LOADING

Type to search

‘MK’ บริหารอย่างไร ให้เป็น ‘Top of Mind’ ของร้านสุกี้ประจำครอบครัว
Share

โซลฟู้ด (Soul Food) หรืออาหารที่ทำให้หวนนึกถึงความทรงจำวัยเด็กสำหรับคุณคืออะไร?

หลายคนคงนึกถึง ‘สุกี้’ เป็นอันดับแรก เพราะไม่ว่าจะสังสรรค์ในโอกาสอะไร ครอบครัวก็จะพาลูกๆ ไปทานอาหารมื้อพิเศษที่ร้านสุกี้อยู่บ่อยๆ รวมถึงเป็นอาหารที่ทำให้หลายครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน ผลัดกันใส่เนื้อและผักที่ชอบก่อนจะตักแบ่งให้กันอย่างมีความสุข

และร้านสุกี้ที่อยู่ในความทรงจำของใครหลายคนมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้น..

“กินอะไร กินอะไร กินอะไรไปกินเอ็มเค~”

เจ้าของเพลงโฆษณาที่สุดแสนจะคุ้นหูอย่าง ‘เอ็มเค’ (MK Restaurant) นั่นเอง

ปัจจุบัน เอ็มเคดำเนินธุรกิจร้านสุกี้มากว่า 37 ปี มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ถึงแม้จะมีคู่แข่งหน้าใหม่ไฟแรงเกิดขึ้นมากมาย แต่ความเก๋าเกมและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน ทำให้เอ็มเคยังคงยืดหยัดในสนามแข่งอันเร่าร้อนของตลาด ‘สุกี้-ชาบู’ และเป็น ‘Top of Mind’ ของหลายครอบครัวมาจนถึงปัจจุบัน

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลัง ‘ความแข็งแกร่ง’ ของเอ็มเคคืออะไร? Future Trends จะพาทุกคนไปถอดบทเรียนความสำเร็จของเอ็มเคพร้อมๆ กัน

จากร้านอาหารคูหาเล็กๆ ย่านสยามสแควร์ สู่การเป็นร้านสุกี้ที่มีสาขาทั่วเอเชียกว่า 400 แห่ง

จุดเริ่มต้นของ ‘เอ็มเค’ เกิดจากร้านอาหารเล็กๆ ของ ‘ทองคำ เมฆโต’ หญิงสาวคนหนึ่งที่มีใจรักในการทำอาหาร เธอได้ซื้อกิจการต่อจาก ‘มาคอง คิงยี’ (Makong King Yee) เจ้าของร้านคนเดิมที่ตัดสินใจไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งคำว่า ‘เอ็มเค’ ที่เป็นชื่อร้านมาจนถึงปัจจุบันก็มาจากชื่อของมาคองด้วย

ฝีมือการทำอาหารและความเป็นกันเองของทองคำ ทำให้ร้านประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนไปเตะตา ‘สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์’ ผู้บริหารของเครือเซ็นทรัลในยุคนั้น และชักชวนทองคำมาเปิดร้านอาหารที่ห้างเซ็นทรัล สาขาลาดพร้าว โดยใช้ชื่อร้านว่า ‘กรีน เอ็มเค’

2 ปีหลังจากการก่อตั้งกรีน เอ็มเค (พ.ศ. 2529) ร้านสุกี้ ‘เอ็มเค’ ก็ได้ถือกำเนิดขึ้น และดำเนินธุรกิจร้านสุกี้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ความสำเร็จของเอ็มเคไม่ได้ฉายชัดแค่ในไทย แต่ยังพิสูจน์ได้จากการมีสาขาในเอเชียมากกว่า 400 แห่ง และกลายเป็น ‘อาณาจักร’ ร้านอาหารรายใหญ่ของไทยมาจนถึงทุกวันนี้

MK

‘เอ็มเค’ ในยุคปัจจุบันกับ 2 แนวคิดเอาชนะกำแพงทาง ‘เวลา’

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทรนด์การบริโภคอาหารของผู้คนเปลี่ยนไป จากที่เคยทานอาหารในร้าน ก็หันมาพึ่งพาแพลตฟอร์มเดลิเวอรี และสั่งอาหารมาทานที่บ้านมากขึ้น ถึงแม้ความสดใหม่ของอาหารจะไม่เทียบเท่ากับการทานที่ร้าน แต่แลกกับความสะดวกสบายก็ถือเป็นเรื่องที่คุ้มค่า

