“การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ” บทสัมภาษณ์พิเศษจาก Moreloop ธุรกิจที่มองว่าเศษผ้าเหลือใช้ไม่ควรถูกทิ้งขว้าง
“ในประเทศไทยประเทศเดียวมีเศษผ้าเหลือใช้กว่า 350,000 ตันนะครับ ซึ่งหมายถึงว่า เราสามารถทำเสื้อได้ 700 ล้านตัวจากผ้าที่เป็นผ้าส่วนเกิน” คือสิ่งที่คุณอมรพล หุวะนันทน์ อดีตนักการเงินผู้หลงใหลเรื่องสตาร์ทอัพ เล็งเห็นปัญหาของผ้าเหลือใช้ที่ถูกทิ้งขว้าง นำไปสู่การสร้างเป็นธุรกิจ Moreloop
ก่อนอื่นสำหรับผู้ที่ไม่รู้จักว่า Moreloop คืออะไร? Moreloop เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่รวบรวมผ้าส่วนเกินจากโรงงานอุตสาหกรรม มาสร้างเป็นตลาดผ้าของตัวเอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ
ทาง Future Trends มีโอกาสได้สัมภาษณ์ คุณอมรพล หุวะนันทน์ หนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้ง Moreloop Passion และจุดประสงค์ของการทำธุรกิจในครั้งนี้เป็นอย่างไร ลองมาดูกัน
[ ทำไมต้อง Moreloop? ]
“สิ่งที่ Moreloop มองดูเป็นอันดับแรกคือ การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นครับ ตอนแรกเรามีหลายชื่อมากเลยนะครับว่าจะดำเนินธุรกิจในชื่อไหนดี จนกระทั่งมาเป็นชื่อของ Moreloop ที่มีความหมายถึง ‘การวนลูปไม่จบไม่สิ้น’ ทำให้เกิดเป็นชื่อ Moreloop ครับ”
[ แล้วทำไมถึงมาสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในอุตสาหกรรมแฟชันและสิ่งทอ? ]
“Moreloop เริ่มจากคนที่เป็นผู้ก่อตั้งเนี่ย 2 คนนะครับ เราจะเรียกว่าเป็นโมเดลแบบ pain and passion ความเจ็บปวดแล้วก็ความหลงใหลนะครับ ก็คือว่าของผมเนี่ย เป็นด้านความหลงใหลเกี่ยวกับเรื่องสตาร์ทอัพ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างสิ่งใหม่ แล้วก็หลงใหลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเรื่องของขยะ waste management”
“ก่อนหน้านี้ ผมทำเรื่องการเงินมาโดยตลอด ไม่เคยเกี่ยวข้องกับผ้า หรือ สตาร์ทอัพขนาดนั้น จนกระทั่งก็มาเจอยุคที่สตาร์ทอัพรุ่งเรือง แล้วมีคนพูดว่า คนเราเนี่ย สามารถจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้นะ ผ่านกลไกของแนวคิดแบบสตาร์ทอัพ ผ่านการใช้อินเตอร์เน็ต หรือว่า ช่องทางออนไลน์ ใช้ data เพื่อสร้างธุรกิจขึ้นมาเป็นยุคใหม่ เขาเรียกว่ายุค 4.0”
“เราก็เชื่อว่าเอออันนี้น่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะเราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย เปลี่ยนแปลงทางการซื้อของผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เราก็เลยคิดว่าเราน่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกแบบนี้ได้บ้าง ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน เพื่อสร้างสตาร์ทอัพอะไรบางอย่างที่เราสนใจ”
“สิ่งที่เราสนใจเนี่ย เป็นเรื่องกี่ยวกับของเหลือ ในขณะที่เริ่มค้นคว้าก็ไปเจอว่าของเหลือมันมาจากอุตสาหกรรมการผลิตเยอะ ดังนั้น มันก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืน หรือว่าเรียกว่า linear economy ทำให้ผมสนใจว่าเออความคิดแนวที่เราจะเห็นของเหลือไม่เป็นของเหลือเนี่ย ทำยังไงได้บ้าง”
