LOADING

Type to search

Coachella – WATERBOMB – Rolling Loud ว่าด้วยบทบาทของ ‘คอนเสิร์ต’ ที่ทำให้ ‘ความเจริญ’ กระจายไปทุกหย่อมหญ้า

Coachella – WATERBOMB – Rolling Loud ว่าด้วยบทบาทของ ‘คอนเสิร์ต’ ที่ทำให้ ‘ความเจริญ’ กระจายไปทุกหย่อมหญ้า
Share

ดูเหมือนว่า อานุภาพของ ‘พระโคกินบัตรคอนเสิร์ต’ ในปี 2022 จะลากยาวมาถึงปี 2023 นอกจากจำนวนศิลปินที่ตบเท้าเข้ามาจัดคอนเสิร์ตในไทยจะไม่ลดลงแล้ว ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีการจัดคอนเสิร์ตไปแล้วมากกว่า 200 ครั้ง ในเวลาเพียง 1 ปีก็ตาม

ยิ่งช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา มีการจัดคอนเสิร์ตมากมายหลายรูปแบบ โดยไฮไลต์ที่เป็นไวรัลในโลกออนไลน์อย่าง ‘WATERBOMB BANGKOK 2023’ เฟสติวัลใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ และ ‘Rolling Loud Thailand 2023’ เฟสติวัลสุดร้อนแรงกลางเมืองพัทยา

อีกทั้งในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ฝั่งตะวันตกก็มี ‘Coachella’ งานดนตรีระดับโลกที่มี ‘Headliner’ หรือวงหลักของงานเป็นศิลปินชื่อดังมากมาย และมี ‘BLACKPINK’ เกิร์ลกรุ๊ปสัญชาติเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในนั้นด้วย

การที่ซีกโลกตะวันตกและตะวันออกพากันจัดคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่ สะท้อนให้เห็นถึง ‘การปลดแอก’ ตัวเองจากโควิด-19 และ ‘การล้างแค้น’ ให้กับวิถีชีวิตที่ผิดจากการเป็น ‘สัตว์สังคม’ ที่ต้องขับเคลื่อนความสุขด้วยการมี ‘ดนตรี’ ในหัวใจ

แต่นอกจากประเด็นเหล่านี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยมี ‘คอนเสิร์ต’ เป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะไม่ว่า คอนเสิร์ตจะไปตั้งที่แห่งหนใด จะเปรียบเสมือนเม็ดเงินที่โปรยปรายในพื้นที่นั้นเสมอ ทำให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้ามองว่า นี่คือโอกาสทองในการสร้างรายได้ของตัวเอง

กลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแผ่ขยายความเจริญโดยมี ‘คอนเสิร์ต’ เป็นศูนย์กลางมีลักษณะอย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจในประเด็นต่างๆ พร้อมๆ กัน

Concert
Image by Drazen Zigic on Freepik

‘คอนเสิร์ต’ ไม่ใช่แค่ความอยู่รอดของ ‘วงการเพลง’ แต่เป็นความอยู่รอดของ ‘ปากท้อง’ ด้วย

แม้หลายคนจะมองว่า การไปคอนเสิร์ตไม่ใช่กิจกรรมที่ต้องใช้เงินอะไรมากมาย แค่ลงทุนกับที่นั่งที่พึงพอใจก็พอแล้ว แต่ในความเป็นจริง คอนเสิร์ตกลับเป็นสถานที่ที่มีค่าใช้จ่ายแอบแฝงอยู่มากมาย และหากประเมินมูลค่าออกมาเป็นตัวเลข อาจจะเทียบเท่าการไปทริปต่างจังหวัด 3 วัน 2 คืนก็เป็นได้

โดยค่าใช้จ่ายแอบแฝงที่มาพร้อมกับการไปคอนเสิร์ต จะมาในรูปแบบของค่ารถโดยสารไป-กลับ ค่าที่พักสำหรับคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด  ค่าอาหารแต่ละมื้อ ค่าของที่ระลึก และค่าใช้จ่ายจิปาถะอีกมากมาย เมื่อไล่เรียงค่าใช้จ่ายเหล่านี้อย่างละเอียด อาจจะมีมูลค่าเท่ากับบัตรคอนเสิร์ต 1-2 ใบเลยทีเดียว

ข้อมูลจาก Oxford Economics และ Munich Personal RePEc Archive (MPRA) ชี้ตรงกันว่า คอนเสิร์ตมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ โดยในปี 2019 ธุรกิจคอนเสิร์ตสามารถสร้างรายได้ในสหรัฐฯ มากถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะเติบโตไปพร้อมๆ กันแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 9 แสนตำแหน่งอีกด้วย

ดังนั้น ยิ่งความต้องการในการจัดคอนเสิร์ตมากขึ้น ตัวเลขรายได้ในปี 2022 และ 2023 น่าจะมีแนวโน้มมากกว่าปี 2019 อย่างเห็นได้ชัด

Coachella เป็นตัวอย่างของคอนเสิร์ตที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างดี ข้อมูลในปี 2022 ระบุว่า มีผู้เข้าร่วมประมาณ 750,000 คน ราคาบัตรเริ่มต้นที่ 15,000 บาท เมื่อบวกลบคูณหารรายได้ของการจัดคอนเสิร์ต 1 ครั้ง คงไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นล้านบาทแน่นอน และยังทำให้เมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่เป็นสถานที่จัดงานเติบโต พร้อมทั้งได้รับอานิสงส์จากเม็ดเงินของผู้เข้าชมคอนเสิร์ต จนกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีอัตราการก่อสร้างเชิงพาณิชย์และการเริ่มต้นธุรกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีการคาดการณ์ว่า ในปี 2025 จะมีผู้อยู่อาศัยใหม่ย้ายเข้ามาในเมืองอินดิโออีกประมาณ 30,000 คน

