LOADING

Type to search

ถึงจะเก่า แต่ยังเก๋าอยู่ ส่อง 3 แกดเจ็ต ‘Y2K’ ขวัญใจชาว ‘Gen Z’
Share

แต่งตัวแบบ Y2K ถ่ายรูปแบบ Y2K ใช้ชีวิตแบบ Y2K

ไม่ว่าจะเข้าโซเชียลมีเดียสักกี่แอปฯ ก็ต้องเห็นคำว่า ‘Y2K’ (Year 2000) ตลอด เพราะเป็นเทรนด์สุดร้อนแรงที่สะท้อนถึง ‘ความฮิป’ และ ‘ความคูล’ ในศตวรรษที่ 21 ได้อย่างดี ด้วยความที่ Y2K คือยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านมาสู่ปี 2000 รวมถึงเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มมองไปที่ ‘อนาคต’ เพราะกลัวว่าระบบคอมพิวเตอร์จะเกิดบั๊กจากการประมวลผลด้วยเลขปี 2000 ทำให้สไตล์ของ Y2K มีการผสมผสานความเป็นอนาคตอย่างลงตัว และยังไม่ล้าสมัยแม้จะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน

สิ่งที่ทำให้ลมอันเงียบสงบของ Y2K กลับมาพัดหวนจนกลายเป็นเทรนด์ใหญ่อีกครั้งคือ ‘พลังของ Gen Z’ เพราะชาว Gen Z มีพื้นฐานเป็นคนชอบแสดงออกและกล้าลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้น พวกเขาจึงเปิดใจให้กับ Y2K และเริ่มสรรหาไอเท็มสไตล์ Y2K มาสวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นชุดวอร์มกำมะหยี่ เครื่องประดับแวววาว และกางเกงยีนส์เอวต่ำ จนเกิดแฮชแท็ก #y2kaesthetic ที่เหล่าวัยรุ่นมาแบ่งปันสไตล์การแต่งตัวของตัวเองบน TikTok

แต่ความนิยมสไตล์ Y2K ไม่ได้จบลงแค่ในวงการแฟชั่น เพราะชาว Gen Z เริ่มสรรหาแกดเจ็ตยุค Y2K มาใช้งานอย่างจริงจัง ซึ่งชาว Gen Z บางส่วนถึงกับบอกว่า ชื่นชอบแกดเจ็ตยุค Y2K มากกว่าแกดเจ็ตที่ใช้ในปัจจุบันด้วยซ้ำ

แล้วแกดเจ็ตยุค Y2K ที่ชาว Gen Z ออกตามหาจนกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งมีอะไรบ้าง? Future Trends จะพาไปสำรวจพร้อมๆ กัน ไม่แน่ว่า บทความนี้อาจทำให้ผู้ใหญ่ที่เคยใช้แกดเจ็ตเหล่านี้หวนนึกถึงเรื่องราวในอดีตและความทรงจำช่วงวัยรุ่นของตัวเองด้วย

90s-phone

โทรศัพท์ฝาพับ – โทรศัพท์ปุ่มกด – โทรศัพท์สไลด์

โทรศัพท์เครื่องแรกในชีวิตของวัยรุ่นยุค 90 หลายคน คงหนีไม่พ้นหนึ่งในสามประเภทที่เรากำลังพูดถึง เพราะเป็นโทรศัพท์ดีไซน์กิ๊บเก๋ที่เริ่มมีฟังก์ชันหลากหลาย ขนาดเล็ก และพกพาสะดวก อีกทั้งยังเป็นไอเท็มแห่งความทรงจำที่มีเรื่องราวในอดีตผูกติดอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นที่ห้อยโทรศัพท์ สติกเกอร์ตกแต่ง และเกมงูในตำนานของ Nokia

แต่เมื่อโทรศัพท์ไร้ปุ่มหรือสมาร์ตโฟนที่เราคุ้นเคยและใช้งานกันทั่วไปในปัจจุบันถือกำเนิดขึ้น กาลอวสานของโทรศัพท์ทั้งสามประเภทก็มาถึง และต้องออกจากตลาดไปตามกาลเวลา ก่อนที่พลังของชาว Gen Z จะทำให้โทรศัพท์เหล่านี้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในปี 2022

