LOADING

Type to search

เมื่อความห่วงใยกลายเป็นการ ‘Micromanagement’ หัวหน้าที่ดีจะช่วยทีมยังไงไม่ให้จู้จี้เกินไป

เมื่อความห่วงใยกลายเป็นการ ‘Micromanagement’ หัวหน้าที่ดีจะช่วยทีมยังไงไม่ให้จู้จี้เกินไป
Share

นอกจากจะต้องบริหารงานให้ออกมามีประสิทธิภาพแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ท้าทายของหัวหน้าก็คือ ‘การบริหารคนให้อยู่หมัด’ ตั้งแต่ทีมไฟแรง อายุน้อยไปจนถึงรุ่นราวคราวเดียวกับพ่อ-แม่ จริงๆ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะห่วงใย กลัวว่างานจะเกิดปัญหา หรือทีมจะเจออุปสรรค บวกกับการเคยยืนในจุดนั้นมาก่อน ทำให้บางครั้งความอยากยื่นมือเข้าไปช่วยที่ ‘มากเกินไป’ กลายเป็นการ ‘Micromanagement’ โดยไม่รู้ตัว ถึงแม้ลึกๆ แล้ว เราในฐานะหัวหน้า ‘ก็แค่หวังดี’ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า อาจเกิดช่องว่างความรู้สึกถูกจู้จี้ และความวุ่นวายในจิตใจของทีมขึ้นได้

แล้วเราจะยื่นมือเข้าไปช่วยทีมยังไงให้สบายใจทั้ง 2 ฝ่าย ไม่น่ารำคาญ และไม่จู้จี้จนเกินไป? ในบทความนี้ Future Trends จะมาแนะนำ 3 วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณช่วยทีมได้โดยไม่ทำลายความรู้สึกของพวกเขากัน

1. ปล่อยวาง ทบทวนตัวเองว่า ‘เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือ’
กลับมาทบทวนบทบาทของจุดที่ยืนอยู่ ใช่! ตอนนี้คุณเป็นหัวหน้า มีหน้าที่คุมทุกอย่าง แต่สุดท้ายแล้ว ไม่ว่างานชิ้นนั้นจะโหดหิน ดูเหนือบ่ากว่าศักยภาพของทีมมากแค่ไหน ก็ต้องไม่ลืมว่า หน้าที่ของคุณเป็นเพียงการคุมภาพรวม และติดตามผล ไม่ต้องลงไปทำแทนทั้งหมด ไว้ใจทีมบ้าง บอกให้พวกเขารู้ว่า ไม่ว่าจะยังไง เวลาหันหลังมา ‘พวกคุณจะมีฉันอยู่ตรงนี้เสมอ!’ หรือสรุปเป็นภาษาบ้านๆ ว่า ‘คอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ’ นั่นเอง

2. ยื่นมือเข้าไปช่วย ‘ต่อเมื่อทีมอยากได้’
การช่วยที่มากเกินไปทำให้เกิดความน่ารำคาญ ในทางกลับกัน การโยนลงทะเล ไม่แยแส ปล่อยให้ทีมร้องเพลง I will survive วนไปก็เป็นเรื่องที่ใจร้ายไปหน่อย เพราะทุกอย่างต้องมี ‘ตรงกลาง’ ของมัน มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดีเช่นกัน

แนะนำว่า ให้ลองถามความเป็นไปของทีมเรื่อยๆ โดยก็อาจจะยังไม่ต้องเข้าไปช่วยทันที และไม่ถึงขั้นบอกว่า “ถ้ามีปัญหาอะไรก็บอกนะ” เพราะก็ดูจะเป็นการ ‘ผลักภาระ’ ความรับผิดชอบไปให้ทีมซะมากกว่า ก่อนหน้านี้ Future Trends เคยพูดถึงประเด็นนี้ไป ถ้าใครสนใจลองเข้าไปอ่านกันได้นะคะ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : https://www.facebook.com/futuretrends.th/posts/1630033507363088) ฝึกถามบ่อยๆ โดยไม่ต้องรอให้ทีมมาบอก ยื่นมือเข้าไปช่วยก็ต่อเมื่อพวกเขา ‘อยากได้รับ’ ใน ‘ช่วงเวลาที่เหมาะสม’ ไม่ล้ำเส้น ไม่ก้าวก่าย และเคารพซึ่งกันและกัน

3. จับจังหวะการเข้าไปช่วยให้เป็น
หยุดพฤติกรรมการเป็นทุกอย่างให้เธอได้แล้ว ลองให้อิสระกับทีมดู ลิมิตตัวเองเอาไว้ข้างนอกวงการทำงาน ฝึกสังเกตว่า พวกเขามักต้องการความช่วยเหลือช่วงไหน แล้วเราพอจะช่วยอะไรได้บ้าง? ทั้งนี้ก็ไม่ได้ฟิคตายตัวว่า จะต้องถี่แค่ไหน? หากแต่เป็นการขึ้นอยู่กับความต้องการของทีมแต่ละคนแทน ซึ่งก็เป็นได้หมด ทั้งคำแนะนำระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม

ความห่วงใยเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าห่วงในงานของคนอื่นมากไป ก็จะกลายเป็นการ ‘ล้ำเส้น’ และทำให้ผลลัพธ์เลวร้ายยิ่งกว่าการไม่ทำอะไรเลย เอาเป็นว่า คุณช่วยได้แหละ แต่เท่าที่จำเป็นก็พอ ไม่งั้นอาจจะเข้าทำนองลูกน้องวุ่นวายกับเจ้านายจู้จี้ก็เป็นได้…

Source: https://bit.ly/3JWqlJo

Tags::
Chompoonut Suwannochin

อดีตเด็กฝึกงาน และ Content Creator ประจำเพจ Future Trends จบเอก Creative และการจัดการวัฒนธรรมจากรั้วเหลืองแดง ชอบฟังเพลงเป็นชีวิตจิตใจ มี ‘Sarah Salola กับ Jixgo’ เป็นศิลปินคนโปรด เวลาว่างชอบชุบชูใจด้วยการกิน และการไปติ่ง

  • 1

You Might also Like