เทรนด์ที่เปลี่ยนไป ส่งผลกับเอ็มเคโดยตรง เพราะเป็นร้านอาหารที่เหมาะกับการทานเป็นหมู่คณะ และเน้นขายประสบการณ์การนั่งทานที่ร้านมากกว่าการซื้อกลับบ้านหรือเดลิเวอรี ทำให้ต้องมีการปรับตัวในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งโจทย์สำคัญคือจะปรับตัวอย่างไร ให้ยังมีความเป็นเอ็มเคอยู่

คำตอบของโจทย์นี้ คือการสร้างความหลากหลายจากรากฐานที่ดีอยู่แล้ว ต้องยอมรับว่า เอ็มเคเป็นร้านอาหารที่มีระบบครัวกลางและโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง ทำให้การปรับตัวในทิศทางใหม่ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก อีกทั้งยังมีแนวคิดการทำงานที่ยืดหยุ่น สามารถปรับใช้กับการบริหารงานได้ทุกยุคสมัย

แนวคิดการทำงานของ ‘เอ็มเค’ ที่ปรับใช้ได้ทุกยุคสมัยคืออะไร? เราสรุปมาเป็น Key Takeaway ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจแล้ว ยังสามารถปรับใช้กับการพัฒนาตัวเองได้อีกด้วย

1. การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement)

‘วิกฤต’ คือช่วงเวลาที่ทำให้มองเห็นปัญหา และเป็นสัญญาณเตือนว่า “ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องปรับตัว” แต่จริงๆ แล้ว การปรับตัวไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแค่ในช่วงเวลาที่เป็นวิกฤตเท่านั้น เพราะการปรับตัวสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หากเจ้าของธุรกิจมองว่า เทรนด์นี้เป็นสิ่งน่าสนใจก็อาจจะชิมลาง เพื่อสร้างน่านน้ำใหม่ๆ ให้กับแบรนด์ของตัวเอง

อีกทั้งการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ยังเป็นการเตรียมพร้อม เพื่อไม่ให้เจ็บหนักเวลาที่เกิดวิกฤต และอย่ากลัวที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ เพราะการทดลองจะทำให้เห็นโอกาสที่น่าสนใจในการพาแบรนด์ก้าวไปสู่จุดที่เติบโตขึ้น

2. คู่แข่ง = ความหลากหลายในวงการธุรกิจ

คู่แข่ง หมายถึง ผู้ที่เข้าแข่งขันเอาชนะกัน, ฝ่ายตรงข้าม, คู่ต่อสู้

ความหมายที่ตรงไปตรงมา ทำให้เจ้าของธุรกิจหลายๆ คนรู้สึกว่า ‘คู่แข่ง’ คือสิ่งที่ต้องเอาชนะ หรือพยายามช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาดของกันและกันมาให้ได้ แต่ ‘ฤทธิ์ ธีระโกเมน’ หัวเรือใหญ่คนปัจจุบันของเอ็มเคกลับมองต่าง เขามองว่า คู่แข่งที่เกิดขึ้นมามากมาย เป็นความหลากหลายในวงการธุรกิจ เราสามารถใช้ความสำเร็จของคู่แข่งมาเป็นแรงผลักดันในการก้าวไปข้างหน้าได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเอาชนะจนกดดันตัวเอง

สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญของแนวคิดทั้งสองข้อคือ ‘การเปิดใจ’ ถ้าแบรนด์ไม่เปิดใจรับรู้เทรนด์ใหม่ๆ ก็ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน ตกขบวนไปอย่างน่าเศร้า และไม่สามารถเป็น ‘Top of Mind’ ท่ามกลางการแข่งขันอันร้อนแรงได้ รวมถึงการเปิดใจกับความสำเร็จของคู่แข่งก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถ้าเกิดความรู้สึกเชิงลบในใจ การผลักดันตัวเองด้วยความสำเร็จของคู่แข่งคงไม่มีทางเกิดขึ้นแม้แต่นิดเดียว

Sources: https://bit.ly/3VrT4N6

https://bit.ly/3esuVp9

https://bit.ly/3Tn2s2M

https://bit.ly/3rVL0Xf

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1