แซมมี่ พาลาซโซโล (Sammy Palazzolo) นักศึกษาวัย 18 ปี จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ (University of Illinois Urbana-Champaign) ตัดสินใจใช้โทรศัพท์ฝาพับเวลาที่ออกไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ แทนสมาร์ตโฟนที่มีอยู่ เพราะเธอรู้สึกว่า ความวินเทจของโทรศัพท์ฝาพับสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่ทำให้เธอได้รู้จักคนใหม่ๆ จากการไปปาร์ตี้แต่ละครั้ง

นอกจากนี้ แซมมี่ยังเป็น TikToker ที่ปลุกกระแสความนิยมของโทรศัพท์ฝาพับผ่านแฮชแท็ก #BRINGBACKFLIPPHONES ซึ่งวีดิโอของเธอมียอดรับชมมากกว่า 14 ล้านครั้ง เธอให้เหตุผลว่า โทรศัพท์ฝาพับช่วยให้จดจ่อกับสถานการณ์ตรงหน้าได้ดีขึ้น และยังสามารถพาเธอออกจากโลกโซเชียลอันแสนโหดร้ายได้อีกด้วย

ความเป็นพิษของโลกโซเชียลไม่ได้มีผลกับแซมมี่เพียงคนเดียว แต่ยังมีชาว Gen Z อีกหลายคนที่หันมาใช้โทรศัพท์ยุค 90 ด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน

digital-camera

กล้องดิจิทัลแบบ Point & Shoot

ต้องยอมรับว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่เติบโตท่ามกลางความเพียบพร้อมทางเทคโนโลยี แกดเจ็ตหลายอย่างเป็นระบบดิจิทัลที่สามารถประมวลผลได้ในพริบตา โดยเฉพาะกล้องถ่ายรูปคุณภาพสูงที่กลายเป็นฟังก์ชันพื้นฐานของสมาร์ตโฟนทุกเครื่องไปแล้ว

แต่การที่ทุกคนสามารถหยิบสมาร์ตโฟนมาถ่ายรูปได้ทุกเมื่อ อาจทำให้บางคนต้องการสร้างความสนุกและสีสันการเล่าเรื่องผ่านรูปถ่ายด้วยอุปกรณ์ที่ต่างออกไป

แอนโทนี ทาบาเรซ (Anthony Tabarez) นักศึกษาวัย 18 ปี เป็นคนหนึ่งที่นำกล้องดิจิทัลของคุณแม่มาใช้ถ่ายรูปเพื่อนๆ และบรรยากาศในงานพรอม เพราะต้องการสร้างความตื่นเต้นผ่านการถ่ายรูปโดยใช้อุปกรณ์ชนิดอื่นนอกจากสมาร์ตโฟนที่เขาคุ้นเคย จนในที่สุด Olympus FE-230 กล้องดิจิทัลสีเงินที่คุณแม่เคยใช้ได้กลายเป็นกล้องคู่ใจของเขาไปโดยปริยาย

และไม่ได้มีแอนโทนีเพียงคนเดียวที่หันมาใช้กล้องดิจิทัลในการถ่ายรูป เพราะชาว Gen Z อีกมากมายต่างพากันมาอวดผลงานรูปถ่ายจากกล้องดิจิทัลของตัวเองบน TikTok และ Instagram ผ่านแฮชแท็ก #digitalcamera ที่มียอดรับชมบน TikTok มากกว่า 184 ล้านครั้ง

การที่ชาว Gen Z หลายคนเปิดใจให้กับกล้องดิจิทัลไม่ได้เป็นผลมาจากเทรนด์ Y2K เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยจากอิทธิพลของคนดังอย่างไคลี่ เจนเนอร์ (Kylie Jenner) และเบลลา ฮาดิด (Bella Hadid) ที่โพสต์รูปถ่ายในสไตล์ของยุค 2000 ตอนต้นผ่าน Instagram ส่วนตัว รวมถึงเป็นความต้องการของชาว Gen Z ที่จะพักชีวิตอันแสนวุ่นวายในโลกโซเชียล และออกไปทำงานอดิเรกตามที่หัวใจเรียกร้อง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการถ่ายรูปด้วยกล้องดิจิทัลที่อยู่ในกรุของพ่อแม่นั่นเอง

