LOADING

Type to search

หยุดเป็นคนขี้ลังเล แล้วตัดสินใจให้เด็ดขาด ด้วยเทคนิค ‘DARE’ จาก McKinsey
Share

เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆ ในการทำงาน คุณจะทำอย่างไร?

ก. ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา

ข. ประวิงเวลาเอาไว้จนถึงที่สุด

ค. ยกให้เป็นเรื่องที่คนอื่นต้องตัดสินใจ

ในมุมของลูกทีมหรือพนักงานระดับปฏิบัติการ ถ้าหัวหน้าของตัวเองอยู่ในข้อ ก. การทำงานทุกอย่างคงเป็นไปอย่างราบรื่น ปัญหาทุกอย่างจะจัดการได้อย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่า เป็นการทำงานที่หลายคนใฝ่ฝัน แต่ถ้าหัวหน้าอยู่ในข้อ ข. ทุกอย่างคงกลับตาลปัตรจากข้อ ก. ทั้งหมด

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ถ้าหัวหน้าอยู่ในข้อ ค. คงเป็นฝันร้ายของคนทำงาน นอกจากหัวหน้าจะไม่สามารถช่วยเหลือได้แล้ว ยังยกภาระทั้งหมดมาทิ้งไว้ที่ลูกทีมอีก ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ จะทำให้ลูกทีมหมดศรัทธาในตัวหัวหน้า เกิดเป็นความสัมพันธ์ที่ระหองระแหงของทีม

หัวหน้าบางคนอาจจะคิดว่า ปัญหาการตัดสินใจล่าช้าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มองข้ามไปได้ เพราะต้องการให้ทุกการตัดสินใจเป็นไปอย่างรอบคอบเช่นเดียวกับสุภาษิตไทยที่ว่า ‘ช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม’ แต่ในความเป็นจริง ยิ่งประวิงเวลาในการตัดสินใจมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การทำงานของทีมล่าช้ามากขึ้นเท่านั้น

ผลสำรวจความเห็นของพนักงานระดับหัวหน้าจำนวน 2,700 คน จาก Navalent องค์กรที่ปรึกษาด้านการทำงานในสหรัฐฯ ระบุว่า พนักงานถึง 57 เปอร์เซ็นต์ ประสบปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจเรื่องยากๆ ทำให้พยายามหลีกเลี่ยงและประวิงเวลาในการตัดสินใจอยู่เรื่อยๆ

ซึ่งตัวเลข 57 เปอร์เซ็นต์จากผลสำรวจ ไม่ได้สะท้อนแค่ว่าหัวหน้าจำนวน 1,539 คนกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงการที่พนักงานระดับปฏิบัติการจำนวนมาก ต้องทำงานอย่างยากลำบากจากความลังเลของหัวหน้าอีกด้วย

หากคิดคร่าวๆ โดยอ้างอิงตัวเลขจากผลสำรวจว่า หัวหน้า 1 คน ดูแลลูกทีม 5 คน เท่ากับต้องมีพนักงานจำนวน 7,695 คนที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์การทำงานเช่นนี้เลยทีเดียว

Making Decision
Image by rawpixel.com on Freepik

แล้วหัวหน้าที่รู้สึกว่าตัวเองมีปัญหาเกี่ยวกับการตัดสินใจ จะมีวิธีการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้อย่างไรบ้าง?

จริงๆ แล้วมีเฟรมเวิร์ก (Framework) การทำงานที่สามารถช่วยพัฒนาทักษะการตัดสินใจอยู่มากมาย แต่เทคนิคที่เรานำมาฝากกันในวันนี้มีชื่อว่า ‘DARE’ เฟรมเวิร์กการทำงานแบบใหม่จาก McKinsey องค์กรที่ปรึกษาระดับโลก

DARE เป็นเทคนิคการตัดสินใจที่เน้นวางบทบาทของ ‘คนทำงาน’ ซึ่งการวางบทบาทของลูกทีมแต่ละคนให้ชัดเจนตั้งแต่แรก จะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระการตัดสินใจของหัวหน้าได้ และเทคนิคการทำงานแบบ DARE สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

D : Decider หรือ ‘นักตัดสินใจ’

นักตัดสินใจ จะมีบทบาทในการกำหนดทิศทางการทำงานของทีม และเชื่อมโยงความเห็นของทีมให้เป็นข้อสรุปเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งบทบาทนี้จะเป็นไปของใครไปไม่ได้ นอกจาก ‘หัวหน้าทีม’

การที่หัวหน้าวางบทบาทนักตัดสินใจให้ตัวเองอย่างชัดเจน จะเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนใจว่า “ถ้าเราที่เป็นศูนย์กลางการทำงานของทีมไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ การทำงานส่วนที่เหลือจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย”

A : Advisor หรือ ‘ที่ปรึกษา’

ที่ปรึกษา จะมีบทบาทคอยสนับสนุนการตัดสินใจของหัวหน้า อาจจะเป็นคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่าก็ได้

จริงๆ แล้วการที่หัวหน้าไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้อย่างเฉียบขาด อาจจะมีสาเหตุจากการขาดประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ ด้วย ซึ่งการขอคำปรึกษาจากผู้รู้จะช่วยให้หัวหน้าได้ไอเดียใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการตัดสินใจให้เฉียบคมขึ้น

R : Recommender หรือ ‘ผู้ให้คำแนะนำ’

ผู้ให้คำแนะนำ จะมีบทบาทเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจ อาจจะเป็นฝ่ายที่คอยเก็บรวบรวมข้อมูลมาให้หัวหน้า เพื่อประกอบการตัดสินใจและกำหนดทิศทางการทำงานในแต่ละครั้ง หรือลูกทีมของหัวหน้าก็สามารถเป็นผู้ให้คำแนะนำได้เช่นกัน เพราะพวกเขาจะมีไอเดียใหม่ๆ ที่บางทีหัวหน้าอาจจะมองข้ามไปได้

E : Execution Stakeholder หรือ ‘คนที่ต้องรับผิดชอบ’

คนที่ต้องรับผิดชอบ หมายถึงลูกทีมแต่ละคนของหัวหน้านั่นเอง การมอบหมายงานบางส่วนให้ทีมตัดสินใจได้เลย จะช่วยแบ่งเบาภาระของหัวหน้าได้มากขึ้น

บางทีสาเหตุของการประวิงเวลาในการตัดสินใจ อาจจะมาจาก ‘Micromanagement’ หรือการบริหารงานในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเรื่องเล็กๆ น้อยๆ หรือเรื่องที่สำคัญ หัวหน้าจะขอเข้าไปยุ่งด้วยหมด แต่เมื่อต้องการให้แก้ไข กลับให้คำตอบไม่ได้ว่าควรแก้ส่วนใด ก็ยิ่งทำให้การทำงานล่าช้ากว่าเดิม

สำหรับใครที่ต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการทำงานบ่อยๆ ลองนำเทคนิค DARE ไปปรับใช้กับการทำงานของตัวเองกันดู เมื่อเปลี่ยนวิธีการโฟกัสมาอยู่ที่บทบาทคนทำงานแทนสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังการตัดสินใจ ก็อาจจะทำให้การทำงานของหัวหน้าง่ายขึ้นด้วย

Sources: https://mck.co/3rB2tUU

https://mck.co/3V57XEW

https://bit.ly/3C7BYv4

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1