LOADING

Type to search

แฮร์รี พอตเตอร์ – เคป๊อป – ซีรีส์ ผลผลิตจาก ‘Parasocial Relationship’ ความสัมพันธ์เงินล้านที่เกิดจาก ‘รักข้างเดียว’

แฮร์รี พอตเตอร์ – เคป๊อป – ซีรีส์ ผลผลิตจาก ‘Parasocial Relationship’ ความสัมพันธ์เงินล้านที่เกิดจาก ‘รักข้างเดียว’
Share

ทำไมเราถึงชอบ Harry Potter ขนาดที่ว่า อยากลองไปใช้ชีวิตในฮอกวอตส์ดูสักครั้ง?

ทำไม Girls’ Generation คัมแบ็กในรอบ 5 ปี ถึงทำให้เราเสียน้ำตา?

ทำไมเรื่องราวในซีรีส์ดำเนินมาถึงตอนจบ แต่ความรู้สึกของเรากลับไม่จบตาม?

Future Trends จะพาไปสำรวจว่า ทำไมความสัมพันธ์เหล่านี้ถึงมีผลต่อจิตใจ แม้เราไม่ได้ใช้ชีวิตในสังคมเดียวกัน?

ถึงแม้ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นจะต้องเกิดจากการพบปะพูดคุย แต่ในความเป็นจริง ความสัมพันธ์สามารถก่อตัวได้จากการรับรู้เรื่องราวของอีกฝ่ายโดยที่ไม่จำเป็นต้องพบกัน และเมื่อเวลาผ่านไป ความผูกพันบ่มเพาะจนสุกงอม อาจทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยากจะตัดขาดได้

ซึ่งความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เรียกว่า ‘Parasocial Relationship’ รักข้างเดียวอย่างเต็มใจ แม้เราจะไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน

จริงๆ แล้ว ‘Parasocial Relationship’ หรือ ‘ความสัมพันธ์แบบกึ่งมีส่วนร่วมทางสังคม’ ไม่ใช่คำศัพท์ใหม่ แต่เป็นแนวคิดที่มีตั้งแต่ปี 1956 โดยโดนัลด์ ฮอร์ตัน (Donald Horton) และริชาร์ด วอห์ล (Richard Wohl) ใช้อธิบายว่า เราสามารถรู้สึกอยู่ในความสัมพันธ์จริงกับบุคคลในสื่อได้ ซึ่งการที่อินกับเรื่องราวของตัวละครในซีรีส์เรื่องโปรดเสมือนเรื่องราวของคนใกล้ชิด ก็เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ในลักษณะนี้เช่นกัน

และปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ เป็นสิ่งที่ทำให้วงสังคมแบบ Parasocial Relationship ขยายขอบเขตมากกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวละครจากซีรีส์หรือนิยายที่ชื่นชอบ แต่เป็นใครสักคนที่เราติดตาม และมีเรื่องราวที่ทำให้ใจหวั่นไหวจนต้องติดตามเรื่องราวของเขาหรือเธอไปเรื่อยๆ

นอกจาก Parasocial Relationship จะเป็นความสัมพันธ์ชุบชูใจในวันที่เหนื่อยล้าได้อย่างดี ในมิติทางธุรกิจ Parasocial Relationship ก็เป็นความสัมพันธ์ทำเงินที่สามารถสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับวงการต่างๆ เช่นกัน

แล้วบทบาทของ Parasocial Relationship ที่ทำให้ภาคธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างไร? Future Trends จะพาไปสำรวจผ่าน 2 กรณีศึกษาน่าสนใจพร้อมๆ กัน

Parasocial Relationship
Image by DCStudio on Freepik

‘Harry Potter’ เรื่องราวที่ร่ายเวทมนตร์ในความทรงจำมากว่า 26 ปี

หากพูดถึงโลกเวทมนตร์ที่อยู่ในดวงใจใครหลายๆ คน คงหนีไม่พ้น ‘Harry Potter’ เรื่องราวจากปลายปากกาของ ‘เจเค โรว์ลิง’ ที่ประสบความสำเร็จมากจนทำให้ตัวละครบนหน้ากระดาษถูกปลุกให้มีชีวิตบนจอเงิน และกลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งมาจนถึงปัจจุบัน

เรื่องราวการผจญภัยของ 3 ตัวละครหลักอย่างแฮร์รี พอตเตอร์, รอน วิสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ที่มีอุปสรรคมากมาย ทำให้นักอ่านหรือผู้ชมอินตามได้ไม่ยาก และพร้อมเอาใจช่วยพวกเขาให้ผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นราวกับเป็นเพื่อนกลุ่มหนึ่ง

