LOADING

Type to search

คลาวด์ชิดซ้าย ฮาร์ดดิสก์ชิดขวา ทำไม ‘Floppy Disk’ ถึงเป็นตำนานที่ฆ่าไม่ตาย และยังใช้ในหลายอุตสาหกรรม?

คลาวด์ชิดซ้าย ฮาร์ดดิสก์ชิดขวา ทำไม ‘Floppy Disk’ ถึงเป็นตำนานที่ฆ่าไม่ตาย และยังใช้ในหลายอุตสาหกรรม?
Share

ในอดีตมีแกดเจ็ตเทคโนโลยีให้ใช้งานหลายรูปแบบ แต่สิ่งที่เป็นตำนานและอยู่ในความทรงจำของหลายคนคงหนีไม่พ้น ‘ฟลอปปีดิสก์’ (Floppy Disk) แผ่นดิสก์มหัศจรรย์ที่สามารถบันทึกทุกอย่างตามต้องการ แม้จะมีความจุราว 1 เมกะไบต์เท่านั้น

นอกจากฟลอปปีดิสก์จะทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยคู่ใจในการเก็บข้อมูลของวัยรุ่นยุค ‘90s และชาวมิลเลนเนียลบางส่วนแล้ว ยังเป็นแกดเจ็ตเทคโนโลยีชิ้นแรกในชีวิตของหลายคน หรือบางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นแกดเจ็ตแฟชั่นสะท้อนตัวตนผ่านการออกแบบสติกเกอร์แปะแผ่นดิสก์ รวมถึงบางคนยังสะสมแผ่นดิสก์สีสันสดใสประหนึ่งเป็นคอลเลกชัน ‘สายรุ้ง’

แต่ความนิยมของฟลอปปีดิสก์เริ่มเสื่อมคลาย เมื่อเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แกดเจ็ตที่ถูกพัฒนาหลังจากฟลอปปีดิสก์ อย่างแผ่นซีดี แฟลชไดรฟ์ และฮาร์ดดิสก์แบบพกพา สามารถจุข้อมูลได้มากขึ้น ทำให้ผู้คนเลือกใช้งานแกดเจ็ตเหล่านี้แทน รวมถึงในปัจจุบัน บริการคลาวด์ยังสามารถจัดเก็บข้อมูลไม่จำกัดความจุอีกด้วย

ดังนั้น ฟลอปปีดิสก์ที่มีความจุราว 1 เมกะไบต์ (เปรียบได้กับภาพถ่ายคุณภาพกลางๆ 1 ภาพ) จึงค่อยๆ หายไปจากความทรงจำ เหลือไว้เพียงตำนานผ่านสัญลักษณ์ ‘ปุ่มบันทึก’ ในโปรแกรมต่างๆ

ถึงแม้ฟลอปปีดิสก์จะมีสถานะเป็นแกดเจ็ตในตำนานที่ใกล้สาบสูญ หลังจากทุกบริษัทตัดสินใจหยุดการผลิตไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง หลายอุตสาหกรรมยังคงใช้งานฟลอปปีดิสก์ในการควบคุมระบบการทำงานของเครื่องจักร ทำให้หลายบริษัทต้องรับมือกับปัญหาขาดแคลนฟลอปปีดิสก์อย่างหนัก

ทำไม ‘ฟลอปปีดิสก์’ ถึงเป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ และแกดเจ็ตใหม่ๆ ไม่สามารถฆ่าตายได้? Future Trends จะพาไปสำรวจเรื่องราวความคงกระพันของฟลอปปีดิสก์ในบทความนี้

Photo by s j on Unsplash

จากสิ่งประดิษฐ์ที่ใกล้สาบสูญ สู่การเป็นผู้ชุบชีวิตในหลายอุตสาหกรรม

ฟลอปปีดิสก์ ถือเป็นหนึ่งในแกดเจ็ตสุดล้ำจากยุค ‘70s โดย IBM บริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ในยุคนั้น เป็นผู้สร้างตลาดแผ่นดิสก์ด้วย ‘IBM 23FD’ ฟลอปปีดิสก์ขนาด 8 นิ้ว เพื่อใช้กับ IBM System/370 จากนั้นทีมนักวิจัยของหลายบริษัทได้พัฒนาฟลอปปีดิสก์ให้ขนาดเล็กลงแต่ความจุมากขึ้น จนกลายเป็นฟลอปปีดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว ที่เป็นรุ่นยอดนิยมของตลาด

