-->
ชาวออฟฟิศหลายๆ คนคงเคยมีประสบการณ์อยู่ในสภาวะ ‘กลืนไม่เข้าคายไม่ออก’ จำยอมทำงานที่ไม่ใช่หน้าที่ หรืองานด่วนที่เข้ามาซ้อนทับกับงานหลัก เพราะเป็นคำสั่งของหัวหน้าผู้เป็นที่รัก จะบอกปัดก็ไม่ได้ จะพูดตรงๆ ก็กลัวหัวหน้าไม่พอใจ จนกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตการทำงานไม่มีความสุข
ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้นิดๆ หน่อยๆ บางคนอาจจะพอทนได้ แต่ถ้าต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หนักขึ้นเรื่อยๆ อย่างการบังคับให้ทำในสิ่งที่หัวหน้าต้องการด้วยคำพูดทิ่มแทงใจ หรือกดทับการแสดงความเห็นด้วยตำแหน่งที่สูงกว่า คงไม่ใช่การทำงานที่มีความสุขอย่างแน่นอน
ลำพังสู้กับงาน งานก็สู้กลับจนเหนื่อยแล้ว ยังต้องมาสู้กับคำพูดสุดท็อกซิกของหัวหน้าที่ทำให้เกิดความรู้สึกเชิงลบในใจอีก อย่างเช่นสถานการณ์ที่เราหยิบยกมาเป็นตัวอย่างในบทความนี้
หัวหน้า : “เมื่อเช้าน้องไม่น่าพูดแบบนั้นออกไปในที่ประชุมเลย มันดูข้ามหน้าข้ามตาพี่เกินไป”
พนักงาน A : “ขอโทษค่ะ หนูแค่คิดว่า มันเป็นความเห็นที่น่าจะช่วยพัฒนาผลงานให้ดีขึ้นได้ เลยพูดออกไปแบบไม่ได้ปรึกษาพี่ก่อน”
หัวหน้า : “รู้ว่าผิดก็ดีแล้ว คราวหลังอย่าทำอีก จริงๆ พี่ก็ไม่ได้รู้สึกไม่ดีอะไร แค่กลัวว่าคนอื่นจะมองทีมเราไม่โปร”
นี่คงเป็นสถานการณ์ที่น่าฉงนสงสัยของใครหลายๆ คน คุณแค่ทำงานตามหน้าที่ของตัวเอง แต่กลับสร้างความไม่พอใจให้หัวหน้า มิหนำซ้ำ หัวหน้ายังพูดให้คุณรู้สึกว่าเป็นความผิดของตัวเองด้วย และหากเจอสถานการณ์เช่นนี้บ่อยๆ เข้า บางทีคุณอาจจะกำลังทำงานกับหัวหน้าประเภท ‘Manipulator’ อยู่ก็เป็นได้
Manipulator หมายถึง ‘ผู้ปลุกปั่น’ หรือ ‘ผู้บงการ’ คนประเภทนี้จะพยายามใช้เทคนิคบางอย่างในการปั้นแต่งคำพูดหรือสร้างสถานการณ์ เพื่อบงการคนอื่นให้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
การทำงานของคำพูดจาก Manipulator จะแตกต่างกับการออกคำสั่งทั่วไป เวลาที่หัวหน้ามอบหมายงานเป็นคำสั่ง ลูกทีมจะรู้สึกไม่พอใจ และมองหัวหน้าในแง่ลบทันที แต่คำพูดของ Manipulator จะเป็นการออกคำสั่งทางอ้อม กระตุ้นให้ลูกทีมรู้สึกว่าต้องทำสิ่งนี้ด้วยตัวเอง ถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิดมาก ส่วนความรู้สึกเชิงลบที่มีต่อหัวหน้าจะมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย
แล้วลักษณะของคำพูดจาก Manipulator ถือว่าเป็นการโน้มน้าวใจ (Persuasion) อย่างหนึ่งหรือเปล่า?
แฮร์ริสัน โมนาร์ท (Harrison Monarth) นักเขียนหนังสือขายดีของ The New York Times ได้อธิบายประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า คำพูดของ Manipulator เป็นกลยุทธ์ระยะสั้นที่ได้ผลแค่ชั่วคราว เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ฟังจะเริ่มตระหนักว่า ตัวเองกำลังรู้สึกผิดในความผิดที่ไม่ได้ก่อ และต่อต้าน Manipulator ในที่สุด ส่วนการโน้มน้าวใจ คือการที่ผู้พูดพยายามทำให้ผู้ฟังตัดสินใจด้วยตัวเองตามความต้องการของผู้พูด แต่ผู้ฟังสามารถปฏิเสธเมื่อไม่เห็นด้วยได้
หากตีความคำอธิบายของแฮร์ริสันอย่างตรงไปตรงมา จริงๆ แล้วทั้งสองสิ่งก็มีจุดที่คล้ายคลึงกันอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายๆ คนจะทำงานกับ Manipulator โดยไม่รู้ตัว
แล้วถ้าพบสัญญาณว่า ตัวเองกำลังทำงานกับ Manipulator อยู่ จะรับมือกับคนประเภทนี้ได้อย่างไรบ้าง?
เราจึงนำเทคนิคการรับมือกับ Manipulator จาก ‘ลิซ กีสลิก’ (Liz Kislik) ที่ปรึกษาด้านการจัดการและคอลัมนิสต์ของ Harvard Business Review มาฝากทุกคนทั้งหมด 3 ข้อ ดังนี้
ลิซแนะนำว่า ช่วงแรกของการทำความรู้จักหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ให้สังเกตการแสดงออกของแต่ละคนดีๆ เพราะ Manipulator จะพยายามเข้าหาคนที่พวกเขาคิดว่า ‘หัวอ่อน’ หรือคนที่พูดอะไรแล้วเชื่อฟังไปหมด เพื่อบงการให้ทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ
หากคุณพบสัญญาณความเป็น Manipulator ของเพื่อนร่วมงานที่พยายามตีสนิทคุณเป็นพิเศษ ให้รีบตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำทุกอย่างด้วยความมั่นใจ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของคนประเภทนี้
Manipulator อยู่ได้ด้วยความเชื่อที่ว่า คำพูดของตัวเองมีอิทธิพลต่อคนอื่น และไม่ชอบคนที่มีท่าทีเป็น ‘หัวขบถ’ มากๆ หากมีกลุ่มคนที่ร่วมมือกันลุกขึ้นมาส่งสัญญาณต่อต้านการกระทำของพวกเขา ความเชื่อและความมั่นใจที่เคยมีต้องเริ่มสั่นคลอนอย่างแน่นอน
ถึงแม้ว่า คุณจะมีท่าทีเป็นพวกหัวขบถที่ Manipulator ไม่ชอบ แต่พวกเขาอาจจะใช้คุณเป็นเครื่องมือในการปลุกปั่นได้เช่นกัน อย่างการนินทาข้อเสียของคนอื่นให้คุณฟัง หรือการไหว้วานคุณให้ไปพูดในสิ่งที่พวกเขาต้องการกับคนอื่นๆ แทน
ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ คุณต้องแสดงท่าทีปฏิเสธกลับไปอย่างชัดเจน เพราะถ้าไม่ปฏิเสธและทำตามอย่างว่าง่าย คุณก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็น Manipulator เสียเอง
แต่คนเราไม่จำเป็นต้องอดทนจนทำร้ายตัวเอง หากรับมือกับคนประเภท Manipulator ไม่ไหว การเดินออกมาเพื่อไปหาสังคมการทำงานใหม่ที่ดีกว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย
Sources: https://bit.ly/3SX3N0a