LOADING

Type to search

สุกี้มีเป็นร้อยเจ้า ทำไมต้องเป็น ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ? ถอดกลยุทธ์ ‘Brand Visibility’ ที่ทำให้โกยรายได้หลักพันล้าน

สุกี้มีเป็นร้อยเจ้า ทำไมต้องเป็น ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ? ถอดกลยุทธ์ ‘Brand Visibility’ ที่ทำให้โกยรายได้หลักพันล้าน
Share

ในโลกของการทำธุรกิจมีข่าวเกี่ยวกับการสร้างพันธมิตร หรือการเข้าซื้อหุ้นของกิจการดาวรุ่งอยู่บนพื้นที่สื่อตลอด และหนึ่งในข่าวที่หลายคนให้ความสนใจในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา คือการที่บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ ‘เจ มาร์ท’ (Jaymart) เข้าซื้อหุ้นของบริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด หรือ ‘สุกี้ตี๋น้อย’ เป็นสัดส่วน 30 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท

ดีลนี้มีความน่าสนใจหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการที่ทั้งสองฝ่ายอยู่ในแวดวงธุรกิจต่างกัน ฝั่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสินเชื่อ ส่วนอีกฝั่งหนึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร ถือเป็นการผนึกกำลังเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี

เจ มาร์ทเป็นหนึ่งในพี่ใหญ่ของวงการธุรกิจไทยที่โลดแล่นในโลกธุรกิจมาอย่างยาวนาน ส่วนสุกี้ตี๋น้อยเป็นดาวรุ่งของวงการธุรกิจอาหารที่แจ้งเกิดในระยะเวลาอันรวดเร็ว การที่พี่ใหญ่ตัดสินใจลงทุนในธุรกิจดาวรุ่งเท่ากับว่า พี่ใหญ่รายนี้มองเห็นทิศทางการเติบโตของธุรกิจดาวรุ่งที่น่าสนใจมากๆ

โดยสุกี้ตี๋น้อยสามารถขยายสาขาเป็น 42 สาขา ในระยะเวลาเพียง 3 ปีกว่าๆ และที่สำคัญ ผลประกอบการตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทยังเป็นที่น่าพอใจมากอีกด้วย

ปี 2019 รายได้รวม 499 ล้านบาท กำไรสุทธิ 15 ล้านบาท
ปี 2020 รายได้รวม 1,223 ล้านบาท กำไรสุทธิ 140 ล้านบาท
ปี 2021 รายได้รวม 1,572 ล้านบาท กำไรสุทธิ 148 ล้านบาท

จะเห็นว่า รายได้ในปีผ่านมามากกว่ารายได้ช่วงก่อตั้งบริษัทราว 3 เท่า สะท้อนถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และไม่ใช่เรื่องแปลกที่สุกี้ตี๋น้อยจะมีสถานะเป็น ‘แม่เหล็ก’ ดึงดูดบริษัทพี่ใหญ่ให้เข้าลงทุนในบริษัทของตัวเอง

แล้ว ‘สุกี้ตี๋น้อย’ ทำให้ธุรกิจของตัวเองเติบโตอย่างรวดเร็วจนไปเตะตาพี่ใหญ่ในวงการธุรกิจอย่าง ‘เจ มาร์ท’ ได้อย่างไร? Future Trends จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน

ในบทความนี้ เราไม่ได้มาพูดถึงจุดเริ่มต้นหรือแนวคิดการทำธุรกิจของ ‘นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ผู้กุมบังเหียนการบริหารงานของสุกี้ตี๋น้อย แต่จะมาพูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘Brand Visibility’ หรือ ‘กลยุทธ์การมองเห็น’ ที่สุกี้ตี๋น้อยทำได้ดี และทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นร้านสุกี้ในดวงใจใครหลายๆ คน

หากแปลคำว่า ‘Brand Visibility’ อย่างตรงไปตรงมา คงหมายถึงความสามารถในการมองเห็นแบรนด์ ยิ่งคนมองเห็นแบรนด์มากเท่าไร ยิ่งเพิ่มโอกาสในการทำความรู้จักแบรนด์มากขึ้นเท่านั้น ถือเป็นสูตรสำเร็จของการสร้างการรับรู้ต่อแบรนด์ (Brand Awareness) อย่างหนึ่ง

แล้วกลยุทธ์การสร้าง ‘Brand Visibility’ ในแบบฉบับของสุกี้ตี๋น้อยมีอะไรบ้าง?