แม้ทีมนักวิจัยจะพยายามพัฒนาความจุของฟลอปปีดิสก์จากหน่วยกิโลไบต์เป็นเมกะไบต์ (มากกว่าเดิมถึง 1,000 เท่า) แต่ก็ไม่เพียงพอกับการใช้งานเพื่อจัดเก็บข้อมูลในยุคหลังๆ อีกต่อไป ทำให้หน้าที่ของฟลอปปีดิสก์ถูกทดแทนด้วยแกดเจ็ตใหม่ๆ ที่จัดเก็บข้อมูลได้มากกว่า และค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา

สำหรับผู้ใช้งานทั่วไป ฟลอปปีดิสก์แทบไม่มีบทบาทสำคัญในการทำงานอีกแล้ว แต่กลับตรงข้ามกับการทำงานในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเย็บปักถักร้อยและอุตสาหกรรมการบินที่ฟลอปปีดิสก์เป็นตัวกลางสำคัญในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักร

มาร์ก นีเซส (Mark Necaise) พนักงานในโรงงานปักผ้าแห่งหนึ่งกล่าวว่า เครื่องจักรในโรงงานของเขายังต้องอ่านลายปักจากฟลอปปีดิสก์เท่านั้น เพราะเป็นเครื่องจักรเก่าที่ซื้อจากญี่ปุ่นในปี 2004 ซึ่งเขากำลังกังวลเกี่ยวกับปัญหาขาดแคลนฟลอปปีดิสก์ เนื่องจากโรงงานเหลือฟลอปปีดิสก์เพียง 4 แผ่น และถ้าต้องลงทุนซื้อเครื่องจักรใหม่ อาจส่งผลกระทบกับต้นทุนการผลิตมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ฟลอปปีดิสก์ยังเป็นหัวใจสำคัญของการชุบชีวิตเครื่องบินรุ่นเก่าที่มีการใช้งานในปัจจุบัน โดยฟลอปปีดิสก์จะทำหน้าที่อัปเดตข้อมูลการเปลี่ยนแปลงเส้นทางขับเคลื่อนและการทำงานของอุปกรณ์ภายใน ทำให้วิศวกรผู้คุมเครื่องต้องพกฟลอปปีดิสก์ติดตัวอย่างน้อย 8 แผ่น

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการบินจะใช้ฟลอปปีดิสก์ไปจนถึงปี 2029 หากเครื่องบินที่ใช้งานอยู่เป็นเครื่องบินที่ผลิตในยุค ‘80s เช่นเดียวกับ Boeing 747 ที่เกิดบั๊กร้ายแรง จนต้องอัปเดตซอฟต์แวร์ผ่านฟลอปปีดิสก์เท่านั้น

การที่หลายอุตสาหกรรมยังใช้เครื่องจักรรุ่นเก่า คือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ความต้องการฟลอปปีดิสก์ในตลาดปรับตัวสูง

ทอม เพิร์สกี (Tom Persky) ชายวัย 73 ปี เจ้าของเว็บไซต์ floppydisk.com ผู้ให้บริการรีไซเคิลและขายฟลอปปีดิสก์กล่าวว่า “เขาคือคนสุดท้ายที่อยู่ในธุรกิจฟลอปปีดิสก์” ในแต่ละวัน ทอมสามารถขายแผ่นดิสก์ประมาณ 500 แผ่น เขาทราบดีว่า สักวันหนึ่งร้านของตัวเองต้องปิดตัวลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ การปรับตัวของผู้ประกอบการที่ยอมลงทุนในเครื่องจักรใหม่ๆ และการขาดแคลนสินค้าหลัก เพราะเหลือฟลอปปีดิสก์ในตลาดน้อยเต็มที

นอกจากความต้องการฟลอปปีดิสก์ของหลายอุตสาหกรรม จะเป็นภาพสะท้อนของการผลิตเครื่องจักรในยุค ‘80s ถึง ‘90s ที่ต้องคัดสรรเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในยุคนั้นมาใช้งาน ในมิติทางธุรกิจยังสะท้อนถึงแนวคิดการควบคุมต้นทุนของผู้ประกอบการที่ต้องการสร้างผลิตผลจากเครื่องจักรเดิมให้มากที่สุด ก่อนตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อขยายฐานการเติบโตทางธุรกิจของตัวเอง

Sources: http://bit.ly/3ZBy6gx

http://bit.ly/3YBqoBE

http://bit.ly/3T7lw6j

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like