“พอชัดเจนมากๆ แล้วก็เลยเอากลไกสตาร์ทอัพเนี่ย มารวมกับความคิดตรงนี้ พอรวมเสร็จปุ๊บเราก็ต้องถามตัวเองต่อว่า แล้วเราจะหมุนเวียนอะไร? เพราะขยะก็มีหลายแบบ ในฐานะที่ผมเป็นนักการเงินมาก่อนเนี่ย เมื่อก่อนเคยเยี่ยมโรงงานเยอะ ทำให้เห็นของเหลือในโรงงานเยอะ ตอนแรกยังไม่แน่ใจว่าจะเล่นอุตสาหกรรมไหนจนนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งได้”
“คือคุณแอ๋ม ก็จะมาถึงด้านความเจ็บปวดของคุณแอ๋ม ตัวเธอมีผ้าที่ค้างสต๊อก dead stock ที่เหลืออยู่ในโรงงาน ถ้าเกิดว่าเราสนใจเกี่ยวกับการหมุนเวียนอะไรบางอย่างเนี่ย ลองเอา dead stock พวกนี้มาหมุนเวียนไหม ผ่าน digital economy ที่เราสนใจ ก็เลยเกิดขึ้นมาเป็น Moreloop ที่จับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอครับ”
[ แล้วอย่างนี้รูปแบบธุรกิจที่บอกว่าเป็น Digital นี่มีวิธีการดำเนินการอย่างไร? ]
“จากผ้าที่รวบรวมมา สามารถหารายได้ ได้ในหลายรูปแบบ เราเปรียบเป็นเหมืองที่มีผ้ามารวมกัน มีผ้าหลากหลาย ก็ขึ้นอยู่ว่าเราจะเอาผ้าไปใช้แบบไหน แบบแรกก็คือขายเป็นวัตถุดิบ ขายผ้าเป็นผ้า ก็เหมือนตลาดผ้า เป็นเหมือนร้านขายผ้าร้านนึง แต่ผ้าที่เราขายไม่ใช่ผ้าที่ทอใหม่ เป็นผ้าที่เหลือ ซึ่งลูกค้าหลายคนก็นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นของธุรกิจตัวเอง เพราะผ้าของเราไม่จำเป็นต้องซื้อเยอะ และราคาก็เข้าถึงได้ง่าย”
“แบบที่สอง ก็คือนำผ้าเหล่าเนี้ย มาผลิตเป็นของชำร่วยให้กับองค์กรต่างๆ ใช้แจกคนภายใน หลายบริษัทก็เอาผ้าของเราไปทำเป็นยูนิฟอร์ม เป็นยูนิฟอร์มที่ยั่งยืน เพราะว่าไม่ได้ใช้ผ้าใหม่ หรือจะนำไปเป็นของแจก เช่น กระเป๋า ของชำร่วย เป็นต้น”
“สุดท้ายก็คือการนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าในแบรนด์ของ Moreloop เองครับ”
[ Moreloop เติบโตไปในรูปแบบไหนบ้าง? ]
“คืออย่างแรกเลยเนี่ย ต้องบอกว่าผ้าที่เป็นผ้าส่วนเกินที่เหลืออยู่ออะครับ มีจำนวนเยอะมาก อย่างในเมืองไทยเนี่ย เราประเมินว่ามีอยู่ประมาณ 350,000 ตันนะครับ ซึ่งแปลออกมาเนี่ย หมายถึงว่าเรา สามารถทำเสื้อได้ 700 ล้านตัวต่อปี เฉพาะแค่เมืองไทยนะครับ จากผ้าที่เป็นผ้าส่วนเกิน เพราะฉะนั้นเป็น เขาเรียกว่าเป็น resource เป็นทรัพยากรที่มหาศาลมาก”
“มันจึงเติบโตได้แน่นอนในการที่เราจะจับผ้าเหลือใช้มาสร้างเป็น Moreloop เริ่มจากโรงงานที่เราไปรวมผ้ามาเนี่ยจาก 5 โรงงานตอนนี้เราก็เติบโตมีเครือข่ายกว่า 70 โรงงาน มีผ้ากว่าพัน 3,000 ชนิด เพราะฉะนั้น เราจะสามารถเติบโตไปได้เยอะกว่านี้แน่ๆ”
“ส่วนด้านความต้องการเนี่ย เรามีลูกค้าหลายรูปแบบ ลูกค้าที่ซื้อผ้าเป็นผ้า ลูกค้าของชำร่วยจากผ้า และก็ลูกค้าแบรนด์ของ Moreloop เอง เพราะฉะนั้นเราเห็นการเติบโตมาเรื่อยๆ และมันจะเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนครับ”