ต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันสื่อออนไลน์เข้ามามีบทบาทด้านการตลาดมาก ซึ่งสุกี้ตี๋น้อยก็ใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสาร และอาศัยการเป็นที่รู้จักจากกระแสไวรัลไม่ต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ แต่สิ่งที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตกว่าคู่แข่งอย่างเห็นได้ชัด คือการให้ความสำคัญกับสื่อออฟไลน์ด้วย

แต่สื่อออฟไลน์ที่เรากำลังพูดถึง ไม่ได้หมายถึงป้ายโฆษณาตามสถานีรถไฟฟ้าและสถานที่ต่างๆ อย่างที่หลายคนคิด แต่เป็นสาขาและที่ตั้งของร้านนั่นเอง

Suki Teenoi
Image on wongnai.com

ที่ตั้งและตัวร้านไม่ได้เป็นเพียงสถานที่ประกอบธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่แห่งการสื่อสารระหว่างแบรนด์กับลูกค้าอีกด้วย เพราะบางครั้งลูกค้าจะพิจารณาความอร่อยของอาหารจากการปรายตามองหน้าร้านเพียงครั้งเดียว ยิ่งมีคนมาต่อคิวรอหน้าร้านเยอะ ยิ่งเป็นลูกเล่นเชิงจิตวิทยาให้คนรู้สึกว่า อาหารอร่อยคุ้มค่ากับการรอคอย

หลายๆ คนน่าจะมีความเชื่อว่า ทำเลที่ดีคือทำเลที่มีคนเดินผ่านไปผ่านมาตลอดเวลา (High Traffic Area) แต่ในความเป็นจริง ทำเลที่ดีคือทำเลที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของลูกค้ามากกว่า เช่น เป็นทำเลที่เดินทางสะดวก และมีที่จอดรถเพียงพอต่อความต้องการ

ซึ่งสุกี้ตี๋น้อยมองขาดในประเด็นนี้มากๆ ทำให้ในช่วงแรกสาขาส่วนใหญ่จะเป็นแบบสแตนด์อะโลน (Stand Alone) หรือร้านเดี่ยวที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ถึงแม้จะเป็นทำเลที่คนไม่ค่อยพลุกพล่าน แต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจต่อแบรนด์ในมิติอื่นๆ นอกจากคุณภาพและรสชาติของอาหารอีกด้วย

หลังจากที่ธุรกิจประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ การขยายสาขาในห้างสรรพสินค้าจึงเกิดขึ้น ซึ่งวิธีคิดค่อนข้างต่างจากการเปิดร้านแบบสแตนด์อะโลน นั่นคือร้านจะต้องใหญ่และโดดเด่น หรืออยู่ในโซนที่คนเห็นได้จากด้านนอก เพราะนอกจากในห้างสรรพสินค้าเต็มไปด้วยร้านของคู่แข่งแล้ว ค่าเช่าสถานที่ยังมีราคาสูง ทำให้แบรนด์ต้องมั่นใจว่า การเปิดร้านในแต่ละวันสามารถสร้างรายได้ที่ครอบคลุมต้นทุนทั้งหมด

ดังนั้น ร้านต้องมีขนาดใหญ่เพื่อรองรับลูกค้าจำนวนมาก และต้องมีความโดดเด่นเพื่อสร้างการเป็นตัวเลือกในใจของลูกค้าให้เลือกทานอาหารที่ร้านของตัวเองแทนร้านของคู่แข่ง

จริงๆ แล้ว ปัจจัยที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยเติบโตอย่างก้าวกระโดดไม่ได้มีเพียงการสร้าง Brand Visibility ผ่านการเลือกทำเลที่เหมาะสมอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่พาแบรนด์ไปสู่ความสำเร็จ

แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การเลือกทำเลเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ หากเลือกทำเลในการทำธุรกิจไม่ดี ต่อให้อาหารจะอร่อยหรือมีแคมเปญการตลาดที่โดนใจขนาดไหน การทำธุรกิจจะไม่มีทางประสบความสำเร็จได้เลย เพราะแบรนด์ไม่สามารถสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้าได้ ทำให้คนทำธุรกิจต้องใส่ใจกับการเลือกทำเลที่เหมาะสมมากกว่าเดิม

Sources: http://bit.ly/3hzuzOA

http://bit.ly/3TuEbHJ

http://bit.ly/3A4QHqg

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like