Concert
Image by rawpixel.com on Freepik

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย ‘คอนเสิร์ต’ ในมุมของ ‘แฟนคลับ’

“คอนเสิร์ต คือตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบสุดๆ”

‘มาย’ หญิงสาววัย 24 ปี ผู้หลงใหลวัฒนธรรม K-POP และมีประสบการณ์ชมคอนเสิร์ตทั้งในและต่างประเทศ เล่าให้ Future Trends ฟังเกี่ยวกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในฐานะ ‘ผู้ชมคอนเสิร์ต’ ที่มีหลากหลายมิติมากกว่าการซื้อบัตรคอนเสิร์ต เพื่อชมการแสดงของศิลปินคนโปรด

มายเริ่มไล่เรียงให้เราฟังตั้งแต่ขั้นตอนการกดบัตรที่นอกจากจะต้องแย่งชิงที่นั่งจำนวนน้อยนิดแล้ว ยังมีธุรกิจรับกดบัตรเข้ามาเติมเต็มความต้องการของแฟนคลับ รายได้ของธุรกิจประเภทนี้ คือค่าบริการที่บวกเพิ่มจากราคาบัตรคอนเสิร์ต หรือที่เรียกกันว่า ‘ค่ากดบัตร’ ยิ่งร้านไหนมีลูกค้าการันตี ‘ฝีมือ’ ในการช่วงชิงบัตรคอนเสิร์ต ‘แถวหน้า’ ยิ่งสามารถกำหนดค่าบริการได้สูงขึ้น

เมื่อได้บัตรคอนเสิร์ตตามที่ต้องการ ก็มาถึงการวางแผนเพื่อเตรียมตัวไปคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะจองที่พัก จัดหารถรับส่ง และจัดเตรียมอุปกรณ์เชียร์ โดยเฉพาะ ‘แท่งไฟ’ ประจำวงที่มายบอกว่า “ของมันต้องมี” เพราะถ้าไม่มีจะ ‘เหงา’ มาก ยิ่งแฟนคลับคนอื่นใช้แท่งไฟเวอร์ชันล่าสุดที่มีลูกเล่นในการเชียร์มากขึ้น ยิ่งกระตุ้นให้เกิดความต้องการในตลาด ถือเป็น ‘อุปสงค์’ (Demand) ที่ไม่มีจุดสิ้นสุดสำหรับธุรกิจคอนเสิร์ต

นอกจากนี้ มายยังยกตัวอย่างวิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ที่เกิดมาเพื่อเติมเต็มความต้องการของแฟนคลับ เช่น ธุรกิจเช่ามือถือที่กำลังเติบโตบน Twitter, ธุรกิจรับฝากของ, โรงพิมพ์ขนาดเล็กสร้างรายได้จากวัฒนธรรมแจกของหน้าคอนเสิร์ต, ตลาดหน้าคอนเสิร์ตที่ต้องมีร้าน ‘ต็อกบกกี’ เจ้าประจำเดินสายไปทุกงาน เป็นต้น

ช่วงท้ายของการพูดคุย มายยังเปรียบเทียบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคอนเสิร์ตในไทยและเกาหลีใต้ให้เราฟัง แม้ภาพรวมจะมีส่วนที่คล้ายคลึงกันหลายมิติ และต่างกันตามความต้องการของตลาดบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ บริเวณโดยรอบของพื้นที่จัดคอนเสิร์ตในไทย จะเต็มไปด้วยโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์การค้า เพื่อแก้ปัญหาด้านการเดินทางที่เป็น ‘บั๊ก’ ขนาดใหญ่ของไทย ตรงข้ามกับเกาหลีใต้ที่พื้นที่จัดคอนเสิร์ตอยู่ติดสถานีรถไฟฟ้า ทำให้เดินทางสะดวกและไม่จำเป็นต้องมีที่พักตั้งอยู่ในละแวกนั้น

จะเห็นว่า บริบทของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยมีคอนเสิร์ตเป็นศูนย์กลางเกี่ยวข้องกับโครงสร้างผังเมืองและปัจจัยทางกายภาพของแต่ละประเทศด้วย

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คอนเสิร์ตเป็นธุรกิจชิ้นโบว์แดงที่สร้างรายได้ให้วงการเพลงเป็นกอบเป็นกำ และในขณะเดียวกันก็เป็นฟันเฟืองชิ้นสำคัญที่ทำให้ ‘ผลผลิต’ ในอุตสาหกรรมอื่นเติบโต และมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย

แต่เมื่อพูดกันอย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่ทำให้เกิดขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและแผ่ขยายความเจริญอย่างแท้จริงไม่ใช่การจัดคอนเสิร์ตตามที่ต่างๆ กลับเป็นความต้องการของ ‘เรา’ ในฐานะผู้ชมคอนเสิร์ตต่างหากที่ผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้น

Sources: https://bit.ly/3ogdfBv

https://bit.ly/3eo4ctt.

https://bit.ly/3CZJ9rg

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1