[ พูดถึงความยั่งยืนมองว่า Moreloop ตรงกับจุดประสงค์เบอร์ไหนของ SDGs บ้างครับ? ]
“ก็คือของเราเนี่ยนิยามตัวเองกับ SDGs ก็คือเบอร์ 9 เบอร์ 12 แล้วก็เบอร์ 13 นะครับ เบอร์ 9 ก็จะเป็นการสร้างโครงสร้าง เขาเรียกว่า infrastructure ใหม่ขึ้นมาเพื่อความยั่งยืนมากขึ้นนะครับ เบอร์ 12 ก็จะเป็นการผลิต แล้วก็การบริโภคแบบยั่งยืนนะครับ ของ Moreloop ก็จะค่อนข้างเด่นชัดในเบอร์นี้ และสุดท้ายเบอร์ 13 เนี่ย เป็นเกี่ยวกับพวก climate actionเราเกี่ยวข้องเพราะว่าการที่เราใช้ผ้าส่วนเกิน ส่งผลให้เราไม่ผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ใหม่ หมายถึงว่าถ้าเปรียบเทียบแล้วเนี่ย ผ้าพวกเนี่ย เคยผลิตคาร์บอนไดออกไซด์มาแล้วนะครับ”
“ถ้าเกิดว่า Moreloop ไม่ได้เก็บมา สมมุติว่าโดนทิ้งไป ก็แปลว่าตรงนั้นก็คือสูญเปล่าเลยนะครับเป็นการสร้างคอร์บอนไดออกไซด์แบบไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะฉะนั้นของที่เราผลิตขึ้นมาเนี่ย ทำให้ช่วยป้องกันการเกิดคาร์บอนใหม่ ก็จะเป็น SDGs 3 ข้อนี้ครับที่ Moreloop พยายามสร้างเพื่อความยั่งยืน”
[ ตอนนี้ Moreloop สามารถตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนได้ขนาดไหนแล้ว? ]
“ที่ผ่านมา เรามีการรวบรวมผ้า แล้วก็หมุนเวียน จากตอนเริ่มต้นปีแรกๆ ประมาณ 500 กิโลกรัม ตอนนั้นปลายปี 2018 ก็คือถือว่าน้อยมากแหละในเชิงธุรกิจ แต่ว่าผ่านมา 4 ปีรวมกันทั้งหมดเนี่ย ตอนนี้เราหมุนเวียนผ้าไป 55,000 กิโลกรัมแล้วนะครับ”
“เราเห็นการเติบโตตรงเนี่ยอย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเราก็จะเห็นรายได้ของเราเติบโตทุกๆ ปีด้วย เพราะฉะนั้นในเรื่องของธุรกิจ เรามีทั้งการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจเรายิ่งโต เรายิ่งหมุนเวียนทรัพยากรมากขึ้น ก็จะยิ่งเกิดความยั่งยืนมากขึ้นครับ”
“คนขายก็ได้ขายของเหลือในราคาที่เป็นธรรม คนซื้อก็ได้ของดีที่ยั่งยืน แล้วก็สังคมก็จะเห็นภาพว่าเฮ้ยสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง เป็นธุรกิจได้จริงนะ แล้วเราก็มีการหมุนเวียนทรัพยากรจริงๆ ครับ จึงส่งผลให้ตัว Moreloop เอง อยู่ได้ด้วยในเชิงธุรกิจ”
[ เรามีแหล่งไหมครับว่าต้องไปหามาจากไหน ต้องไปซื้อมาจากไหน เพื่อเอามาทำธุรกิจเรา ]
“ก็คือผ้าส่วนเกินเนี่ย จะมีเหลืออยู่ในห่วงโซ่ของการผลิตอยู่แล้วนะครับ ทั้งจากคนที่เป็นโรงงานผลิตผ้า คนที่ผลิตเสื้อผ้า คนที่เป็นคนซื้อมาขายไปนะครับ พวกนี้ทุกคนก็จะมี dead stock ของตัวเองในแบบต่างๆ หรือว่าสินค้าหรือวัสดุที่เคลื่อนไหวช้านะครับ”
“เพราะฉะนั้นความช้าอันเนี่ย Moreloop ก็เหมือนมาทำให้เร็วขึ้นนะครับ แล้วเราก็บอกว่าเออของพวกนี้ไม่จำเป็นที่จะต้องเอาไปขายแบบถูกๆ นะ สามารถเอามาฝากเราขายได้ เรามีหลายวิธีในการของเหลือพวกนี้เป็นเงินให้ได้ เราจึงเก็บได้เยอะขึ้นเรื่อยๆ”
[ จุดมุ่งหวังของ Moreloop ที่จะทำเพื่อโลกใบนี้ เป็นยังไงบ้างครับ ]