นอกจากนี้ การวางโครงเรื่องให้ตัวละครมีช่วงเวลาในการเติบโตจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ทำให้หลายคนที่ติดตามเรื่องราวมาตั้งแต่ต้นรู้สึกเติบโตไปพร้อมกับตัวละคร จนกลายเป็นว่า บางคนมีความฝันในวัยเด็กเป็นการรอจดหมายตอบรับเข้าเรียนที่ฮอกวอตส์ และต้องการมีเฮ็ดวิก (นกฮูกของแฮร์รี) เป็นของตัวเอง

ซึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดจากบ่มเพาะความผูกพันกับตัวละครมาอย่างยาวนาน ทำให้ Harry Potter ไม่ได้เป็นเพียงสังคมในจินตนาการ แต่ยังเป็น ‘Branding’ อันแข็งแกร่งที่สามารถสร้างรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะไม่ว่าสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับ Harry Potter จะปรากฏบนสินค้าชนิดใด ก็จะมีแฟนคลับซื้อสินค้าชนิดนั้นเป็นของสะสมเสมอ

K-POP : จาก ‘ตลาดในประเทศ’ สู่ ‘เวทีระดับโลก’

ถึงแม้ผลงานเพลงและการออกแบบองค์ประกอบศิลป์ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรม K-POP เติบโตระดับโลก แต่ไม่อาจปฏิเสธว่า ความสัมพันธ์แบบ Parasocial Relationship ระหว่าง ‘ศิลปิน’ และ ‘แฟนคลับ’ ก็เป็นส่วนสำคัญเช่นกัน

พื้นฐานของอุตสาหกรรม K-POP จะเน้นสร้างความผูกพันระหว่างศิลปินและแฟนคลับตั้งแต่ ‘Day 1’ หรือวันแรกของการเป็นศิลปินอย่างเต็มตัว เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ศิลปินจะได้รับการสนับสนุนจากแฟนคลับไปตลอดรอดฝั่ง และยิ่งต้นสังกัดใช้กลยุทธ์เปิดตัวตั้งแต่เป็น ‘เด็กฝึกหัด’ ยิ่งสร้างความผูกพันกับแฟนคลับที่เฝ้ามองการเติบโตในอนาคตได้อย่างดี

สำนักข่าว Hindustrian Times นิยามความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและแฟนคลับว่าเป็น ‘A different kind of love’ หรือ ‘ความรักที่แตกต่าง’ เพราะความผูกพันที่ก่อตัวจากการรับชมผลงานและติดตามเรื่องราวของศิลปินได้พัฒนาจนกลายเป็นความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ไม่ว่าอีก 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปีต่อจากนี้จะไม่มีวันเสื่อมคลาย

ตัวอย่างเช่น การคัมแบ็กในรอบ 5 ปี ของ Girls’ Generation เกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังของเกาหลีใต้ เพื่อเฉลิมฉลองการเดบิวต์ครบรอบ 15 ปี (คัมแบ็กปี 2022) ที่สามารถสร้างยอดขายอัลบั้มในสัปดาห์แรกของการจำหน่ายถึง 185,600 อัลบั้ม คิดเป็นสองเท่าของยอดขายอัลบั้มในสัปดาห์แรกจากการคัมแบ็กครั้งก่อนหน้าเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ซึ่งการคัมแบ็กในรอบ 5 ปี ของ Girls’ Generation สะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าศิลปินที่รักจะกลับมาออกผลงานเมื่อไร จะมีแฟนคลับคอยสนับสนุนอยู่เสมอ

จริงๆ แล้ว ความสำเร็จของ Parasocial Relationship ไม่ได้มีแค่ด้านธุรกิจหรือการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะแสดงความรักอย่างมีขอบเขตระหว่างชีวิตใน ‘หน้าจอ’ และชีวิตใน ‘ความเป็นจริง’

Sources: https://bit.ly/3QFuvdz

https://bit.ly/3D4d54Y

http://bit.ly/3QERJ3z

http://bit.ly/3iIK3AK

E-BOOK เจาะเทรนด์โลก (TREND 2023) โดย TCDC

Tags::
Witchayaporn Wongsa

อดีตนิสิตวิทยาศาสตร์ที่จับผลัดจับผลูมาเป็น Content Creator เพราะค้นหาตัวเองจนเจอสิ่งที่ใช่จากการทำกิจกรรม สนใจโลกธุรกิจและสารพันสิ่งเกี่ยวกับ 'เกาหลี' เชื่อในพลังแห่งการอ่าน (แต่หนังสือที่อ่านค้างมีมากกว่าหนังสือที่อ่านจบ)

  • 1

You Might also Like