือล้นกับการรับ ‘ฟีดแบ็ก’

หลังจบการฝึกฝนแต่ละครั้ง โอบามาจะขอความเห็นจากโค้ชหรือทีมของเขาเสมอ เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาทักษะการดีเบตของตัวเอง ซึ่งพวกเขาจะให้ความเห็นในมุมผู้ฟังอย่างตรงไปตรงมา และร่วมกันหากลยุทธ์ที่ทำให้การดีเบตของโอบามาทรงพลังยิ่งขึ้น

3. ย่อย ‘คำพูด’ ให้ง่าย

‘Keep It Simple’ หรือทำทุกอย่างให้ง่ายเข้าไว้ ยังคงเป็นแนวคิดที่ใช้ได้ในทุกวงการ โดยเฉพาะวงการการเมืองที่ต้องมีการปราศรัยหรือดีเบตตลอดเวลา แม้นโยบายหรือเนื้อหาการดีเบต จะมาจากข้อมูลที่ซับซ้อน ก็ต้องสรุปใจความและใช้ภาษาที่ง่ายที่สุด เพื่อสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทุกคน

4. ทำ ‘ใจ’ ให้สบาย

การดีเบต เป็นการแสดง performance รูปแบบหนึ่ง ผลลัพธ์ของการแสดงขึ้นอยู่กับ ‘ความพร้อม’ ของร่างกายและจิตใจ

การดีเบตครั้งแรกของโอบามามีเหตุไม่เป็นใจหลายอย่าง เช่น เดินทางมาถึงเมืองเดนเวอร์ (สถานที่จัดการดีเบต) ช้ากว่ากำหนด หรือการที่เขากินอาหารเย็นอย่างเร่งรีบ ทำให้ร่างกายของตัวเองไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมต่อการดีเบตเท่าไรนัก ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้น คือบทเรียนอันล้ำค่าที่ช่วยให้เขาและทีมตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น

5. ฝึกแล้ว ฝึกอีก ฝึกต่อไป

หลังจากการดีเบตครั้งแรกผ่านไป โอบามาให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมมากขึ้น เขายึดมั่นในตารางการฝึกซ้อม และไม่หยุดพักหากผลลัพธ์ไม่เป็นที่พอใจ ซึ่งการที่เขาฝึกซ้อมอย่างหนัก ทำให้ร่างกายและสมองจดจำวิธีการพูดและท่าทางต่างๆ ได้ดี ก่อนจะพัฒนาเป็นความเคยชินที่ทำให้เขาดีเบตได้อย่างเป็นธรรมชาติ

5 เทคนิค ‘ดีเบต’ สไตล์ ‘บารัค โอบามา’ ที่เรานำมาฝากกันในวันนี้ ไม่ใช่เทคนิคที่ซับซ้อนเลยแม้แต่นิดเดียว ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์ของตัวเอง และพัฒนาทักษะการพูดโน้มน้าวใจให้เก่งขึ้น!

Sources: https://bit.ly/3HdGRGl

https://bit.ly/3V7CQc8

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like