เครื่องเล่นซีดีแบบพกพา (Portable CD Player) และหูฟังมีสาย

ถึงแม้หูฟังไร้สายจะเป็นแกดเจ็ตที่ได้รับความนิยม เพราะสามารถทำลายข้อจำกัดของหูฟังมีสาย ด้วยความสามารถในการเชื่อมต่อระยะไกลและดีไซน์สุดคูลที่ช่วยเสริมภาพลักษณ์ของผู้ใช้งาน แต่ปัจจัยเหล่านี้ กลับไม่ได้ทำให้หูฟังมีสายเสื่อมคลายมนต์เสน่ห์เลยแม้แต่น้อย

ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลจากคนดังอย่างเบลลา ฮาดิด และเจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ที่ใช้หูฟังมีสายออกสื่อ ความขบถต่อกระแสนิยมของ Gen Z พลังแห่ง Y2K และราคาที่ถูกกว่าหูฟังไร้สาย ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้ชาว Gen Z หลายคนเลือกใช้หูฟังมีสาย เพื่อแสดงตัวตนและแนวคิดผ่านการเป็นไอเท็มแฟชั่นชิ้นหนึ่งนอกเหนือจากการใช้งานทั่วไป

และเมื่อเราพูดถึงหูฟังมีสาย ความทรงจำของหลายคนอาจเชื่อมต่อกับอีกหนึ่งแกดเจ็ตที่ใช้คู่กันโดยอัตโนมัติ นั่นคือเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาที่วัยรุ่นยุค 90 ต้องพกติดตัวตลอดเวลาพร้อมกับหูฟังคู่ใจของตัวเอง

แต่หลังจากการกำเนิดของ iPod และการเข้ามาครองตลาดของแอปสตรีมมิง ซีดีก็มีความสำคัญต่อการออกผลงานของศิลปินน้อยลง ศิลปินหลายคนเลือกที่จะออกผลงานในรูปแบบซิงเกิลแทนอัลบั้ม เพื่อปรับตัวตามเทรนด์ของตลาดและพฤติกรรมการฟังเพลงที่เปลี่ยนไป จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ความนิยมของซีดีจะลดลงไปตามกาลเวลา ซึ่งประเด็นนี้กลายเป็นโดมิโนตัวแรกที่ทำให้ทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องล้มทับไปตามๆ กัน และเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาก็เป็นหนึ่งในโดมิโนที่ล้มลงจากความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมดนตรี

แต่พลังแห่ง Y2K และการหวนนึกถึงเรื่องราวในอดีต (Nostalgia) ทำให้ซีดีกลับมามีบทบาทในวงการเพลงอีกครั้ง โดยข้อมูลจาก RIAA ระบุว่า ยอดขายซีดีในปี 2021 เท่ากับ 46.6 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าสูงสุดในรอบ 20 ปี

ซึ่งการเติบโตของอุตสาหกรรมซีดี อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นให้หลายคนตัดสินใจสะสมเครื่องเล่นซีดียุคเก่าด้วย เช่น แซม ฮีนีย์ (Sam Heeney) ยูทูบเบอร์ Gen Z ได้แสดงความประทับใจต่อเครื่องเล่นซีดีแบบพกพาดีไซน์สุดน่ารักที่เธอซื้อมาจาก Facebook Marketplace ในราคา 6 ปอนด์ ผ่านวีดิโอที่เผยแพร่ในช่องของเธอ เป็นต้น

Source: http://bit.ly/3Xk3IpD

http://bit.ly/3XzNCbk

http://bit.ly/3ZA9Z1Y

http://bit.ly/3krGgbG

https://bit.ly/3WknVu0

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like