“คือภาพของการทำเศรษฐกิจหมุนเวียนนะครับ เราอยากจะเห็น เพราะว่า vision ของ Moreloop ก็คือว่า make circular economy a reality ก็คือทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดได้จริง คำว่าเกิดได้จริงของเราหมายถึงว่า เป็นธุรกิจได้จริง มีกำไรจริง แล้วก็สามารถขยายได้จริง การที่เราทำให้ตรงนี้เกิดขึ้นเนี่ย หมายถึงว่าเราจะสามารถที่จะทำให้เกิดการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน แน่นอนปัจจุบันเนี่ย เราอยู่กับเศรษฐกิจที่เขาเรียกว่าเป็นเศรษฐกิจเส้นตรง”
“เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน 9 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเพียงแค่ Moreloop อย่างเดียวมันไม่สามารถเพิ่มขึ้นเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปได้ แต่มันทำให้เราเห็นว่าทั้งสองเศรษฐกิจสามารถอยู่ด้วยกันได้ เขาว่ากันว่าถ้าเกิดว่าเป็นเส้นตรง 80 เป็นหมุนเวียน 20 เนี่ย เราจะสามารถควบคุมอุณหภูมิโลกได้”
“เพราะฉะนั้นก็จะเป็นโลกที่เราทุกคนยังสามารถอยู่ได้ จากการที่เราช่วยกันเปลี่ยนให้เศรษฐกิจของเรา ให้มีการหมุนเวียนและเส้นตรงอย่างสมดุล Moreloop อยากเป็นกลไกที่จะสร้างสมดุลใหม่ตรงนี้ให้เกิดขึ้น แล้วเราก็หวังว่ามันจะไม่ใช่เราคนเดียวที่ทำตรงนี้ เราเชื่อว่าช่วยกันทำเยอะขึ้น ความสมดุลก็จะเกิดเร็วมากขึ้นนะครับ”
[ ปัจจุบัน Moreloop คเติบโตไปได้ตามที่หวังไหมครับ ]
“เข้าปีที่ 5 แล้วเนอะ คือเกิดเป็นธุรกิจแล้วแหละ แล้วก็มีคนรู้จักแล้ว แต่ว่าในฐานะเจ้าของอะ เราก็ไม่เคยพอใจกับธุรกิจเราหรอก ผมคิดว่ามันจะเป็นสเต็ปต่อไป คือมีความพอใจระดับนึงแล้ว แต่ว่าไปถึงตรงที่เราฝันไว้หรือยัง คิดว่ายังมีการต่อสู้อีกเยอะมากเลยที่เราจะต้องไป แต่ก็พร้อมครับ พร้อมที่จะไป แล้วก็เป็นกำลังใจให้ด้วยนะครับ”
[ มีแผนอะไรในอนาคตอีกหรือเปล่า? ]
“เรามองว่าของที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นๆ เนี่ย เราสามารถ apply ทฤษฎีแบบเดียวกันได้ ก็อาจจะรู้จัก Moreloop ในฐานะพ่อค้าผ้าเหลือดิจิตอลคนนึง แต่ผมมองว่าในอนาคตสามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ ซึ่งอันนั้นนะเป็นเป้าหมายของเราอยู่แล้วในการที่จะหมุนเวียนอย่างอื่นไปด้วยกัน ในระยะใกล้ก็คงจะเห็นเราเป็นเรื่องผ้าไปก่อนนะครับ”
“ในส่วนของอุตสาหกรรมอื่นๆ เนี่ย ผมคิดว่าเราพอเราเริ่มอยู่ตัวกับธุรกิจตรงนี้แล้ว เราก็คงจะค่อยๆ ลองทำอย่างอื่นไปด้วยครับ ก็อยากจะเป็นคลังวัตถุดิบสำหรับของเหลือทั้งหลายนะครับ ก็ฝาก Moreloop ตอนนี้ไว้ด้วย อนาคตอันใกล้เราจะเติบโตขึ้นไปอีกครับ”
ทาง Future Trends ก็หวังว่าจะได้เห็น Moreloop เติบโตเป็นธุรกิจที่ทำเศรษฐกิจหมุนเวียนในหลายๆ อุตสาหกรรมเพิ่มมากยิ่งขึ้นแต่ในตอนนี้สิ่งที่ทำอยู่ก็แสดงให้เห็นถึง Passion อันยิ่งใหญ่ของ คุณอมรพล หุวะนันทน์ ในการบริหาร Moreloop แล้วนะครับ
ในบทความสัมภาษณ์ต่อไปจะเป็นใครคอยติดตามดูกันนะครับ ว่าธุรกิจของพวกเขาจะมี Passion หรือ Pain Point อย่างไรในการช่วยเหลือโลกของเรา
สัมภาษณ์และเรียบเรียงโดย ธนพนธ์ หัสกรรัตน